นิเทศศาสตร์ มสธ.รุกงานวิชาการเชิงพื้นที่ เปิดเมืองตรัง สร้างรูปแบบการเรียนรู้ พร้อมขับเคลื่อนแนวคิด “ที่ไหน เวลาใด เป็นใคร ก็เรียนรู้ได้” พัฒนาศักยภาพ “คน”ก้าวสู่ “พลเมือง”รองรับโลกยุคใหม่แห่งการเปลี่ยนแปลง นำร่อง กลุ่มผู้นำท้องถิ่น-ท้องที่-นักศึกษาตรี-โท-เอก และผู้ที่สนใจ เข้าร่วมอบรมอย่างคับคั่งด้วยหลักสูตรการสื่อสารทางการเมือง ภายใต้หัวข้อ “กลยุทธ์การพูดในที่ชุมชน พูดได้ พูดดี มีคะแนนนิยม”หลักสูตรโดนใจสื่อสารสร้างการมีส่วนร่วมพัฒนาท้องถิ่น
การเรียนรู้คือชีวิตเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลาและตลอดชีวิต ช่วยทำให้บุคคลเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ความคิด ทัศนคติ และการกระทำ การเรียนรู้คือการพัฒนาตนเอง โลกยุคใหม่ในปัจจุบันยุคดิจิทัล เป็นช่วงที่ท้ายการปรับเปลี่ยนและการเรียนรู้ เพราะเป็นยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว วิทยาการด้านการสื่อสารเป็นศาสตร์และมีบทบาทต่อการทำงานที่สำคัญทุกแขนงในยุคปัจจุบัน
สาขานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชเดินหน้ารองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพทรัพยากร “คน” หรือทรัพยากรมนุษย์ด้วยองค์ความรู้ใหม่ ๆ ในด้านการสื่อสารอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มผู้นำท้องถิ่น-ท้องที่ และกลุ่มผู้ที่ให้ความสนใจการอบรมในหลักสูตรต่าง ๆ ตลอดจนการพัฒนางานวิจัยเชิงพื้นร่วมกับเครือข่ายและหน่วยงานเครือข่ายที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ชุมชนอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดกับโครงการฝึกอบรมพัฒนาศักยภาพการสื่อสารทางการเมืองสำหรับผู้นำ “กลยุทธ์การพูดในที่ชุมชน พูดได้ พูดดี มีคะแนนนิยม” รุ่นพิเศษ เป็นการบริการเชิงวิชาการ จัดให้มีขึ้นในระหว่างวันที่ 7-8 ธันวาคม 2562 ณ จังหวัดตรัง ที่ผ่านมา ได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมอบรมมาจากหลากหลายพื้นที่หลากหลายกลุ่มที่ให้ความสนใจ ทั้งกลุ่มผู้นำท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ ผู้นำชุมชน ผู้ประกอบการ นักจัดรายการวิทยุท้องถิ่น กลุ่มนักศึกษาระดับปริญญาตรี- โท- เอก ร่วม 100 ชีวิต โดยมีคณะวิทยากรทีมคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสาร สาขานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช นำโดยรศ.ดร.วิทยาธร ท่อแก้ว ที่ปรึกษาศูนย์วิจัยและพัฒนาการสื่อสารการเมืองและสังคม ในฐานะผู้อำนวยการโครงการ อาจารย์ดร.กานต์ บุญศิริ รองประธาน(รองคณบดี)ฝ่ายวิชาการสาขานิเทศศาสตร์ รศ.ดร.ณัฐฐ์วัฒน์ สุทธิโยธิน กรรมการบริหารหลักสูตรนวัตกรรมการสื่อสารทางการเมืองและการปกครองท้องถิ่น สาขาวิชานิเทศศาสตร์
“การพูดเป็นศาสตร์และศิลป์ การพูดเป็นเครื่องมือที่สำคัญของผู้นำทุกระดับ การพูดได้ไม่สำคัญเท่ากับการพูดเป็น การพูดเป็นของผู้นำจะต้องมีการวางแผนโครงสร้างการพูด เลือกเนื้อหาที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย ลำดับการถ่ายทอดได้อย่าง น่าสนใจ เข้าใจ กินใจและได้ผล ด้วยบุคลิกภาพการปรากฏตัวที่ดี ควบคุมกริยาอาการได้ดี มีความมั่นใจในการสร้างพลังเสียงในการพูด นี่คือเทคนิคสำคัญที่ผู้นำต้องเรียนรู้อย่างลึกซึ้ง มีความเข้าใจและฝึกฝนอย่างถูกวิธี จึงจะทำให้ผู้นำมีความสามารถในการสื่อสารด้วยการพูดต่อที่สาธารณชนได้” รศ.ดร.วิทยาธร ท่อแก้ว วิทยากร ผู้อำนวยการโครงการ และในฐานะประธานหลักสูตรนวัตกรรมการสื่อสารทางการเมืองและการปกครองท้องถิ่น ที่ปรึกษาศูนย์วิจัยและพัฒนาการสื่อสารการเมืองและสังคม มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
รศ.ดร.วิทยาธรย้ำว่า การสื่อสารเป็นศาสตร์ที่มีบทบาทอย่างมากในยุคปัจจุบันและการทำงานทุกแขนง ไม่ว่าจะเป็นด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ชุมชน คุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม ต้องมีการบริหารจัดการที่ดีสร้างความรู้ความเข้าใจ สำหรับผู้นำองค์กรของภาครัฐที่เป็นส่วนราชการต่าง ๆ ผู้นำองค์กรกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำองค์กรภาคธุรกิจ ผู้นำชุมชน และประชาชนที่สนใจ ซึ่งเป็นบุคลากรหลักที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาศักยภาพตนเอง และองค์กรไปสู่การบรรลุสัมฤทธิ์ผลตามภารกิจที่มุ่งหวัง การเพิ่มพูนความรู้ ทักษะ และสบการณ์รองรับความเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็นจะต้องมีการปรับเปลี่ยนเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา
อาจารย์ ดร.กานต์ บุญศิริ วิทยากร และในฐานะรองประธาน(รองคณบดี)ฝ่ายวิชาการสาขานิเทศศาสตร์ กล่าวว่าการเรียนรู้ยุคใหม่ต้องมีการปรับเปลี่ยน มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มุ่งเน้นสร้างโอกาสการเรียนรู้ด้วยหลักสูตรที่ตอบสนองผู้เรียน เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ได้ การอบรมรุ่นพิเศษครั้งนี้เหมาะสำหรับผู้นำยุคใหม่ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ส่วนท้องที่ พนักงานส่วนท้องถิ่น ตลอดจน ผู้บริหารองค์การส่วนท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ เป็นสถาบันที่มีความสำคัญต่อบ้านเมือง ในฐานะที่เป็นกลไกในการดูแลรับผิดชอบสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต การให้บริการในด้านต่างๆ การดูแลแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ ตลอดจนร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ของรัฐในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขของประชาชน การพูด โดยเฉพาะการพูดในที่ชุมชนจึงเป็นเครื่องมือสำคัญต่อการสร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนา
“การพูดในโอกาสต่าง ๆ โดยเฉพาะการพูดในชุมชน มีความสำคัญต่อผู้พูดและผู้ฟัง เพราะเราอยู่ในสังคมเราใช้ภาษาพูดเพื่อสื่อสารและแสดงออกความรู้สึกซึ่งกันและกัน โดยสร้างสายใยความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันดังนั้นในโอกาสต่าง ๆ จึงให้การพูดเป็นเครื่องมือสื่อความเข้าใจกัน การที่ผู้พูดมีความพร้อมที่ดีมีหลักการในการพูดจะทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการพูด”
ด้านรศ.ดร.ณัฐฐ์วัฒน์ สุทธิโยธิน วิทยากร และกรรมการบริหารหลักสูตรนวัตกรรมการสื่อสารทางการเมืองและการปกครองท้องถิ่น สาขาวิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวอย่างน่าสนใจว่า การพูดเพื่อสร้างความประทับใจให้กับผู้ฟังนั้น ผู้พูดจะต้องมีการออกแบบ มีกลยุทธ์ในการระดมคำพูดให้มีประโยคให้มีน้ำหนักแบบตรึงใจผู้ฟัง สามารถเร้าใจให้ผู้ฟังกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่ต้องการ ต้องมีการประมวลความคิดที่เป็นสาระสำคัญและประทับใจ เนื้อหาการพูดต้อง โดนใจ ได้ใจ และผู้ฟังต้องมีความเข้าใจได้เป็นอย่างดี
“เนื้อหาหรือเรื่องที่นำมาพูดควรมีสาระดี ค้นคว้ามาอย่างกว้างขวาง มีหลักฐานอ้างอิง มีตัวเลขสถิติ เพื่อให้เนื้อหาเรื่องมีน้ำหนัก สมเหตุผล ที่สำคัญสถิติจะต้องเชื่อถือได้ หรือเป็นที่รับรอง ผู้ฟังจึงจะยอมรับ การพูดเนื้อเรื่องควรโยงประสบการณ์ใหม่ให้สัมพันธ์กับประสบการณ์เดิมของผู้ฟังลำดับเรื่องที่เข้าใจง่าย หรือเรื่องที่ใกล้ตัวไปสู่ไกลตัว หรือเรื่องที่เป็นรูปธรรมไปสู่นามธรรม สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ผู้ฟังเข้าใจชัดเจนขึ้น”
แนวโน้มกระแสการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ของโลกที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว การเรียนรู้ในรูปแบบใหม่ตลอดจนความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสารสนเทศที่เชื่อมโยงหลายมิติเกิดการกระจายข้อมูลข่าวสาร ความรู้และนวัตกรรม ในยุคสังคมดิจิทัล เราสามารถปรับตัวเพื่อเปิดโลกแห่งการเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: