การสื่อสารเป็นองค์ประกอบของการพัฒนาในทุกแง่มุมและทุกระดับ อันเปรียบได้กับเส้นใยที่เชื่อมร้อยปัจเจกบุคคลและกลุ่มบุคคล เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติตามเป้าประสงค์ที่มีร่วมกัน การพัฒนาที่ประสบความสำเร็จ คือการพัฒนาที่ต้องลงลึกถึงฐานรากของชุมชนทั้งในระดับวัฒนธรรมและจิตสำนึก โดยประชาชนจะต้องเข้ามามีส่วนร่วม
การสื่อสารเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมภาคประชาชนภายใต้กลุ่ม “อาสาพัฒนาปากแพรก”เป็นการทำงานร่วมระหว่างเทศบาลเมืองทุ่งสง และมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช การพัฒนาคนชุมชนท้องถิ่นก้าวสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ เป็นการเตรียมความพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง “คน”สู่“พลเมือง” ด้วยศาสตร์การสื่อสาร ถอดบทเรียนความร่วมมือกันระหว่างสถาบันการศึกษาและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาชุมชนในท้องถิ่นได้อย่างน่าสนใจ
หลักการที่สำคัญที่สุดของการสร้างการมีส่วนร่วมคือ การกระจายอำนาจการตัดสินใจให้แก่ชุมชน ให้ชุมชนเป็นแกนหลักในการคิด การตัดสินใจ การบริหารจัดการ ในการทำงานร่วมกันนี้เอง บุคคลจะเกิดการเรียนรู้ ปรับเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรม และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ก็จะขยายวงกว้างมากขึ้นเมื่อมีเครือข่ายชุมชนเป็นกลไกลสำคัญที่ขับเคลื่อนขบวนการประชาสังคมในการณรงค์เรียกร้องเพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ
การปกครองท้องถิ่นเป็นรากฐานของการปกครองระบอบประชาธิปไตย เพราะการปกครองท้องถิ่น จะเป็นสถาบันการเรียนรู้การเมืองการปกครองของประชาชน เสริมสร้างให้ประชาชนรู้สึกว่าตนมีความเกี่ยวพันมีส่วนได้ส่วนเสียในการปกครอง การบริหารท้องถิ่น เกิดความรับผิดชอบ และเกิดความหวงแหนต่อประโยชน์ อันพึงมีต่อท้องถิ่นที่ตนอยู่อาศัยอันจะนำมาซึ่งความศรัทธาเลื่อมใสในระบอบการปกครองประชาธิปไตยในที่สุด
การปกครองส่วนท้องถิ่นมีความสำคัญอย่างน้อยสองด้าน คือ ด้านการเมืองการปกครอง และการบริหาร กล่าวคือในด้านการเมืองการปกครองนั้นเป็นการปูพื้นฐานการปกครองระบอบประชาธิปไตยและเรียนรู้ในการปกครองตนเอง ส่วนด้านการบริหารหมายถึงการแบ่งเบาภาระรัฐบาลและประชาชนในท้องถิ่นได้หาทางแก้ไขปัญหาด้วยตนเองด้วยกลไกการบริหารต่าง ๆ ทั้งในแง่ของการบริหารงานบุคคล การบริหารงบประมาณ และการจัดการ
เทศบาลเมืองทุ่งสงเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบหนึ่งที่มีหน้าส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาท้องถิ่นภาคประชาชนในรูปแบบต่าง ๆ โดยประชาชนต้องมีส่วนร่วม คือ “ร่วมคิดร่วมทำ ร่วมประเมิน และร่วมรับผล” โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการเสนอความต้องการและความคาดหวังในการพัฒนาท้องถิ่น การติดตามข้อมูลข่าวสาร การร่วมดำเนินงาน การกำกับดูแล ตรวจสอบ ติดตามผลการดำเนินงาน และการประเมินผลอย่างมีส่วนร่วม ในการบริหารงานของฝ่ายการเมืองที่ทำหน้าที่บริหารเทศบาลเมืองทุ่งสง
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และเทศบาลเมืองทุ่งสง ใช้การสื่อสารพัฒนาคน หรือพัฒนาศักยภาพของประชาชน สร้างการมีส่วนร่วมภาคประชาชนจากเครือข่ายต่าง ๆ รวมกันเพื่อจัดตั้งกลุ่มทำหน้าที่จิตอาสาภาคประชาชน จากตัวแทนเครือข่ายหลากหลายกลุ่ม ทั้งตัวแทนที่มีประสบการณ์และทำงานในบทบาทของคณะกรรมการชุมชน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำชุมชน ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้นำต่างๆ ตัวแทนภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการในชุมชนต่าง ๆ ข้าราชการเกษียณ ผู้สูงวัย แม่บ้าน เด็ก-เยาวชน และประชาชนทั่วไป มาเข้าร่วมเป็นกลุ่มเครือข่ายใหม่เพียงกลุ่มเดียวที่เรียกว่า “อาสาพัฒนาปากแพรก” มุ่งเน้นองค์ความรู้ศาสตร์ทางด้านการสื่อสารสร้างความเป็นเอกภาพ เพื่อรวมพลังทำภารกิจในการร่วมกันพัฒนาท้องถิ่นร่วมกับเทศบาลเมืองทุ่งสง พร้อมพัฒนาระบบการสื่อสารเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมการพัฒนาเมืองทุ่งสงของภาคประชาชนด้วยกระบวนการเรียนรู้ยุคใหม่
รศ.ดร.วิทยาธร ท่อแก้ว ประธานหลักสูตรนวัตกรรมการสื่อสารการเมืองการปกครองท้องถิ่น สาขานิเทศศาสตร์ (อดีตรองอธิการบดีและคณบดีคณะนิเทศศาสตร์มสธ.) และที่ปรึกษาศูนย์วิจัยและพัฒนาการสื่อสารการเมืองและสังคม บอกเล่าให้ฟังอย่างน่าสนใจว่า เทศบาลทุ่งสงเสมือนมหาวิทยาลัยชีวิต เปิดพื้นที่พัฒนางานร่วมระหว่างสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ความร่วมมือระหว่าง มสธ.และเทศบาลเมืองทุ่งสงดำเนินการร่วมกันอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการพัฒนาเมืองด้วยงานวิจัยและองค์ความรู้ด้านการสื่อสาร ได้ถูกนำมาประยุกต์ใช้เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนทั้งทางตรง และทางอ้อม การณรงค์สื่อสารในงานการเมือง และการปกครองท้องถิ่น เพื่อให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมายเปิดรับ รับรู้ เข้าใจ และเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองในระดับท้องถิ่นภายใต้โครงการและกิจกรรมต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง
“โครงการ และกิจกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะ การพัฒนาการสื่อสารเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมภาคประชาชน ทางมหาวิทยาลัยได้ร่วมกับเทศบาลเมืองทุ่งสงในเบื้องต้นได้ดำเนินการปูพื้นฐานในการสร้างเครือข่าย การจัดหาสมาชิก และพัฒนาศักยภาพสมาชิก เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องได้สร้างกิจกรรมรณรงค์และการสื่อสารเพื่อขยายสมาชิกเพิ่มเป็นระยะ ๆ พร้อมพัฒนาศักยภาพทั้งรายเก่าและรายใหม่ให้มีความรู้ ความเข้าใจ พร้อมเป็นตัวแทนเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนต่าง ๆ ให้เกิดความเข้มแข็งที่ยั่งยืน
การรณรงค์สร้างจิตสำนึกรักษ์ชุมชนท้องถิ่น ภายใต้ชื่อ “อาสาพัฒนาปากแพรก” เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่กลุ่มเครือข่ายภาคประชาชนได้ร่วมกิจกรรมกัน โดยมีคำขวัญที่เป็นหลักยึด “ปากแพรกเราร่วมกันดูแล”ทุกชุมชนที่อยู่ภายในเขตเทศบาลเมืองทุ่งสงเข้ามาดูแลร่วมกัน โดยมุ่งเน้นในบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบที่ตกลงร่วมกันของสมาชิก เช่น ทำหน้าที่รายงานปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชนเทศบาลเพื่อแก้ไขปัญหาผ่านช่องทางต่าง ๆ ของโครงการ ประการที่สองทำหน้าที่รายงานข้อมูลข่าวสาร ความเคลื่อนไหวจากเทศบาลแก่ประชาชนในชุมชน ประการที่สามร่วมกันทำกิจกรรมบริการสาธารณะ บำเพ็ญประโยชน์อื่นๆ ในชุมชนเขตเทศบาล และร่วมกิจกรรมการพัฒนาศักยภาพ และกิจกรรมอื่น ๆ ตามที่เครือข่ายกำหนด เช่นการฝึกอบรม ศึกษาดูงาน การรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม ลดและแก้ปัญหาขยะ เป็นต้น ”
การสื่อสารสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาท้องถิ่นของคนในชุมชนท้องถิ่น ภายใต้ชื่อ อาสาพัฒนาปากแพรก เป็นการพัฒนาการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นับเป็นก้าวย่างที่สำคัญเพื่อสร้างความเข้มแข็งการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนที่ยาวนาน มิตรภาพที่ดี อยู่บนพื้นฐานการทุ่มเทเอาใส่ใจงานอย่างมีจิตสาธารณะ ซึ่งทุกคนได้ร่วมกันอย่างต่อเนื่อง จากโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ ด้วยรูปแบบการสื่อสาร จนบรรลุเป้าหมายอย่างน่าสนใจ
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: