สงขลา-“ไพเจน” ปักหมุด 3 แนวทางเชิงรุกในการจัดการ น้ำท่วม-น้ำแล้ง และน้ำเน่าเสีย มุ่งฟื้นฟูทะเลสาบสงขลา ในเวทีการจัดสัมมนาสัญจรของคณะกรรมาธิการการปกครองสภาผู้แทนราษฏร เพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน เตรียมความพร้อมขับเคลื่อนพัฒนาสงขลาก้าวหน้าแบบยั่งยืน
นายไพเจน มากสุวรรณ์ ที่ปรึกษาเลขาธิการสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ด้านแหล่งน้ำ และในฐานะอดีตอธิบดีกรมชลประทาน และผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าว บนเวทีการสัมมนา ภายใต้หัวข้อ “การสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินการของภาครัฐในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน”เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2563 ที่ผ่านมา ณ ศูนย์ประสานงาน ส.ส.เดชอิศม์ ขาวทอง ตำบลคูหาใต้ อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา
จัดโดย คณะกรรมมาธิการการปกครอง สภาผู้แทนราษฏร นำโดยนาย ไพจิต ศรีวรขาน ประธานคณะกรรมาธิการการปกครอง ในฐานะประธานกล่าวเปิดงาน และนายเดชอิศม์ ขาวทอง รองประธานคณะกรรมาธิการการปกครอง และ ส.ส.เขต 5 จังหวัดสงขลา กล่าวรายงาน มีวิทยากรร่วม นาย อำพล พงศ์สุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา และ นาย มนัส สุวรรณรินทร์ เลขานุการกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น โดยมีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ในพื้นที่ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลาเข้าร่วมรับฟังอย่างคับคั่ง
ข่าวน่าสนใจ:
- สงขลา ไม่ทันลืมตาดูโลก! พบศพทารกเพศชายยัดถุงดำ ถูกทิ้งถังขยะ ย่านเมืองท่องเที่ยว
- สงขลา"นายกเเบน"ลงชิง นายก อบจ.สงขลา รวม 3 ทีมเป็นหนึ่งเดียว ชู 10 นโยบายเร่งด่วนทำได้จริง
- อบจ.สงขลาแถลงผลดำเนินการ “1,460 วันนายกไพเจนขับเคลื่อน กว่า1,460 โครงการ” สร้างสุขชุมชน
- สงขลา"ไพเจนฯ"นั่งเก้าอี้ นายก อบจ.สงขลา วันสุดท้าย ลั่น 1,460 วัน กว่า 1,460 โครงการฯ
นายไพเจน กล่าวว่า แนวทางการจัดการเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำจังหวัดสงขลา มุ่งเน้น 3 เรื่องแก้ปัญหาที่สำคัญคือ 1.เรื่องน้ำท่วม 2. เรื่องน้ำแล้ง และ 3.เรื่องน้ำเน่าเสีย ปัญหาน้ำท่วมนั้นผู้นำท้องที่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ควรได้รับความรู้ ความเข้าใจในเรื่องการระบายน้ำ แนวทางการป้องกัน และการแก้ไขในเบื้องต้น ต้องเข้าใจสภาพพื้นที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะพื้นที่ซึ่งมักเกิดน้ำท่วมขังเป็นประจำ โดยธรรมชาติน้ำจะไหลลงสู่ที่ต่ำ หรือไหลจากที่สูงลงสู่ที่ราบลุ่ม หรือบริเวณปากน้ำ ปัญหาน้ำท่วมเพราะแหล่งน้ำในบริเวณนั้นไม่สามารถรับปริมาณน้ำได้เพียงพอ ตลอดจนปัญหาสิ่งกีดขวางทางน้ำไหล เช่น มีสิ่งกีดขวางลำคลอง เช่น ผักตบชวา ลำคลองเกิดการตื้นเขิน ประตูน้ำเกิดชำรุด หรือบางพื้นที่จุดต่ำ เกิดน้ำท่วมขังง่าย ปัญหาเหล่านี้จะต้องมีการสำรวจ และสรุปเตรียมความพร้อมในการรับมือเพื่อรองรับในการแก้ปัญหาน้ำท่วม สำรวจเพื่อกำหนดจุดที่ตั้งเครื่องสูบน้ำเป็นการเตรียมการไว้ล่วงหน้า โดยเฉพาะช่วงที่มีฝนตกอย่างต่อเนื่อง
“ในพื้นที่รัตภูมิมีแหล่งน้ำสำคัญอย่าง คลองลำแซง คลองลำขัน แหล่งน้ำ จากต้นน้ำคือน้ำจากพื้นที่รัตภูมิ ไหลผ่านไปยัง พื้นที่กลางน้ำ คืออำเภอควนเนียง อำเภอบางกล่ำ สู่ลุ่มทะเลสาบสงขลา ซึ่งมีเส้นทางถนนสายเอเชีย และเส้นทางรถไฟพาดพานคู่ขนานกับสันเขา ส่งผลต่อการไหลเวียนของน้ำ ก่อนไหลลงสู่ทะเลสาบสงขลา และเชื่อมโยงไปยังพื้นที่ใกล้เคียงอื่น ๆ อย่างพื้นที่คาบสมุทรสทิงพระ ซึ่งประกอบไปด้วย 4 อำเภอ คือสิงหนคร สทิงพระ กระแสสินธุ และระโนด ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาเรื่องแหล่งน้ำอุปโภค-บริโภค และแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร
สงขลานอกจากปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากในบางพื้นที่ ยังประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค และน้ำเพื่อการเกษตร ผู้นำท้องที่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นผู้ที่ใกล้ชิดกับปัญหา และความต้องการของประชาชนได้เป็นอย่างดี ต้องสังเกต สำรวจ เพื่อสรุปและกำหนดจุดการแก้ปัญหา และการพัฒนาได้อย่างสอดคล้องกันในแต่ละพื้นที่”
ทะเลสาบสงขลา เป็นแอ่งรองรับน้ำจืดที่มาจากน้ำฝน น้ำคลอง และน้ำหลากจากแผ่นดิน รวมทั้งมีน้ำเค็มจากทะเลไหลเข้ามาผสมผสานด้วย มีเนื้อที่ 8,563 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดของจังหวัดพัทลุง พื้นที่บางส่วนของอำเภอชะอวดและอำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราชและพื้นที่ในจังหวัดสงขลา ยกเว้นอำเภอนาทวี อำเภอจะนะ อำเภอเทพา และอำเภอสะบ้าย้อย ปัญหาของทะเลสาบสงขลา ทั้งปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้ง น้ำเสีย คือคุณภาพน้ำ น้ำเค็ม น้ำเสีย เกิดตะกอน เกิดการตื้นเขินของทะเลสาบ ต้องขุดลอก เพื่อลดระยะเวลาน้ำท่วมขังในพื้นที่ที่มีปัญหาให้สั้นลง
การจัดการน้ำท่วม น้ำแล้ง และน้ำเสีย ในพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา-คาบสมุทรสทิงพระ แนวทางการขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำที่ต้องอาศัยความร่วมมือกันตั้งแต่พื้นที่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อเป้าหมายสำคัญพัฒนาสงขลาก้าวหน้าแบบยั่งยืน
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: