การสร้างคนให้มีคุณภาพคือการสร้างคนด้วยระบบการเรียนรู้ เตรียมความพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลง การเรียนรู้ทั้งในระบบการศึกษา-นอกระบบ และการศึกษาระดับอุดมศึกษา ยุคดิจิทัลยุคท้าทายการสื่อสารเพื่อพัฒนาฐานรากสู่ความยั่งยืน
“ที่ไหน เวลาใด ใครก็เรียนได้” มสธ. เปิดสอนปริญญาโท หลักสูตร “นวัตกรรมการสื่อสารทางการเมืองและการปกครองท้องถิ่น”เปิดศูนย์เรียนรู้เฉพาะกิจ เทศบาลนครหาดใหญ่ มีผู้เรียน จำนวน 16 คน เพื่อตอบสนองนโยบายการเปิดโอกาสทางการศึกษาสู่การพัฒนาท้องถิ่นในมิติทางการสื่อสาร ผู้เรียนเป็นผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้ที่เกี่ยวข้องในงานทางการเมือง การปกครอง และการพัฒนาท้องถิ่น
“ประสาน เหล๊ะเหม” หนึ่งในผู้เรียนร่วมจากรุ่นศูนย์เฉพาะกิจ เทศบาลนครใหญ่ และในฐานะนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองม่วงงาม ผู้นำของคนม่วงงามที่มีความมุ่งมั่นพัฒนาท้องถิ่นจนได้รับความไว้วางใจจากชาวบ้านอย่างต่อเนื่อง ยังเป็นผู้นำที่หมั่นเรียนรู้พัฒนาตนเองตลอด โดยเฉพาะในยุคเทคโนโลยีสารสนเทศ ผู้นำท้องถิ่นยุคใหม่ต้องใส่ใจการเรียนรู้และจำเป็นต้องเรียนรู้ศาสตร์ทางด้านการสื่อสารเพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาท้องถิ่นชุมชน
“ม่วงงามตำบลเล็กๆตำบลหนึ่งในอำเภอสิงหนคร ห่างจากที่ว่าการอำเภอ 18 กิโลเมตร ด้วยเนื้อที่ 29.77 ตารางกิโลเมตร ชาวบ้านกว่าหมื่นคนจาก 4,025 ครัวเรือน 10 หมู่บ้าน ที่อยู่ร่วมกัน จุดเด่นของม่วงงามคือธรรมชาติของชายหาดที่ทอดยาวอย่างงดงามและวิถีของพี่น้องไทยพุทธและมุสลิม ความเป็นอยู่ ด้วยความสงบเรียบง่ายและการเกื้อกูลซึ่งกันและกัน จากรุ่นสู่รุ่นด้วยวิถีพื้นบ้าน การทำมาหากินด้วยการปลูกผัก ทำนา เลี้ยงสัตว์ และประมง ด้วยพื้นที่ส่วนหนึ่งติดกับทะเลอ่าวไทย สังคมอันเรียบง่ายของพี่น้องสองศาสนาจึงเป็นเอกลักษณ์ที่คนรุ่นเก่าๆ สืบสานและเป็นเสน่ห์คู่กับคนม่วงงาม”
การพัฒนาท้องถิ่นจำเป็นต้องอาศัยการพัฒนาที่สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ของท้องถิ่น วัฒนธรรมเป็นไปตามหลักการมีส่วนร่วมและคำนึงถึงทุนทางชุมชนสังคมและองค์ความรู้ที่เท่าทัน ในฐานะที่การสื่อสารเป็นเครื่องมือในการพัฒนา สังคมที่มีการสื่อสารย่อมมีเครือข่ายการสื่อสารประเภทต่างๆ ที่ครอบคลุมพื้นที่เป้าหมายได้กว้างขวาง ทำให้ประชาชนสื่อสารกันได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ทั้งภายในหมู่บ้าน ตำบล หรืออำเภอ ประชาชนสามารถรับรู้ข่าวสารได้เท่าทันต่อสถานการณ์ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ การเมือง การสาธารณสุข การศึกษา เทคโนโลยีการผลิตใหม่ๆ อันนำไปสู่การปรับปรุงคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น ทำให้ชุมชนโดยรวมพัฒนาได้เร็วขึ้น
รศ.ดร.วิทยาธร ท่อแก้ว ประธานคณะกรรมบริหารหลักสูตร นิเทศศาสตรมหาบัณฑิต นวัตกรรมการสื่อสารทางการเมืองและการปกครองท้องถิ่น มสธ.ให้ความเห็นอย่างน่าสนใจว่า รูปแบบการเรียนการสอนและหลักสูตรมีการปรับเปลี่ยนและปรับปรุงอยู่ตลอดเวลาเพื่อให้สอดรับกับการเรียนรู้ในดิจิทัล สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตการทำงาน การสื่อสารได้เข้ามามีบทบาทสาคัญทางด้านการเมือง และการปกครองท้องถิ่นอย่างมากมายและมากยิ่งขึ้นในยุคนี้ การมีความรู้ความเข้าใจในแนวคิด ทฤษฎี และหลักการต่างๆ ทางนวัตกรรมการสื่อสารทางการเมืองและการปกครองท้องถิ่นจะนำไปสู่ความสำเร็จในการปฏิบัติงานในหน้าที่
“การศึกษาในหลักสูตร มีการค้นคว้าอิสระ และการวิจัยในการสร้างนวัตกรรมใหม่เป็นกระบวนการที่สำคัญในการศึกษาของหลักสูตรนี้ จะเสริมสร้างศักยภาพของผู้เรียนให้มีสมรรถนะสูงในการปฏิบัติงานเรียนแขนงวิชานี้เพื่อพัฒนาตนเองให้มีความเชี่ยวชาญการสื่อสารทางการเมือง หรือ การสื่อสารทางการปกครองท้องถิ่น ตามที่ประสงค์จะเจาะลึก ซึ่งทำให้ผู้เรียนสามารถวางแผน ดำเนินการ ประเมินการสื่อสารได้ผล”
ยุคดิจิทัลมีการไหลข้ามระหว่างวัฒนธรรมโลกตะวันตกแพร่ขยายเข้าไปยังโลกตะวันออก และโลกตะวันออกสู่โลกตะวันออกด้วยกัน ฉะนั้นเพื่อการปรับตัว และเตรียมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของสังคม จึงต้องเร่งทำความเข้าใจ และพร้อมรับมือโดยการสร้างคนที่มีคุณภาพด้วยสังคมแห่งการเรียนรู้
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: