“พลังสื่อสารพลังประชาชนพลังการพัฒนาท้องถิ่นยุคใหม่”พลังประชาชนในฐานะผู้รับสาร-ส่งสาร พลังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในฐานะผู้ส่งสาร พลังเนื้อหาสารและรูปแบบการนำเสนอ และพลังช่องทางการสื่อสารและสื่อในการเผยแพร่ พลัง4 เสาหลักการสื่อสารขับเคลื่อนการพัฒนาท้องถิ่นยุคใหม่
การประชาสัมพันธ์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นการสื่อสารความคิดเห็น ข่าวสาร ข้อเท็จจริงต่าง ๆ ไปสู่กลุ่มเป้าหมายเพื่อเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์และความเข้าใจอันดีระหว่างหน่วยงาน องค์การ สถาบันกับกลุ่ม ประชาชนเป้าหมายและประชาชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อหวังผลในความร่วมมือสนับสนุนจากประชาชนรวมทั้งมีส่วนช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ ที่ดีให้แก่หน่วยงานองค์การสถาบันด้วยทำให้ประชาชน เกิดความนิยม เลื่อมใส ศรัทธาต่อหน่วยงาน ตลอดจนค้นหาและกำจัดแหล่งเข้าใจผิด ช่วยลบล้างปัญหา เพื่อสร้างความสำเร็จในการดำเนินงานของหน่วยงาน
เทศบาลนครสงขลาภายใต้นโยบายด้านการบริหารและการบริการเพื่อเป็นองค์กรรับใช้ประชาชนนำโดย ดร.สมศักดิ์ ตันติเศรณี นายกเทศมนตรีนครสงขลาได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านการบริหารและการบริการรูปแบบใหม่เพื่อให้เป็นองค์กรรับใช้ประชาชนจัดให้มีการพัฒนาฝึกอบรมและพัฒนาพนักงานเทศบาลอย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มขีดความรู้ความสามารถ พัฒนากระบวนการทำงานให้เป็นหน่วยงานที่ให้บริการประชาชนได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพเพื่อให้บริการข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชนเป็นไปด้วยความรวดเร็ว ล่าสุดกับ“โครงการอบรมพัฒนาศักยภาพบุคลากรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านการสื่อสารองค์กรในยุคไทยแลนด์ 4.0 และโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการ การจัดทำแผนพัฒนาเทศบาลนครสงขลา ประจำปี 2561″ โดยมีหัวเรือสำคัญอย่าง กัลยา บุญญามณี ปลัดเทศบาลนครสงขลา มีเจ้าภาพอย่าง สุจิตรา สังข์ศิลป์ชัย ผู้อำนวยการกองแผนและวิชาการ ขับเคลื่อนนโยบายสู่ภาคปฏิบัติ เพื่อพัฒนาศักยภาพทีมงานเทศบาลสู่ทีมงานอาชีพ “รวมพลังบริการ หลอมรวมใจสู่ความเป็นหนึ่ง”ซึ่งได้รับเกียรติการบรรยายให้ความรู้จาก รศ.ดร.วิทยาธร ท่อแก้ว ผู้เชี่ยวชาญและคว่ำหวอดการสื่อสารด้านการเมืองและการปกครองส่วนท้องถิ่นนานร่วม30 ปี ในฐานะผู้อำนวยศูนย์วิจัยและพัฒนาการสื่อสารการเมืองและสังคม และประธานคณะกรรมการบริหารหลักสูตร นวัตกรรมการสื่อสารทางการเมืองและการปกครองส่วนท้องถิ่น มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
“ข้อมูลข่าวสารที่องค์กร สถาบันหรือหน่วยงานต้องการเผยแพร่ได้แก่ เรื่องราวที่เป็นเนื้อหาสาระ รูปภาพ สัญลักษณ์ หรือเครื่องหมาย ที่สามารถสื่อสารความเข้าใจได้ สื่อประชาสัมพันธ์ ได้แก่ เรื่องราวที่เป็นเนื้อหา สาระ รูปภาพ สัญลักษณ์ หรือเครื่องหมาย อาจจะเป็นสื่อคำพูด เช่น การสนทนา การประชุม การสัมมนา การอภิปราย การปาฐกถา ฯลฯ สื่อสิ่งพิมพ์ เช่น จดหมาย บัตรอวยพรแผ่นปลิวหนังสือวารสาร ป้ายแบบต่างๆ ฯลฯ หรือสื่อภาพและเสียง เช่น ถ่ายภาพ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ เว็บไซต์ และสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ฯลฯ ซึ่งเป็นสื่อที่สามารถสื่อสารความเข้าใจได้”
นักประชาสัมพันธ์เป็นหัวใจการขับเคลื่อนงานขององค์กร การพัฒนาศักยภาพนักประชาสัมพันธ์ด้านต่างๆ จึงถือเป็นงานที่สำคัญต่อความสำเร็จในการสื่อสารองค์กร โดยเฉพาะการพัฒนาคุณลักษณะที่ดี เช่น การเป็นคนที่เรียนรู้ และติดตามข่าวสาร เทคโนโลยีอยู่ตลอดเวลา เพื่อจะได้นำมาปรับใช้ และหาช่องทางสื่อสารกับประชาชนได้ การสร้างความสัมพันธ์ อันดีกับสื่อมวลชน และรู้จักสร้างเครือข่ายกับผู้ที่ทำงานในสายงานเดียวกัน เพื่อเปิดช่องทางในการทำงานด้านประชาสัมพันธ์ให้สะดวกมากยิ่งขึ้น อีกทั้งต้องไม่ลืมที่จะรักษาความสัมพันธ์นั้นให้ยั้งยืน การรู้จักวางแผนการทำงานได้อย่างเป็นระเบียบ ละเอียดรอบคอบ และสามารถรับมือกับเหตุการณ์เฉพาะหน้า ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาได้เป็นอย่างดี การมีความพร้อมในการ สื่อสารพูดคุย ยิ้มแย้มแจ่มใส พร้อมที่จะติดต่อกับผู้คนได้ทุกกลุ่ม และต้องแสดงความเป็นมิตรทั้งต่อหน้า หรือแม้แต่เวลาพูดคุยกัน
“การทำงานสื่อสารองค์กรยุคใหม่จะต้องทำงานร่วมกันเป็นทีม รวมกันเป็นเครือข่ายทั้งภายในและภายนอกโดยเฉพาะเครือข่ายการพัฒนาท้องถิ่นแบบมีส่วนร่วมต้องอาศัยเครือข่ายที่เข้มแข็งฝังรากลึกเกาะติดอยู่ในพื้นที่ชุมชนเป็นทั้งผู้ให้ข่าวสารและเป็นผู้รับข่าวสาร ดังนั้นการจัดการความรู้จะสามารถสร้างศักยภาพการดำเนินงานสื่อสารองค์กรให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้เป็นอย่างดีเยี่ยม”
ด้าน ดร.สมศักดิ์ ตันติเศรณี กล่าวว่าการจัดการด้านการบริหาร เป็นกระบวนการสำคัญที่จะผลักดันให้การบริหารงานของเทศบาลประสบผลสำเร็จ เพื่อให้การดำเนินงาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพโดยคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนส่วนรวมเป็นหลัก และเพื่อให้ประชาชนอยู่ดีมีสุขร่วมกัน โดยเฉพาะในเรื่องการจัดทำแผนพัฒนาเทศบาลนครสงขลาจึงเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เสนอความคิดเห็น ข้อเสนอแนะการทำงานของผู้บริหารได้ตลอดเวลา ขณะเดียวกันการบริหารงานเทศบาลมุ่งเน้นการรักษาประโยชน์ส่วนรวม อำนวยความสะดวกและให้บริการแก่ประชาชนตามหลักธรรมาภิบาล
“การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการการจัดทำแผนพัฒนาเทศบาลนครสงขลา เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในการพิจารณาเพิ่มเติมแผนพัฒนาท้องถิ่นสี่ปี เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2559 เทศบาลฯ ได้ประกาศใช้แผนพัฒนาท้องถิ่นสี่ ไปแล้ว แต่เมื่อระยะเวลาผ่านมา สภาพปัญหาและสถานการณ์ในพื้นที่ชุมชน รวมถึงบริบททางสังคมได้มีการเปลี่ยนแปลงไป ทำให้โครงการต่างๆ ที่บรรจุในแผนพัฒนาท้องถิ่นไม่สามารถแก้ปัญหาและความต้องการของประชาชนได้ทันต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการเพิ่มเติมโครงการ เพื่อให้สามารถตอบโจทย์ปัญหาความต้องการของประชาชน สามารถเข้าถึงการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นตามความจำเป็นเร่งด่วน และสามารถให้บริการสาธารณะแก่ประชาชนในพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนโดยส่วนรวมต่อไป”
การพัฒนาเมืองด้วยการสร้างความเข้มแข็งของเครือข่าย ร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมพัฒนา ร่วมตรวจสอบ ร่วมรับผิดชอบและยอมรับผลการพัฒนาเมืองภายใต้ความรู้สึกเป็นเจ้าของเมืองสงขลาร่วมกัน
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: