“เวทีการแข่งขันดนตรีสากลเป็นเพียงกิจกรรม สิ่งที่มากกว่าคือการฝึกทักษะเพื่อดึงศักยภาพและเปิดพื้นที่การสื่อสารการแสดงเพื่อสร้างความเข้าใจการแบ่งปันความสุขทางด้านศิลปะร่วมกัน เปิดพื้นที่สร้างสรรค์จากโลกแห่งความเป็นจริงมากกว่าการอยู่ในโลกโซเชียลอย่างเดียว”
“โกไข่” ชื่อนี้ยังเป็นแรงบันดาลใจให้กับเด็กๆ เยาวชนคนรุ่นใหม่ในพื้นที่ภาคใต้ได้ดีเสมอโดยเฉพาะการทอฝันสร้างสีสันแบ่งปันความสุขบนถนนสายศิลปด้วยทักษะด้านดนตรีสากล การเติมเต็ม“สร้างพลังทักษะดนตรีสากล” ด้วยแนวคิดและกำลังใจที่มอบไว้บนเวทีแห่งการแข่งขันพร้อมถ้วยรางวัลและเงินรางวัลในงานประกวดดนตรีสากล ถ้วยรางวัล ฯพณฯพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ครั้งที่1 ในงาน Walalak Day ที่ส่วนกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยนายปิยวัชน์ คงอินทร์ ในฐานะหัวหน้าส่วนพร้อมทีมทำงานได้จัดให้มีขึ้นเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2561 ณ ลาน WU Square มหาวิทยาลัยวลัยวลักษณ์
“เวทีการแข่งขันเป็นเพียงกิจกรรม สิ่งที่มากกว่าคือการฝึกทักษะเพื่อดึงศักยภาพและเป็นการเปิดพื้นที่การสื่อสารการแสดงเพื่อสร้างความเข้าใจการแบ่งปันความสุขทางด้านศิลปะร่วมกัน การเปิดพื้นที่สร้างสรรค์จากโลกแห่งความเป็นจริงมากกว่าการอยู่แต่ในโลกโซเชียลเพียงอย่างเดียว”คำกล่าวสั้นๆเพื่อสร้างแรงบันดาลใจของ “โกไข่”
ภาพของ“โกไข่” หรือจุมพล ทองตันคนส่วนใหญ่รู้จักในบทบาทที่มีผลงานเป็นนักร้องในนาม “โกไข่กับนายสน” สนธยา ชิตมณี ในสังกัดบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) และเป็นนักแสดง อาโกในภาพยนตร์เรื่อง “มหาลัยเหมืองแร่” นอกจากงานวงการบันเทิงแล้ว จุมพล ยังเป็นอาจารย์พิเศษคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภาควิชาสื่อสาร มวลชน สอนวิชา “ดนตรีเพื่อการสื่อสารมวลชน” และผลงานอื่นๆ อีกมากมาย
หนึ่งในฐานะคณะกรรมการบนเวทีการประกวดดนตรีสากล นอกจากโกไข่แล้วยังมีคณะกรรมการที่เป็นนักดนตรีมืออาชีพอย่าง เกรียงศักดิ์ สุดาวรรณศักดิ์ และผู้เชี่ยวชาญด้านดนตรี ผศ.ดร.สุรสิทธิ์ ศรีสมุทร จากมหาวิทยาลัยทักษิณ อาจารย์บุญเสกฐ์ เพชรประสิทธิ์ อาจารย์ชาตรี เทือกสุบรรณ
ดนตรีที่เป็นงานศิลปะอย่างแท้จริงนั้นถูกสร้างขึ้นเพื่อเจตนาอันงดงาม ปราศจากความโลภ ศิลปินผู้สร้างดนตรีใช้เสียงเหล่านั้นเป็นสื่อถ่ายทอดเอาอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิดของศิลปิน ในยามที่เขาเหล่านั้นมีสภาวะแห่งจิตที่ปรากฎภาพชัดเจนมากเกินกว่าจะบรรยายออกมาโดยคำพูดได้ ศิลปะบริสุทธิ์ อันถูกร้อยเรียงขึ้นราวกาพย์กวีที่ปรากฎขึ้นในใจของศิลปินจึงถูกถ่ายทอดออกมาทางเสียงดนตรี เสียงดนตรีจึงสามารถสร้างอารมณ์สะเทือนใจ หรือสร้างภาพปรากฎอันงดงามขึ้นต่อความรู้สึกของผู้ฟังได้
เวทีการแข่งขันและรางวัลจึงเป็นเสี้ยวหนึ่งของการเปิดพื้นที่เล็กๆ ให้เยาวชนจากโรงเรียนต่างๆ รวมทั้งครูผู้สอนด้านดนตรีจากพื้นที่ใต้ในช่วงปิดภาคเรียนได้มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพความสามารถเป็นการกระตุ้นพลังสร้างสรรค์ที่คณะกรรมการได้จุดประกายด้วยรูปแบบต่างๆร่วมกันผ่านเวทีแห่งนี้อย่างมีคุณค่า
รศ.ดร.ศราวุธ ปาลิโภชน์ รองอธิการฝ่ายกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวว่า เวทีการประกวดจะเป็นการสร้างโอกาสและประสบการณ์สำคัญในการแสดงความสามารถของเด็กและเยาวชน กิจกรรมจะเป็นเครื่องมือหนึ่งที่สำคัญในการหล่อหลอมเสริมสร้างประสบการณ์แห่งการเรียนรู้และการทำงานร่วมกับผู้อื่น การมีน้ำใจเสียสละช่วยเหลืองานส่วนรวม การเรียนรู้ต้องปฏิรูประบบการเรียนการสอนเป้าหมายสำคัญนอกจากเป็นคนเก่งต้องเป็นคนดี เป็นคนดีทำหน้าที่ในสังคมอย่างมีคุณค่า
นายปิยวัชน์ คงอินทร์ หัวหน้าส่วนกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวว่าการประจัดกวดวงดนตรีสากล ถ้วยรางวัล ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษเพื่อให้เยาวชนได้แสดงความสามารถและดึงศักยภาพด้านดนตรีเพื่อห่างไกลยาเสพติด และเปิดโอกาสให้เยาวชนและบุคคลทั่วไปได้มีส่วนในการอนุรักษ์เผยแพร่ศิลปะวัฒนธรรมด้านวงดนตรีสากลโดยได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิเป็นคณะกรรมการตัดสิน และให้คำแนะนำแก่เด็กๆเยาวชนเพื่อ”พัฒนาทักษะฝีมือและสร้างแรงบันดาลใจ”
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: