กระท้อนห่อของดีเมืองลพบุรีเริ่มวางจำหน่ายแล้ว โดยเฉพาะ “พันธุ์ปุยฝ้าย” ที่ขึ้นชื่อเรื่องความอร่อยหนึ่งเดียวในประเทศ
วันที่ 13 ม.ย. 61 ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ ต.โพธิ์เก้าต้น ต.ตะลุง อ.เมือง จ.ลพบุรี บริเวณริมทางถนนสายลพบุรี-บ้านแพรก พบว่าเกษตรกรชาวสวน เริ่มลงมือปลูกสร้างร้านขายกระท้อนกว่า 30 ร้าน ที่จะเริ่มทยอยออกมาจำหน่ายให้กับผู้บริโภค ที่ขับรถสัญจรไปมา บางสวนก็เริ่มเก็บผลผลิตกระท้อนชุดแรก “พันธุ์ปุยฝ้าย” ที่ขึ้นชื่อเรื่องรสชาติความอร่อยหนึ่งเดียวในประเทศนำออกมาวางจำหน่าย โดยนักบริโภคให้การตอบรับกับกระท้อนหวานของที่นี่จนเก็บออกมาวางจำหน่ายแทบไม่ทัน
ป้าเล็ก เกษตรกรชาวสวนกระท้อนที่ขายกระท้อมานานกว่า 30 ปี เล่าว่าปีนี้กระท้อนออกช้าไป จากปกติเดือนเมษายนของทุกปี ก็มีออกวางจำหน่ายแล้ว เนื่องจากปีนี้ที่พื้นที่ ต.โพธิ์เก้าต้นน้ำน้อย การดูแลต้นกระท้อนไม่ทั่วถึงจึงออกล่าไป แต่ถึงอย่างไรปีนี้ก็จะมีกระท้อนให้กับผู้บริโภคเพียงพอกับความต้องการอย่างแน่นอน ซึ่งราคาก็เป็นปกติ กระท้อนพันธุ์ปุยฝ้ายที่ผลใหญ่สุดกิโลละ 60 บาท 50 บาท และ 3 กิโล 100 บาท ตามขนาด และความต้องการของลูกค้า ป้าเล็กกล่าวว่าวันนี้นำกระท้อนออกมาวางจำหน่ายกว่า 1 ตัน (1,000) กิโล ขายดีมากจนเก็บแทบไม่ทัน เพราะว่าเป็นร้านแรกที่มีกระท้อนออกจำหน่าย
ในส่วนของเกษตรจังหวัดก็ได้มีการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์การเพาะปลูกของเกษตรกรสวนกระท้อนหมู่ 12 ต.โพธิ์เก้าต้น อ.เมืองและพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อเตรียมจัดงานวันกระท้อนของดีจังหวัดลพบุรี ในวันที่ 29 มิ.ย. -10 ก.ค.61 นี้ หน้าที่ว่าการอำเภอเมือง โดยเกษตรกรยืนยันว่าผลผลิตกระท้อนพันธุ์ดี “ปุยฝ้าย” มีเพียงพอกับความต้องการของตลาดอย่างแน่นอน ซึ่งจังหวัดลพบุรีนอกจาก ต.โพธิ์เก้าต้น ที่เป็นแหล่งปลูกกระท้อนคุณภาพดีพันธุ์ปุยฝ้ายแล้ว ในอำเภอเมืองยังมีแหล่งปลูกกระท้อนพันธุ์ดีอีก คือ ต.ตะลุง และ ต.งิ้วราย ส่วนราคาปีนี้คาดว่าอยู่ที่กิโลกรัมละ 60-70 บาท ไม่แพงเหมือนปีที่ผ่านมาที่มีผลผลิตออกน้อย
ทั้งนี้จากการประเมินการณ์ว่าจะมีผลผลิตกระท้อนหวานเริ่มทยอยออกสู่ตลาดตั้งแต่วันที่ 20 มิ.ย. ผู้บริโภค นักท่องเที่ยวไม่ต้องวิตกกังวลกับการนำกระท้อนจากพื้นที่อื่นมาขายปน เพราะได้กำชับอำเภอเมืองลพบุรี ประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจกับชาวสวนถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น หากนำกระท้อนจากที่อื่นเข้ามาขาย จะทำให้ชื่อเสียงกระท้อนพันธุ์ปุยฝ้ายของจังหวัดลพบุรีเสียหาย และขอให้เกษตรกร ทุกสวน ติดป้ายแสดงชื่อพันธุ์ให้ชัดเจน เพื่อให้ผู้บริโภคทราบข้อมูลและตัดสินใจในการซื้อขาย
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: