สทนช. จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง นำเสนอร่างผลการศึกษาการจัดทำผังน้ำสทนช. เผยร่างผลการศึกษาผังน้ำลุ่มน้ำภาคกลาง ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ป่าสัก และท่าจีน หวังแก้น้ำท่วม-น้ำแล้งอย่างยั่งยืน
เมื่อวันนี้ (11 กุมภาพันธ์ 2565) นางบวรรัตน์ ศุกระกาญจน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านติดตามและประเมินผล ผู้แทนสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยภายหลังการประชุมผังน้ำครั้งที่ 4 (ปัจฉิมนิเทศ) พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา เวทีที่ 3 โครงการจัดทำผังน้ำ ลุ่มน้ำสะแกกรัง ป่าสัก เจ้าพระยา ท่าจีน ณ โรงแรมลพบุรีอินน์ รีสอร์ท จังหวัดลพบุรี ว่า สทนช. ร่วมกับกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาจัดการประชุมผังน้ำ ครั้งที่ 4 เพื่อนำเสนอร่างผังน้ำ รายการประกอบผัง ฉบับร่าง 3 รวมทั้งการใช้ประโยชน์ผังน้ำ และข้อเสนอแนะต่างๆ สำหรับทั้งประชาชน และหน่วยงาน ตลอดจนข้อเสนอแนะด้านเกณฑ์เตือนภัย และการบริหารจัดการน้ำ คู่มือการใช้งานผังน้ำ และการใช้งานข้อมูลผังน้ำในรูปแบบแผนที่ซ้อนทับภาพถ่ายทางอากาศซึ่งแสดงบนกูเกิ้ลเอิร์ท (KMZ) ให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้รับทราบ และร่วมพิจารณาให้ข้อเสนอแนะต่อร่างผังน้ำและร่างรายการประกอบผังน้ำ
โดยได้รับเกียรติจากนายสุภกิณห์ แวงชิน รองผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี เป็นประธานเปิดการประชุม ซึ่งมีผู้เข้าร่วมการประชุมประกอบด้วย ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนที่เกี่ยวข้อง ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ครอบคลุมจังหวัดลพบุรี (อ.เมืองลพบุรี อ.โคกสำโรง อ.ท่าวุ้ง อ.บ้านหมี่) และจังหวัดสระบุรี (อ.บ้านหมอ อ.หนองแค อ.หนองโดน อ.ดอนพุด)
นางบวรรัตน์ ศุกระกาญจน์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในช่วงเวลาที่ผ่านมากลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด (มหาชน) บริษัท วอเตอร์ ดีเว็ลลัฟเม็นท์ คอนซัลแท็นส์ กรุ๊ป จำกัด และบริษัท เอส เอ็น ที คอนซัลแตนท์ จำกัด ได้ดำเนินการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียไปแล้ว 3 ครั้ง และได้นำข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะไปพิจารณาประกอบการศึกษา และจัดทำร่างรายงานผลการศึกษา มารับฟังความคิดเห็นอีกครั้งในวันนี้ ซึ่งคณะผู้ศึกษาจะนำผลจากการรับฟังความคิดเห็นในวันนี้ ไปปรับปรุงรายงานผลการศึกษา ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณเดือนเมษายน 2565 ผังน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาประกอบด้วยแผนที่ 14 แผ่น และแผนผัง 2 แผ่น ได้แก่ แผ่นที่ 1 : แผนที่แสดงขอบเขตลุ่มน้ำและระบบทางน้ำ แผ่นที่ 2 : แผนที่แสดงผังน้ำ แผ่นที่ 3 : แผนที่แสดงพื้นที่ป่าและพื้นที่ชุ่มน้ำ แผ่นที่ 4 : แผนที่แสดงความจุลำน้ำ และพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม แผ่นที่ 5 ถึง แผ่นที่ 10 : แผนที่แสดงพื้นที่น้ำท่วมที่คาบอุบัติ 2 ปี 5 ปี 20 ปี 25 ปี 50 ปี 100 ปี แผ่นที่ 11 : ผังระบบระบายน้ำ แผ่นที่ 12 : แผนที่แสดงข้อมูลพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภคและอุตสาหกรรมช่วงฤดูแล้ง (พ.ย.-เม.ย.) แผ่นที่ 13 : แผนที่แสดงข้อมูลพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร นอกเขตชลประทานในช่วงฤดูแล้ง (พ.ย.-เม.ย.) แผ่นที่ 14 : ผังข้อมูลการบริหารจัดการน้ำช่วงน้ำแล้ง แผ่นที่ 15 : แผนที่แสดงคุณภาพน้ำ แผ่นที่ 16 : แผนที่แสดงความเค็ม
ทั้งนี้ ผลการวิเคราะห์และจัดทำผังน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาพบว่ามีพื้นที่อยู่ในรหัสโซนต่าง ๆ ราว 3.07 ล้านไร่ ซึ่งจำแนกเป็นพื้นที่ทางน้ำหลากริมน้ำ รหัสโซน“ลน.” จำนวน 26,000 ไร่ และพื้นที่ทางน้ำหลากเพื่อระบายน้ำ รหัสโซน“ลร.” จำนวน 2.20 ล้านไร่ พื้นที่น้ำนอง รหัสโซน“น.” จำนวน 751,000 ไร่ และพื้นที่ลุ่มต่ำ รหัสโซน“ต.” จำนวน 88,000 ไร่ “ผลการศึกษาผังน้ำ นอกจากแสดงในรูปแผนที่และแผนผังแล้ว ยังจัดทำเป็นเอกสารและคู่มือเพื่อให้ประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้ประโยชน์ อาทิเช่น ข้อเสนอแนะการเตรียมความพร้อมในด้านการใช้ประโยชน์ที่ดินในระบบทางน้ำของผังน้ำ เพื่อช่วยลดความเสียหายของชีวิตและทรัพย์สินจากภาวะน้ำท่วม ข้อเสนอแนะการใช้ประโยชน์ที่ดินสำหรับหน่วยงานผู้มีอำนาจอนุญาตการใช้ประโยชน์ที่ดิน คู่มือการบริหารจัดการน้ำท่วม-น้ำแล้ง เป็นต้น ซึ่งจะทำให้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเกิดเอกภาพและเป็นระบบ เป็นไปตามเจตนารมณ์ของผังน้ำ โดยในช่วงบ่ายได้จัดการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ (การใช้ผังน้ำ)ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านน้ำ และผู้แทนผู้มีอำนาจอนุญาตการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อแนะนำวิธีการใช้และรายละเอียดแผนที่ผังน้ำ” ผู้เชี่ยวชาญด้านติดตามและประเมินผล
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: