สวดพระมาลัยประเพณีเก่าแก่ที่สืบทอดกันมาตั้งแต่เมื่อครั้งบรรพบุรุษ ปู่ย่า ตายาย ได้ตกหล่นสูญหายไปแล้ว แต่ก็ยังดีที่มีผู้อนุรักษ์ให้หลงเหลืออยู่ที่ หมู่บ้านบัวชุม ต.บัวชุม อ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี นั่นคือ”ประเพณีสวดพระมาลัยงานศพ” ที่ชาวบ้านบัวชุมปฎิบัติสืบทอดกันมายาวนานประมาณเกือบ 200 ปีจนถึงปัจจุบัน ซึ่งคาดว่ายังคงมีเหลืออีกเพียงไม่กี่หมู่บ้านที่ยังอนุรักษ์เอาไว้ได้
ผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปพบกับคุณตากลั่น โม่งแสวง อายุ 73 ปี ซึ่งเป็นหัวหน้า และต้นเสียงทีมงานสวดพระมาลัยประจำหมู่บ้านกล่าวว่า บ้านบัวชุมเป็นหมู่บ้านเก่าแก่ขนาดใหญ่มีประวัติมายาวนาน เมื่อครั้งในอดีตปู่ย่าตายายบอกเล่าต่อๆกันมาจากรุ่นสู่รุ่นว่า เดิมทีนั้นการสวดพระมาลัยนี้มักจัดขึ้นในงานมงคลสมรส ซึ่งแต่เดิมเรียกว่าการอ่านพระมาลัยโดยมีผู้อาวุโสประจำหมู่บ้านเป็นคนอ่าน เพื่อให้คู่บ่าวสาว ชาวบ้าน แขกเหรื่อที่มาร่วมงานฟัง โดยเนื้อหาของพระมาลัยนั้นจะเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าให้รู้ถึงผลของบาป ของบุญ ว่าช่วงที่ยังมีชีวิตอยู่ใครทำบุญด้วยอะไร วิธีไหน เมื่อตายไปจะได้รับผลบุญอย่างไรขึ้นสวรรค์ชั้นไหน แต่ในทางกลับกันผู้ที่ทำบาปเมื่อตายไปแล้วจะต้องได้รับผลกรรมตกนรกขุมไหน ต้องทนทุกข์ทรมานอย่างใด ซึ่งในบทสวดพระมาลัยจะอธิบายถึงผลของบุญและบาปแต่ละชนิดโดยละเอียดจนผู้ที่ได้รับฟังสามารถมองเห็นภาพเลยที่เดียว
คุณตากลั่นกล่าวต่ออีกว่า แต่ในชั้นหลังๆการอ่านพระมาลัยในงานแต่งงานไม่ค่อยเป็นผลมากนัก เนื่องจากเจ้าภาพและชาวบ้านที่มาร่วมงานส่วนใหญ่มักตั้งวงดื่มเหล้าเมายาสนุกสนานเฮฮาเสียมากกว่า จึงไม่มีผู้สนใจฟังการอ่านพระมาลัยเท่าที่ควร ผู้อาวุโสและนักปราชญ์ชาวบ้านในยุคนั้น จึงได้มีการเปลี่ยนแปลงด้วยการนำพระมาลัยมาอ่านในงานศพแทน เพื่อให้เจ้าภาพ ญาติพี่น้อง ชาวบ้านที่มาร่วมงานซึ่งทุกคนต่างอยู่ในอาการเศร้าโศกเสียใจได้รับฟัง ซึ่งพบว่าทุกคนที่มาร่วมงานต่างสนใจรับฟังการอ่านพระมาลัยดีกว่างานแต่งงาน จากนั้นผู้อาวุโสและนักปราชญ์หมู่บ้านจึงได้คิดค้นดัดแปลงการอ่านพระมาลัยให้มาเป็นการ”สวดพระมาลัย” และเพื่อให้เป็นที่หน้าสนใจฟังยิ่งๆขึ้น โดยจัดให้มีชาวบ้านร่วมเป็นผู้สวดที่เป็นต้นเสียงกับลูกคู่ตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป โดยมีการประยุกต์บทสวดให้มีการประสานเสียง สวดตามช่วงทำนองที่มีอยู่หลายบทหลายตอน ซึ่งมีเสียงดังโหยหวน อ่อนโยน นิ่งเรียบ และดุดัน ตามแต่และบทของตัวอักษร เช่น บทฉัน ร่าย เอกบท และราบ ซึ่งเป็นที่น่าสนใจแก่ผู้ที่ได้รับฟังมากยิ่งขึ้น
สำหรับการสวดพระมาลัยนั้น โดยในการสวดนั้นจะเริ่มขึ้นหลังจากพระสงฆ์สวดพระอภิธรรมเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้วจึงจะเริ่มลงมือสวด และเนื่องจากหนังสือบทสวดพระมาลัย มีความยาวมากผู้สวดทุกคนจึงจำเป็นต้องนั่งสวดจนถึงรุ่งเช้า ซึ่งถือว่าได้กุศลทั้งผู้ที่สวดและผู้ที่ได้รับฟัง พร้อมทั้งยังอยู่เป็นเพื่อนเจ้าภาพงานศพจนถึงรุ่งแจ้งอีกด้วย จึงนับได้ว่าเป็นการ”สวดพระมาลัยสั่งสอนคนเป็น ในงานศพของคนตาย” สั่งสอนให้ทุกคนละเว้นและเกรงกลัวต่อบาปกรรม
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: