สุราษฎร์ธานี – ชาวสุราษฎร์ฯ ร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 2 โครงการโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี รองรับการขยายตัวเศรษฐกิจและท่องเที่ยว 14 จังหวัดภาคใต้
วันที่ 3 สิงหาคม 2563 ที่ศูนย์การประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ อุบลรัตนราชกัญญา สหกรณ์สุราษฎร์ธานี จำกัด (โค-ออป) อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี นายจเร ขวัญเกิด ปลัดจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นประธานพิธีเปิดการประชุม รับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 ต่อการจัดทำร่างรายงานและมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม ในรายงาน EIA (Environmental Impact Assessment) โครงการโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี ครั้งที่ 2
โดยมี นางศรีวรรณ บูรณโชคไพศาล ผู้ช่วยผู้ว่าการแผนงานโรงไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวรายงาน มีประชาชนในพื้นที่ศึกษาโครงการฯ ส่วนราชการ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา องค์กรพัฒนาเอกชน ผู้นำศาสนา และประชาชนที่สนใจเข้าร่วมรับฟังอย่างเนืองแน่น ประมาณ 300 คน
นายจเร ขวัญเกิด ปลัดจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ผู้แทนของชุมชนและหน่วยงานในพื้นที่ รวมถึงหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ได้มีส่วนร่วมในการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 ของโครงการโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี ชุดที่ 1-2 ในครั้งนี้ เพื่อให้ประชาชน ได้ร่วมตรวจสอบความถูกต้องและความครบถ้วนสมบูรณ์ของร่างรายงานฯ รวมถึงได้รับทราบข้อมูล ข้อเท็จจริง พร้อมแสดงข้อคิดเห็น อันแสดงถึงการมีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงการร่วมกับ กฟผ. โดยขอให้ประชาชนที่เข้าร่วมประชุมในวันนี้ช่วยกันซักถาม พร้อมเสนอความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุงเล่มรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการที่เกี่ยวข้องในทุก ๆ ด้าน ให้เกิดประโยชน์ต่อชาวสุราษฎร์ธานีมากที่สุด
ด้าน นางศรีวรรณ บูรณโชคไพศาล ผู้ช่วยผู้ว่าการแผนงานโรงไฟฟ้า กฟผ. ระบุว่า โครงการโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี ชุดที่ 1 และชุดที่ 2 เป็นโรงไฟฟ้าตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 (PDP2018) เพื่อเสริมความมั่นคงของระบบไฟฟ้าของภาคใต้โดยเฉพาะฝั่งอันดามัน ที่ยังขาดโรงไฟฟ้าหลักในพื้นที่ พร้อมรองรับการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของภาคใต้ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นจังหวัดที่มีการใช้ไฟฟ้ามากเป็นอันดับ 3 ของภาคใต้ โดยจะก่อสร้างบนพื้นที่โรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานีเดิม ซึ่งปัจจุบันได้หยุดดำเนินการแล้ว เนื่องจากหมดอายุการใช้งาน และยังเป็นพื้นที่ที่มีความพร้อมของระบบส่งไฟฟ้าอยู่แล้ว จึงช่วยลดการก่อสร้างระบบส่งไฟฟ้าเพิ่ม ทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้ามีราคาถูกลง
ข่าวน่าสนใจ:
โครงการโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี ชุดที่ 1 และชุดที่ 2 มีขนาดกำลังผลิตติดตั้งสูงสุดประมาณ 1,660 เมกะวัตต์ ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลัก และน้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิงสำรอง มีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (Commercial Operation Date: COD) ชุดที่ 1 ในปี 2570 และชุดที่ 2 ในปี 2572 ตามลำดับ นอกจากนี้ โรงไฟฟ้าใหม่จะช่วยสร้างรายได้และอาชีพให้กับท้องถิ่น ตลอดจนได้รับงบประมาณ จากกองทุนพัฒนาไฟฟ้าเพื่อนำไปพัฒนาชุมชนอีกด้วย
ขณะที่ นายขรรชัย เกรียงไกรอุดม ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม บริษัท ซีคอท จำกัด เปิดเผยว่า การจัดรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ บริษัทฯ ได้นำเสนอรายละเอียดโครงการ ผลการศึกษาการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมในทุกมิติ พร้อมเปิดโอกาสให้ประชาชนในพื้นที่ศึกษาโครงการฯ อำเภอพุนพิน จำนวน 6 ตำบล ได้แก่ ต.พุนพิน ท่าข้าม หนองไทร ท่าโรงช้าง เขาหัวควาย และ ต.ท่าสะท้อน และอำเภอเมือง 1 ตำบล คือ ต.คลองน้อย
รวมถึงผู้มีส่วนได้เสียและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมตรวจสอบความถูกต้องและความครบถ้วนสมบูรณ์ของร่างรายงานฯ รวมถึงแสดงข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะเพิ่มเติมจากการจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2562 และการสำรวจและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ในขั้นตอนการประเมินและจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2562 ถึงเดือนเมษายน 2563 ซึ่งบริษัทฯ จะรวบรวมข้อเสนอแนะและข้อห่วงกังวลจากการรับฟังความคิดเห็นฯ ครั้งที่ 2 มาปรับปรุงร่างรายงานและมาตรการฯ ให้เหมาะสม เพื่อจัดทำรายงาน EIA ฉบับสมบูรณ์นำเสนอ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พิจารณาตามขั้นตอนต่อไป
ทั้งนี้ ประชาชนทุกภาคส่วนสามารถแสดงความคิดเห็นต่อเนื่องได้จนถึงวันที่ 20 สิงหาคม 2563 โดยส่งข้อคิดเห็นได้ที่ งานประชาสัมพันธ์โรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี กฟผ. โทรศัพท์ 077-242538 ต่อ 4249 โทรสาร 077-242537 หรือ นางสาวจันทิมา ยะนิล และนางสาวณัชชาวีร์ ชูดวงแก้ว บริษัท ซีคอท จำกัด เลขที่ 239 ถนนริมคลองประปา แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กรุงเทพฯ 10800 โทรศัพท์ 0-2959-3600 ต่อ 410, 412-413 โทรสาร 0-2959-3535 หรือ E-mail : [email protected]
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: