สุราษฎร์ธานี-ชาวสุราษฎร์ฯ ร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 2 โครงการโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานีรองรับการขยายตัวเศรษฐกิจและท่องเที่ยว14จังหวัดภาคใต้ ที่ศูนย์การประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ อุบลรัตนราชกัญญา สหกรณ์สุราษฎร์ธานี จำกัด (โค-ออป) อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี นายจเร ขวัญเกิด ปลัดจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นประธานพิธีเปิดการประชุม รับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 ต่อการจัดทำร่างรายงานและมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม ในรายงาน EIA (Environmental Impact Assessment) โครงการโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี ครั้งที่ 2โดยมีนางศรีวรรณ บูรณโชคไพศาล ผู้ช่วยผู้ว่าการแผนงานโรงไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวรายงาน มีประชาชนในพื้นที่ศึกษาโครงการฯ ส่วนราชการ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา องค์กรพัฒนาเอกชน ผู้นำศาสนา และประชาชนที่สนใจเข้าร่วมรับฟังอย่างเนืองแน่น ประมาณ 300 คน
นายจเร ขวัญเกิด ปลัดจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ผู้แทนของชุมชนและหน่วยงานในพื้นที่ รวมถึงหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ได้มีส่วนร่วมในการประชุมรับฟัง ความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 ของโครงการโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี ชุดที่ 1-2 ในครั้งนี้ เพื่อให้ประชาชน ได้ร่วมตรวจสอบความถูกต้องและความครบถ้วนสมบูรณ์ของร่างรายงานฯ รวมถึงได้รับทราบข้อมูล ข้อเท็จจริง พร้อมแสดงข้อคิดเห็น อันแสดงถึงการมีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงการร่วมกับ กฟผ. โดยขอให้ประชาชนที่เข้าร่วมประชุมในวันนี้ช่วยกันซักถาม พร้อมเสนอความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุงเล่มรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการที่เกี่ยวข้องในทุกๆ ด้าน ให้เกิดประโยชน์ต่อชาวสุราษฎร์ธานีมากที่สุด
ด้าน นางศรีวรรณ บูรณโชคไพศาล ผู้ช่วยผู้ว่าการแผนงานโรงไฟฟ้า กฟผ. กล่าวว่า โครงการโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี ชุดที่ 1 และชุดที่ 2 เป็นโรงไฟฟ้าตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 (PDP2018) เพื่อเสริมความมั่นคงของระบบไฟฟ้าของภาคใต้โดยเฉพาะฝั่งอันดามันที่ยังขาดโรงไฟฟ้าหลักในพื้นที่ พร้อมรองรับการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของภาคใต้ ซึ่งจังหวัดสุราษฎร์ธานีเป็นจังหวัดที่มี การใช้ไฟฟ้ามากเป็นอันดับ 3 ของภาคใต้ โดยจะก่อสร้างบนพื้นที่โรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานีเดิม ซึ่งปัจจุบันได้หยุดดำเนินการแล้วเนื่องจากหมดอายุการใช้งานและยังเป็นพื้นที่ที่มีความพร้อมของระบบส่งไฟฟ้าอยู่แล้ว จึงช่วยลดการก่อสร้างระบบส่งไฟฟ้าเพิ่ม ทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้ามีราคาถูกลง โครงการฯ มีขนาดกำลังผลิตติดตั้งสูงสุดประมาณ 1,660 เมกะวัตต์ ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลักและน้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิงสำรอง มีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (Commercial Operation Date: COD) ชุดที่ 1 ในปี 2570 และชุดที่ 2 ในปี 2572 ตามลำดับ นอกจากนี้ โรงไฟฟ้าใหม่จะช่วยสร้างรายได้และอาชีพให้กับท้องถิ่น ตลอดจนได้รับงบประมาณ จากกองทุนพัฒนาไฟฟ้าเพื่อนำไปพัฒนาชุมชนอีกด้วย
ขณะที่นายขรรชัย เกรียงไกรอุดม ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม บริษัท ซีคอท จำกัด กล่าวว่า การจัดรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ บริษัทฯ ได้นำเสนอรายละเอียดโครงการ ผลการศึกษาการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมในทุกมิติ พร้อมเปิดโอกาสให้ประชาชนในพื้นที่ศึกษาโครงการฯ อำเภอพุนพิน จำนวน 6 ตำบล ได้แก่ ต.พุนพิน ต.ท่าข้าม ต.หนองไทร ต.ท่าโรงช้าง ต.เขาหัวควาย ต.ท่าสะท้อน และอำเภอเมือง 1 ตำบล คือ ต.คลองน้อย รวมถึงผู้มีส่วนได้เสียและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมตรวจสอบความถูกต้องและความครบถ้วนสมบูรณ์ของร่างรายงานฯ รวมถึงแสดงข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะเพิ่มเติมจากการจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2562 และการสำรวจและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ในขั้นตอนการประเมินและจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2562 ถึงเดือนเมษายน 2563 ซึ่งบริษัทฯ จะรวบรวมข้อเสนอแนะและข้อห่วงกังวลจากการรับฟังความคิดเห็นฯ ครั้งที่ 2 มาปรับปรุงร่างรายงานและมาตรการฯ ให้มีความเหมาะสม เพื่อจัดทำรายงาน EIA ฉบับสมบูรณ์นำเสนอสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พิจารณาตามขั้นตอนต่อไป
ข่าวน่าสนใจ:
ทั้งนี้ ประชาชนทุกภาคส่วนสามารถแสดงความคิดเห็นต่อเนื่องได้จนถึงวันที่ 20 สิงหาคม 2563 โดยส่งข้อคิดเห็นได้ที่ งานประชาสัมพันธ์โรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี กฟผ. โทรศัพท์ 077-242538 ต่อ 4249 โทรสาร 077-242537 หรือ นางสาวจันทิมา ยะนิล และนางสาวณัชชาวีร์ ชูดวงแก้ว บริษัท ซีคอท จำกัด เลขที่ 239 ถนนริมคลองประปา แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กรุงเทพฯ 10800 โทรศัพท์ 0-2959-3600 ต่อ 410, 412-413 โทรสาร 0-2959-3535 หรือ E-mail: [email protected].
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: