สุราษฎร์ธานี-น่าอัศจรรย์!!ที่ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีมีนกสวยๆ ให้ชมบ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ทางระบบนิเวศน์ มีทั้งต้นไม้ใหญ่ ต้นไม้เล็กหลากหลายสายพันธุ์และยังพบนกเค้าเหยี่ยวสัตว์คุ้มครองอีกด้วย
ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ภายในพื้นที่กว่า 600 ไร่ที่มีความร่มรื่น/ มีต้นไม้ใหญ่ /กระจายตามอาคารต่างๆทำให้ เป็นที่อยู่อาศัย และเป็นแหล่งพักพิงของสัตว์มากมาย โดยเฉพาะนกนานาชนิด มีสีสัน ลำตัวสีสด บางชนิดมีเสียงร้องที่เด่น บางชนิดก็พบเจอได้ยาก ถ้าคนมีความรู้เรื่องนกเมื่อเห็นแล้วจะบ่งบอกได้ว่าเป็นนกชนิดใด พบได้เกือบทั่วทุกแห่งภายในมหาวิทยาลัย มีทั้งกลุ่มนกที่กินน้ำหวานจากเกสรดอกไม้ / กลุ่มนกกินเมล็ดพืช เช่น นกกระติ๊ดขี้หมู นกกระจาบธรรมดา นกกระจอกบ้าน และนกกระจอกตาล สังเกตได้ง่ายๆ ว่ามีขนาดตัวเล็ก สีสันแนวเอิร์ธโทน ออกน้ำตาล ดำ ขาว มีโครงสร้างปากที่สั้นหนา ดูแข็งแรง เหมาะกับการขบกินเมล็ดพืช และจะพบหากินเป็นฝูงเล็กๆ บินอย่างรวดเร็ว
กลุ่มนกน้ำ พบเห็นเป็นครั้งคราวภายในมหาวิทยาลัย บางชนิดอาจแค่หยุดพักชั่วคราวในช่วงเวลาที่อากาศร้อนจัด ทั้งนกประจำถิ่นที่แหล่งอาศัยหลักอยู่บริเวณพื้นที่บึงขุนทะเล บางชนิดเป็นนกอพยพเข้ามาทำรังวางไข่ในประเทศไทย และพบเห็นได้ง่ายในบางช่วงเวลา เช่น นกยางกรอกพันธุ์จีน นกยางโทนน้อย / กลุ่มนกอพยพ พบเป็นครั้งคราวในช่วงเดือนกันยายน ไปจนถึงต้นปี เช่น อีเสือสีน้ำตาล นกหัวโตหลังจุดสีทอง นกยางกรอกพันธุ์จีน เหยี่ยวกิ้งก่าสีดำ นกพญาไฟสีเทา จาบคาหัวสีส้ม จาบคาหัวเขียว นกเด้าดิน เหยี่ยวนกเขาชิครา และนกปากห่าง เป็นต้น/ กลุ่มนกนักล่า เหยี่ยวชนิดต่างๆ นกแสก นกเค้าโมง และนกเค้าเหยี่ยว
ข่าวน่าสนใจ:
และล่าสุดนายศักดิ์นนท์ ศรีฟ้า นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขาวิชาการจัดการทั่วไป คณะวิทยาการจัดการ และเป็นรองนายกองค์การนักศึกษาภาคปกติ ประจำปีการศึกษา 2563 ได้พบนกชนิดหนึ่งมีอาการบาดเจ็บบริเวณปีก ไม่สามารถบินได้ นอนอยู่กลางถนนภายในมหาวิทยาลัย ด้วยความสงสารและเกรงว่าจะไม่ปลอดภัยจากสุนัขหรือสัตว์ชนิดอื่น จึงได้นำนกมาให้นายวราสินธุ์ หยีอาเส็ม หัวหน้างานกิจกรรมและพัฒนานักศึกษา กองพัฒนานักศึกษา เป็นผู้ดูแลอาการเบื้องต้น ด้วยความไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นนกสายพันธุ์อะไร นายวราสินธุ์ จึงได้ถ่ายภาพนกดังกล่าว ส่งไปสอบถามในเพจเฟซบุ๊กกลุ่ม งูไทยอะไรก็ได้ all about Thailand Snake ซึ่งในกลุ่มดังกล่าวมีสมาชิกเป็นเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับพันธุ์สัตว์ชนิดต่างๆ โดยเฉพาะสัตว์ป่าคุ้มครอง และได้มีการประสานจากสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 4 สุราษฎร์ธานี รับเรื่องและประสานทีมงานสัตว์แพทย์ไว้เบื้องต้น ต่อมาทราบว่านกดังกล่าวมีชื่อว่า “นกเค้าเหยี่ยว” เป็นสัตว์ป่าตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 หากผู้ใดมีไว้ในครอบครองจะถือว่าผิดกฎหมาย
ต่อมาอาจารย์กนกอร ทองใหญ่ อาจารย์ประจำสาขาวิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ทราบประสานไปยังสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 4 สุราษฎร์ธานี พร้อมส่งมอบให้สัตวแพทย์ดูแล พบว่ามีอาการบาดเจ็บบริเวณปีก ไม่มีอาการน่าเป็นห่วง นกเค้าเหยี่ยวสามารถกินน้ำและอาหารเองได้ เคลื่อนไหวลำตัวได้ แต่บินไม่ได้ หลังจากนี้จะปฐมพยาบาลให้หายดีเป็นปกติและปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ
อาจารย์กนกอร ทองใหญ่ อาจารย์ประจำสาขาวิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี กล่าวว่าสำหรับนกเค้าเหยี่ยว มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Brown Boobook เป็นนกประจำถิ่น ที่มีลักษณะคล้ายนกเค้าหรือนกฮูก แต่หัวกลมโต ไม่มีวงหน้าชัดเจน หัวและสีน้ำตาลเข้มแกมเทาดำ ตาสีขาว ตาเหลือง ปีกสีน้ำตาลเข้มไม่มีลาย คอและลำตัวด้านล่างมีลายรูปหัวใจเรียงเป็นแทบสีน้ำตาลแดงเข้มสลับขาว หางยาวมีลายแถบสีเข้มสลับอ่อน เป็นนกที่ช่วยรักษาและปรับสมดุลความเป็นธรรมชาติ กินหนู งู และสัตว์ตัวเล็กชนิดต่างๆ เป็นอาหาร อาศัยในพื้นที่ป่าโปร่ง ป่าดิบแล้ง ดิบชื้น และชายป่า นั่นแสดงว่าพื้นที่ภายในมหาวิทยาลัยราชภัฏ สุราษฎร์ธานี ยังคงเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์และมีความหลายทางชีวภาพที่น่าสนใจและมีทรัพยากรสัตว์ที่ควรอนุรักษ์
ซึ่งภายในมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี มีต้นไม้ใหญ่ๆ มีระบบนิเวศน์ที่ดีมาก ทำให้นกนานาชนิด มาอยู่หลากหลาย เป็นที่น่าภาคภูมิใจอย่างมาก.
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: