จังหวัดสุราษฎร์ธานีขับเคลื่อนแนวทางต้านและลดทุจริตด้วยกลไกยุทธศาสตร์ในพื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริต (STRONG : Together against Corruption-TAC)
วันนี้(7มิ.ย.65) ที่ห้องประชุมเมืองคนดี ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดสุราษฎร์ธานี อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี นายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ให้การต้อนรับนายพงษ์ศักดิ์ โชติพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี พร้อมคณะ จากนั้นนายประเวศ ไทยประยูร รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นประธานการประชุมการขับเคลื่อนแนวทางต้านและลดทุจริตด้วยกลไกยุทธศาสตร์ในพื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริต (STRONG : Together against Corruption-TAC) พร้อมด้วยส่วนราชการที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม เพื่อสร้างให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการร่วมกันแก้ไขปัญหาการทุจริตในระดับพื้นที่ และเพื่อนำปัญหาการทุจริตหรือประเด็นความเสี่ยงต่อการทุจริตมาจัดทำเป็นหลักสูตร องค์ความรู้ หรือชุดข้อมูล ที่จำเป็นต่อการป้องกันการทุจริต”) เพื่อนำปัญหาการทุจริตหรือประเด็นความเสี่ยงต่อการทุจริตสู่การกำหนดมาตรการ หรือแนวทางในการป้องกันการทุจริต รวมทั้งแนวทางการติดตามผลการผลักตันมาตรการสู่การปฏิบัติ ที่มีประสิทธิภาพ
สำหรับโครงการต้านและลดทุจริตด้วยกลไกลยุทธศาสตร์เฉพาะกรณีพื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริตพื้นที่ภาค 8 จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งสำนักงาน ป.ป.ช. โดยสำนักส่งเสริมและบูรณาการ การมีส่วนร่วมต้านทุจริต ร่วมกับสำนักงานป.ป.ช. ประจำจังหวัด และสำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 1-9 ได้ร่วมกันดำเนินโครงการ STRONG-จิตพอเพียงต้านทุจริต อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 จนสามารถสร้างกลไกการรวมตัวที่เข้มแข็งของภาคประชาชน ในนามชมรม STRONG ทั่วประเทศ กลายเป็นชุมชนที่รังเกียจการทุจริต และมีการขับเคลื่อนกิจกรรมร่วมกันทั้งในการขยายเครือข่ายเพื่อสร้างกลุ่มคนที่มีความรู้และตระหนักถึงภัยอันตรายจากการทุจริตตามโมเดล STRONG และการรวมตัวกันต่อต้านการทุจริตด้วยการไม่ยอม ไม่ทนไม่เฉยร่วมกันเคลื่อนไหวผลักดันเพื่อนำประเด็นปัญหาไปสู่การแก้ไขได้ด้วยพลังของภาคประชาชน ที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องได้สร้างให้เกิดกระบวนการที่เป็นรูปธรรมในการจับตามองและแจ้งเบาะแส(Watch and Voice) ของภาคประชาชน ทั้งกรณีที่เป็นความเสี่ยงต่อการทุจริต การกระทำผิดกฎหมายตลอดจนการขัดกันของผลประโยชน์ หรือความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ ให้ได้รับการป้องกันหรือระงับยับยั้งได้อย่างทันท่วงที รวมทั้งได้รับการปรับปรุงแก้ไขจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างรวดเร็วผลจากการ มีส่วนร่วมแจ้งเบาะแสของภาคประชาชนชมรม STRONG-จิตพอเพียงต้านทุจริตในทุกพื้นที่ทั่วประเทศได้สะสมเป็นฐานข้อมูลมาบูรณาการร่วมกับข้อมูลอื่นๆ เช่น สถิติคดีและผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ Integrity and Transparency ssessment-ITA เพื่อวางแผน กำหนดแนวทางการปฏิบัติงาน ตลอดจนการดำเนินโครงการและกิจกรรมด้านป้องกันการทุจริตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังมุ่งเน้นการดำเนินงานในลักษณะบูรณาการ การทำงานร่วมกันของหน่วยงานต่างๆ ที่มีภารกิจเกี่ยวข้องและเชื่อมโยงต่อเนื่องกันเพื่อบรรลุผลสัมฤทธิ์ในการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ
ประเด็นเสี่ยงในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี จากการรวบรวมประเด็นความเสี่ยงต่อการทุจริตประจำปี 2565 สำนักส่งเสริมและบูรณาการ การมีส่วนร่วมต้านทุจริต (สสร.) ได้รับข้อมูลประเด็นความเสี่ยงการทุจริตจากสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี และชมรม STRONG-จิตพอเพียงต้านทุจริตจังหวัดสุราษฎธานี เกี่ยวกับการลักลอบดูดทรายใน แม่น้ำสาธารณะ ในพื้นที่ 9 อำเภอ ได้แก่ อำเภอพระแสง อำเภอคีรีรัฐนิคม อำเภอเวียงสระ อำเภอกาญจนดิษฐ์ อำเภอบ้านนาสาร อำเภอพุนพิน อำเภอบ้านตาขุน อำเภอเคียนซา และ อำเภอวิภาวดี จากทั้งหมด 19 อำเภอ ซึ่งมีทั้งผู้ประกอบการที่ขออนุญาตดำเนินการอย่างถูกต้อง และผู้ประกอบการที่มิได้ขออนุญาต ทำให้เครือข่ายภาคประชาชนมีการเผยแพร่ปัญหาดังกล่าวผ่านสื่อออนไลน์อยู่บ่อยครั้ง
กรณีนี้จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องมีการควบคุมการอนุญาตให้ดูดทรายเพื่อป้องกันสภาพแวดล้อมข้างเคียงพื้นที่แหล่งทรายไว้ และหากปล่อยให้มีการดูดทรายกันอย่างเสรี ในอนาคตอาจเกิดปัญหาขาดแคลนทรายตามมา และการอนุญาตให้ดูดทรายโดยมิได้มีการพิจารณาการบริหารจัดการที่ดี จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชน เกิดปัญหาตลิ่งพัง และอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงร่องน้ำทางเรือเดินได้ ปัญหาเหล่านี้เป็นสิ่งที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายต้องดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจอย่างเคร่งครัดเพื่อป้องกันผลกระทบในวงกว้างต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม.
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: