X

เมืองคนดีร่วมกับ RSPO และภาคีพันธมิตรลงนาม MOUยกระดับสู่ต้นแบบเมืองปาล์มน้ำมันยั่งยืน

สุราษฎร์ธานี-จังหวัดสุราษฎร์ธานีร่วมลงนาม MOU ว่าด้วยความร่วมมือในการยกระดับคุณภาพปาล์มน้ำมัน หวังเป็นต้นแบบการจัดการเมืองปาล์มน้ำมันยั่งยืนของประเทศไทย ยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร รับค่าตอบแทนคุ้มค่าและรักษาสิ่งแวดล้อม

วันนี้ (19 ส.ค.65)  ที่อาคารศูนย์ประชุมนานาชาติอุบลรัตนราชกัญญา สหกรณ์สุราษฎร์ธานี จำกัด (โคออป)  อำเภอพุนพิน  จังหวัดสุราษฎร์ธานี  ซึ่งเป็นสถานที่จัดงานปาล์มเม็ค ไทยแลนด์ 2022  โดยนายวิชวุทย์  จินโต  ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี  พร้อมด้วย มิสเตอร์โจเซฟ เดอ ครูช ประธานกรรมการบริหาร RSPO  (Roundtable on Sustainable Palm Oil  เป็น มาตรฐาน การผลิตน น้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนที่ครอบคลุมมิติความยั่งยืนทั้งทางด้านเศรษฐกิจ ด้าน สังคม และด้านสิ่งแวดล้อม) องค์กรเจรจาระหว่างประเทศว่าด้วยปาล์มน้ำมันยั่งยืน  นายกสมาคมชาวสวนปาล์มน้ำมันจังหวัดสุราษฎร์ธานี  ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสุราษฎร์ธานี  ประธานหอการค้าจังหวัดสุราษฎร์ธานี  ผู้แทนมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี  และผู้แทนมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี  ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ ว่าด้วยความร่วมมือในการยกระดับสุราษฎร์ธานี  สู่ เมืองปาล์มน้ำมันยั่งยืน  เพื่อเป็นต้นแบบการจัดการเมืองปาล์มน้ำมันยั่งยืนของประเทศไทย

 

โดยบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding : MOU)  ว่าด้วยความร่วมมือในการยกระดับสุราษฎร์ธานี สู่ เมืองปาล์มน้ำมันยั่งยืน  จัดทำขึ้นภายหลังจากนายวิชวุทย์  จินโต  ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานีเห็นชอบในที่ประชุม เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2565  เรื่องการส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการปาลมน้ำมันอย่างยั่งยืนในจังหวัดสุราษฎร์ธานี  ภายใต้ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการยกระดับสุราษฎร์ธานีเป็นเมืองปาล์มยั่งยืนต้นแบบของประเทศไทย ให้เข้าสู่มาตรฐานการจัดการที่ยั่งยืนและเป็นสากล  แนวทางความร่วมมือและผลักดันเชิงนโยบาย  รวมถึงการร่วมมือกันศึกษาวิจัยและพัฒนาเพื่อให้ปาล์มน้ำมันของจังหวัดสุราษฎร์ธานี และประเทศไทยได้มาตรฐาน RSPO  โดยจากการหารือ สรุปได้ว่าจังหวัดฯ เห็นชอบให้ทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้องสนับสนุนเกษตรกรและผู้ประกอบการผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนในจังหวัดสุราษฎร์ธานี  โดยให้ดำเนินการนำร่องในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอพนม และอำเภอท่าชนะ

ทั้งนี้เมืองปาล์มน้ำมันยั่งยืน (Sustainable Oil Palm City) หมายถึง พื้นที่ที่มีกระบวนการผลิตปาล์มน้ำมันตั้งแต่สวนปาล์ม ลานเท โรงสกัด โรงกลั่นและแปรรูปผลิตภัณฑ์ รวมถึงการค้าขายส่งออก ตลอดห่วงโซ่  การผลิตที่มีการปฏิบัติดำเนินงานเป็นที่ยอมรับและรับรองตามข้อกำหนดของมาตรฐานปาล์มน้ำมันยั่งยืนสากล

นายวิชวุทย์  จินโต  ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี  กล่าวว่า  ปัจจุบันประเทศไทย เป็นประเทศผู้ผลิตปาล์มน้ำมันอันดับ 3 ของโลก ซึ่งมีพื้นที่ปลูก 4.5 ล้านไร่ รองจากอินโดนีเซีย และมาเลเซีย โดยกว่าร้อยละ 70 ผู้ผลิตปาล์มน้ำมันของไทยเป็นเกษตรกรรายย่อย ซึ่งพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันส่วนใหญ่อยู่ในภาคใต้  โดยสุราษฎร์ธานี นับเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ปลูกปาล์มมากที่สุดในประเทศ  และเป็นพื้นที่ปลูกปาล์มที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน RSPO จำนวนกว่า 1 แสนไร่ คิดเป็นร้อยละ 8 ของพื้นที่ปลูกปาล์มทั้งหมดในจังหวัด  ซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมที่จะเป็นต้นแบบเมืองปาล์มน้ำมันยั่งยืนของประเทศไทย

 

ด้าน มิสเตอร์โจเซฟ เดอ ครูช ประธานกรรมการบริหาร RSPO  ได้สะท้อนถึงความสำคัญของความร่วมมือนี้ว่าโลกกำลังเผชิญกับปัญหาราคาอาหารที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อประเทศด้อยพัฒนาและกำลังพัฒนา ดังนั้นการเพิ่มความร่วมมือระหว่างประเทศกับองค์กรสากลเพื่อร่วมกันหาทางออกที่ดีขึ้นได้เป็นสิ่งสำคัญ “ความร่วมมือของภาคีพันธมิตรนี้ ถือเป็นก้าวที่สำคัญที่จะเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในท้องถิ่นมีการประสานร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐเพื่อมุ่งสู่วิถียั่งยืนและการนำไปสู่แนวทางปฏิบัติที่ดี ในขณะที่สามารถควบคุมผลกระทบด้านลบของการปฏิบัติที่ไม่ยั่งยืน นอกจากนี้ยังช่วยให้มีแนวทางในการแก้ปัญหาความยั่งยืนในระดับรากหญ้า เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรและแบ่งปันความเชี่ยวชาญภายในเขตการปกครองนั้นๆอีกด้วย” ประธานกรรมการบริหาร RSPO กล่าว.

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน