สุราษฎร์ธานี-รมช.กระทรวงสาธารณสุขตรวจเยี่ยมการดำเนินงานโครงการสุราษฎร์ธานีสมุนไพรและร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนาม MOU การรับซื้อสมุนไพรฟ้าทลายโจร ขมิ้นชัน ระหว่างกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุราษฎร์ธานี
เมื่อเวลาประมาณ 10.30 น.วันที่ (20 ม.ค. 66 ) นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมคณะลงพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี โดยในช่วงเช้าลงพื้นที่โรงพยาบาลท่าฉาง อ.ท่าฉาง ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานโครงการสุราษฎร์ธานีสมุนไพรและร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนาม MOU การรับซื้อสมุนไพรฟ้าทลายโจร ขมิ้นชัน ระหว่างกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุราษฎร์ธานี
โดยเป้าหมายการพัฒนางานแพทย์แผนไทย จังหวัดสุราษฎร์ธานี “Suratthani Herbal City Model”ประกอบด้วย 1.มีหมอดีคือรักษาโรคได้จริง จับชีพจรในการวินิจฉัยโรค จ่ายยาปรุงเฉพาะราย 2.ยาดี คือยาสมุนไพรมีคุณภาพ เช่นขมิ้นชัน ,ยาเหลืองสุราษฎร์ แผ่นแปะรักษาข้อเข่าเสื่อม 3.บริการดี ด้านอัมพฤกษ์อัมพาต เบาหวาน ความดัน 4.เครือข่ายดี กระเป๋ายาสมุนไพร ,สมุนไพรริมรั้ว และ 5.ประชาชนมั่งมี โดยมีรายได้จากการปลูกสมุนไพร ผลิตภัณฑ์ สุขภาพที่เพิ่มขึ้น บูรณาการผลิตภัณฑ์สมุนไพรเข้าสู่การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ภายในปี 2567
สำหรับรายการสมุนไพรของจังหวัดสุราษฎร์ธานีประกอบด้วยโรงผลิตยาท่าฉาง แผนประมาณการปี 2566 งบประมาณ 13,979,670.00 บาท โรงแปรรูปมะขามเตี้ย แผนประมาณการปี 2566 จำนวน 6,031,535.00 บาทและมูลค่าการใช้ยาสมุนไพรจังหวัดสุราษฎร์ธานีในปี 2565 จำนวน 32,497,683.77 บาท งบประมาณปี 2566 จำนวน 8,145,314.24 บาท ซึ่งต้นทุนการผลิตสมุนไพรในจังหวัดสุราษฎร์ธานีสูงกว่าที่อื่น 2-3 เท่าตัวเพราะมีสารสำคัญที่สูงกว่าภูมิภาคอื่นๆโดยเฉพาะขมิ้นชันและฟ้าทลายโจร เป็นต้น และการพัฒนาการผลิตยาสมุนไพรในรูปแบบสารสกัด สามารถเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์สมุนไพรและสามารถแข่งขันในด้านการตลาดได้
ด้านนายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ทางกระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายการส่งเสริมในพื้นที่ต่างๆเพื่อผลิตยาสมุนไพรใช้เองและตอนนี้หรืออนาคตการผลิตยังมีปริมาณไม่เพียงพอกับความต้องการ ซึ่งการปลูกสมุนไพรต้องเชื่อมโยงกับการผลิต และสามารถสร้างรายได้ โดยเฉพาะเมืองท่องเที่ยว ข้อดีของสมุนไพรไทยไม่มีการแข่งขันมากนัก และ จ.สุราษฎร์ธานีสามารถเป็นต้นแบบสมุนไพรไทยสามารถไปทำในหลายๆที่และสามารถสร้างรายได้อย่างมากและยั่งยืนในอนาคต.
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: