เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี เป็นเขื่อนอเนกประสงค์ที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิด เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2514 และวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 เขื่อนสิรินธรจึงมีอายุครบ 48 ปี ที่ได้ผลิตไฟฟ้า พัฒนาอาชีพ พัฒนาชุมชน อำนวยประโยชน์ด้านการชลประทาน ป้องกันอุทกภัย ส่งเสริมการประมง อีกทั้งยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งหนึ่งของ จ.อุบลราชธานี และเป็นต้นกำเนิดของโครงการ “เขื่อนสิรินธรโมเดล” เป็นโครงการที่ส่งเสริมเรื่องอาชีพให้แก่ชุมชน สร้างรายได้ และทำให้ชุมชนพึ่งพาตนเองแบบยั่งยืน
โครงการ “เขื่อนสิรินธรโมเดล” เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2559 ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจของ อดีตผู้ว่าการ กฟผ. นายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ ที่น้อมนำศาสตร์พระราชาจากต้นแบบ “ดอยตุงโมเดล” มาสร้างคุณค่าให้แก่ชุมชน สังคม และประเทศชาติ โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาอาชีพ สร้างรายได้ แก้ไขปัญหาความยากจน โดยกำหนดแผนปฏิบัติการศึกษาโครงการดอยตุงโมเดลขึ้น แล้วนำมาประยุกต์ใช้ในเขื่อนและโรงไฟฟ้าของ กฟผ. โดยเริ่มใช้ที่เขื่อนสิรินธรเป็นแห่งแรก เป็นความร่วมมือของผู้ปฏิบัติงาน และตัวแทนชุมชน รวมทั้งสถาบันการศึกษา และภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน เน้นให้ชุมชนได้เรียนรู้จากการปฏิบัติจริง และตั้งเป้าหมายไว้ว่า รายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนของชุมชนที่โครงการให้การสนับสนุน จะต้องเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 ภายในระยะเวลา 10 ปี
ภายใต้ความมุ่งมั่นและการปฏิบัติตาม 6 ข้อหลัก คือ
1.การปรับ Mindset ของผู้ปฏิบัติงานและชุมชนในพื้นที่
2.การจัดทำศูนย์เรียนรู้ เพื่อเป็นต้นแบบให้ชาวบ้านมาศึกษาลงมือปฏิบัติ
3.การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว สร้างอาชีพ และรายได้เข้าสู่ชุมชน
4.การสร้างตลาด รองรับผลิตภัณฑ์ของชุมชน ทั้งตลาดในพื้นที่ และตลาดบนโลกออนไลน์ เช่น ตลาดโดมน้อยในเขื่อนสิรินธร ที่จำหน่ายสินค้าชุมชน ทั้งผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่ ผ้าฝ้ายทอมือ ผ้าถุงพิมพ์ลาย ปลาส้ม ปลาแก้ว
5.การบริหารเครือข่ายกับหน่วยงานต่าง ๆ เช่น กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กรมปศุสัตว์ กรมประมง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
6.การก่อกำเนิดโครงการที่เห็นผลสำเร็จเร็ว (Quick Win Project) ซึ่งปัจจุบันได้ดำเนินอย่างเป็นรูปธรรมไปแล้ว 5 โครงการ คือ โครงการแปรรูปปลาส้มปลาแก้วบ้านโชครังสรรค์ โครงการข้าวอินทรีย์บ้านโคกเที่ยง โครงการแปรรูปเม็ดมะม่วงหิมพานต์บ้านสุขสำราญ โครงการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่บ้านคำมันปลา และโครงการเลี้ยงแพะบ้านคำวังยาง
48 ปี ของเขื่อนสิรินธร และการก้าวสู่ปีที่ 4 ของโครงการเขื่อนสิรินธรโมเดล รวมถึงความสำเร็จของการดำเนินงาน ทั้ง 5 โครงการ เกิดจากพลังของการสร้างภาคีเครือข่าย การให้ความรู้ การพัฒนาร่วมกัน ผลลัพธ์ที่ได้ คือ สินค้า OTOP ของชุมชน ทำให้ชุมชนมีงานทำ มีรายได้ และมีการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ในอนาคต กฟผ.ยังคงมุ่งมั่น ในการสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน การดูแลระบบผลิตและระบบส่งไฟฟ้า เพื่อความสุขของคนไทย เพื่อให้คนไทยมีชีวิตที่ดีกว่า ควบคู่กับการพัฒนาโครงการเขื่อนสิรินธรโมเดล เพื่อสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับชุมชน และและทำให้ชุมชนพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: