โลกกำลังหันกลับมามองมนุษย์ และส่งสัญญาณถึงความไม่พอใจ ในพฤติกรรมการดำรงชีวิตแสนสะดวกสบาย ผ่านการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติมากมาย หลายเมืองที่เคยมีอากาศดีเย็นสบาย ก็กลายเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยฝุ่นควันและร้อนขึ้นเรื่อย ๆ ทุกปี แม่น้ำหลายสายที่เคยใสสะอาดมองเห็นฝูงปลาแหวกว่าย ก็กลับเต็มไปด้วยกองขยะและขุ่นมัวจนมองไม่เห็นตัวปลา สัตว์ป่าสัตว์ทะเลที่เคยอุดมสมบูรณ์ ก็ค่อย ๆ ล้มหายตายจาก จนกระทั่งสูญพันธุ์ลงไปในที่สุด
“ทะเลที่บ้านเราก็เหมือนกัน ตามซอกปะการังเริ่มมีเพื่อนแปลกหน้ามาอาศัยอยู่ด้วย บางตัวใส ๆ ลอยไปลอยมาเหมือนกับแมงกะพรุน บางตัวแข็ง ๆ รูปร่างเหมือนปลากระบอกตัวตัน ๆ บางตัวก็เรียวยาวเหมือนกับปลาเข็ม พวกนั้นพากันอพยพย้ายถิ่นฐานมาอยู่ที่บ้านเราเต็มไปหมด ไม่รู้มาจากไหน พ่อแม่เราบางตัวเริ่มตายลง จากการจับเพื่อนแปลกหน้ากินเข้าไป ว่ากันว่า มนุษย์เรียกเพื่อนแปลกหน้าพวกนี้ว่า พลาสติก” ส่วนหนึ่งของสารจากเพื่อนใต้ท้องทะเล
หากคุณได้อ่านสารจากพะยูนน้อยมาเรียมแล้ว คุณรู้สึกอย่างไรบ้าง?
มนุษย์คิดค้นและสร้าง “พลาสติก” ขึ้นมาเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว เพื่อนำมาใช้แทนวัสดุจากธรรมชาติ มนุษย์ต่างลิงโลดและดีใจกับการค้นพบครั้งใหม่นั้น และหวังว่า พลาสติก จะช่วยเปลี่ยนโลกให้น่าอยู่ขึ้น แต่ตอนนี้ พลาสติกที่เคยเป็นความหวัง กลับกลายเป็นฝันร้ายของโลกทั้งใบ เพราะการย่อยสลายพลาสติกเพียง 1 ชิ้น จะต้องใช้เวลายาวนานกว่าหลายร้อยปี
ชาวจังหวัดกระบี่ ที่ขึ้นชื่อว่ามีธรรมชาติและท้องทะเลสวยที่สุดแห่งหนึ่งของโลก วันนี้ ชาวกระบี่กำลังตื่นตัวและตระหนักถึงปัญหาของขยะพลาสติก ที่ส่งผลกระทบต่อวงจรชีวิตสัตว์และพืชทะเล รวมไปถึงความงดงามของธรรมชาติใต้ท้องทะเล ซึ่งเป็นแหล่งดำน้ำระดับโลก ที่นักท่องเที่ยวจากหลากหลายประเทศเดินทางมาสัมผัส เดือนละไม่ต่ำกว่าหนึ่งแสนคน รวมปีละกว่าหนึ่งล้านคน
จังหวัดกระบี่ วางนโยบาย KRABI GOES GREEN เพื่อแสดงเจตนารมณ์ในด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน จัดกิจกรรมรณรงค์ให้ชาวกระบี่ นักท่องเที่ยว และประชาชนทั่วไป งดใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งและโฟม ในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวทางทะเลของจังหวัดกระบี่ ครอบคลุมพื้นที่ 3 อุทยานแห่งชาติทางทะเล ได้แก่ อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา และอุทยานแห่งชาติธารโบกขรณี รวมพื้นที่เกาะทั้งหมด 8 เกาะ ได้แก่ เกาะปอดะ เกาะไก่ เกาะหม้อ เกาะทับ เกาะห้อง เกาะเหลาลาดิง เกาะผักเบี้ย และเกาะรอก
โดยจะมีการจัดพิธีเปิดกิจกรรมรณรงค์ฯ และประกาศเจตนารมณ์ของจังหวัดกระบี่ พร้อมแถลงข่าวแก่สื่อมวลชน โดยมี ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่เป็นประธาน ในวันที่ 6 ธันวาคม 2562 เวลา 8.00 – 12.00 น. ณ อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี พร้อมจัดนิทรรศการด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม กิจกรรมจิตอาสาเก็บขยะบริเวณหาดนพรัตน์ธารา และกิจกรรมปล่อยตัวทีมนักประดาน้ำของ กฟผ. ซึ่งร่วมสนับสนุนการเก็บขยะใต้ทะเลบริเวณทะเลแหวกกว่า 30 คน
หลายคนอาจไม่ทราบว่า หน่วยงานด้านพลังงานอย่าง กฟผ. จะมีนักประดาน้ำรวมเกือบร้อยชีวิต ซึ่งล้วนเป็นเจ้าหน้าที่ที่เชี่ยวชาญ และมีทักษะความเชี่ยวชาญในวิชาชีพช่าง ทั้งช่างเชื่อมโลหะ ช่างไฟฟ้า ช่างโยธา ฯลฯ ได้อีกด้วย เพราะหนึ่งในภารกิจสำคัญของ กฟผ. นอกจากการผลิตไฟฟ้าแล้ว คือ ภารกิจการบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าและเขื่อนของ กฟผ.
เชื่อหรือไม่ว่า นักประดาน้ำ กฟผ. สามารถปฏิบัติภารกิจใต้น้ำได้อย่างชำนาญ ทั้ง ๆ ที่มีข้อจำกัดมากมาย ไม่ว่าจะพื้นที่ในการทำงานที่ แคบ ลึก และมืดจนมองไม่เห็นอะไรเลยแม้แต่เพื่อนร่วมงาน ความหนาวเย็นของอุณหภูมิน้ำที่มีผลต่อร่างกายวินาทีต่อวินาที รวมทั้งเวลาในการทำงานที่จำกัด การปฏิบัติงานแต่ละครั้ง ทุกคนจะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยในการทำงานเป็นหลัก ดังนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดของนักประดาน้ำ กฟผ. คือ ความพร้อมของร่างกายและจิตใจ ความเชี่ยวชาญในการใช้ประสาทสัมผัสด้วยมือ และการทำงานร่วมกันเป็นทีม
ทั้งหมดเกิดขึ้นได้จริง ก็เพราะว่า นักประดาน้ำ กฟผ. ทุกคน จะต้องผ่านการอบรมหลักสูตรนักประดาน้ำ จากครูฝึกผู้จบหลักสูตรนักทำลายใต้น้ำจู่โจม (SEAL) ของกองทัพเรือ แต่ละคนจะต้องผ่านการทดสอบร่างกายอย่างเข้มงวด ผู้ที่มีร่างกายแข็งแรงพร้อมเท่านั้นจึ งจะได้รับคัดเลือกให้เป็นนักประดาน้ำ กฟผ. และต้องผ่านการฝึกอบรมทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติเป็นเวลา 1 เดือนเต็ม ลงดำน้ำจริง ทั้งน้ำจืด น้ำทะเล ต้องฝึกทั้งช่วงเวลากลางวันและกลางคืน นับเป็นความท้าทายอย่างมาก ไม่เพียงเท่านั้น หลังจากการฝึก 1 เดือนแรกผ่านไป ผู้ที่ได้รับหน้าที่เป็นนักประดาน้ำ ยังต้องฝึกฝนหลักสูตรเพิ่มเติม อาทิ หลักสูตรปฏิบัติงานใต้น้ำ หลักสูตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางน้ำ หลักสูตรการฝึกใช้อุปกรณ์เต็มรูปแบบ เพื่อเพิ่มทักษะให้สามารถรองรับภารกิจที่ยากและท้าทายขึ้นได้
นอกจากนี้ นักประดาน้ำทุกคนจะได้รับการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุก 6 เดือน และตรวจสุขภาพ ก่อน-หลังการปฏิบัติงานทุกครั้ง หากมีการดำลึกกว่า 20 เมตร เพราะเจ้าหน้าที่ทุกท่านจะต้องปฏิบัติภารกิจที่มีความเสี่ยงตลอดทั้งปี
นายนัฐวุธ พิริยะจิตตะ ผู้อำนวยการฝ่ายบำรุงรักษาเครื่องกล กฟผ. กล่าวว่า กฟผ. เชื่อมั่นในศักยภาพของนักประดาน้ำ ว่ามีความสามารถในการดำน้ำด้วยความเป็นมืออาชีพ และมีความปลอดภัยสูง เมื่อทราบถึงนโยบาย KRABI GOES GREEN ของจังหวัดกระบี่ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายด้านการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมของ กฟผ. จึงร่วมสนับสนุนทีมนักประดาน้ำจำนวน 30 คน เข้าร่วมกิจกรรมดำน้ำเก็บขยะใต้ทะเล ในวันที่ 6 ธันวาคมนี้ เพื่อร่วมสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี ให้แก่แหล่งท่องเที่ยวของประเทศ ให้ยังคงความงดงามและสมบูรณ์ตลอดไป
นักประดาน้ำ กฟผ. เคยได้รับความไว้วางใจจากหน่วยงานภายนอก ในการช่วยเหลือและสนับสนุนภารกิจการค้นหาต่าง ๆ เช่น การค้นหาสายเคเบิ้ลใต้น้ำ ร่วมกับ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ในเหตุการณ์สายเคเบิ้ลใต้น้ำขาดที่เกาะสมุย การร่วมเก็บกู้เสาไม้ของสะพานมอญล้มพังลง จากน้ำป่าไหลหลากที่ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี และล่าสุด การช่วยเหลือทีมหมูป่าอะคาเดมี่ ออกจากวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงราย
กฟผ. ขอเป็นส่วนหนึ่งที่จะร่วมดูแลและรักษาทะเลกระบี่ ให้งดงามอยู่คู่กับคนไทยและประเทศไทยตลอดไป …
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: