การเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช ๒๕๖๒
การเสด็จพระราชดำเนินของพระมหากษัตริย์ไทยนับแต่โบราณ นอกจากการเสด็จพระราชดำเนินทางบก ที่เรียกว่า “พยุหยาตราทางสถลมารค” แล้ว ยังมีการเสด็จพระราชดำเนินทางน้ำ ที่เรียกว่า “พยุหยาตราทางชลมารค” การจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย และสืบทอดต่อกันมาถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์
ในยามบ้านเมืองปราศจากศึกสงคราม ได้ใช้เรือรบเหล่านี้ตกแต่งอย่างสวยงาม มีการประโคมดนตรีไปในขบวนเพื่อให้เกิดความเพลิดเพลิน สนุกสนาน ความฮึกเหิม และเป็นการฝึกซ้อมกำลังพลฝีพายด้วยเช่นกัน
ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เป็นริ้วขบวนเรือพระราชพิธีที่จัดขึ้นสำหรับพระเจ้าอยู่หัว ในการเสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ และประกอบในพระราชพิธีสำคัญต่าง ๆ เช่น พระราชพิธีถวายผ้าพระกฐิน พระราชพิธีบรมราชาภิเษก
การจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช ๒๕๖๒ เป็นพิธีเบื้องปลาย มีการจัดรูปขบวนเรือพระราชพิธี จํานวน ๕๒ ลํา กําลังพลฝีพาย จํานวน ๒,๒๐๐ นาย แบ่งออกเป็น ๕ ริ้ว ๓ สาย ดังนี้
ริ้วสายกลาง ซึ่งเป็นเรือสายสำคัญประกอบด้วย เรือพระที่นั่ง ๔ ลำ มีเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณรัชกาลที่ ๙ และเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ นอกจากนี้ ยังมีเรืออีเหลืองเป็นเรือกลองนอก เรือแตงโมซึ่งเป็นเรือของผู้บัญชาการขบวนเรือเป็นเรือกลองใน พร้อมด้วย เรือตำรวจนอกและเรือตำรวจ
ริ้วสายใน ขนาบข้างสายเรือพระที่นั่งมีเรือทองขวานฟ้าและเรือทองบ้าบิ่น เป็นเรือประตูหน้าเรือเสือทยานชล และเรือเสือคำรณสินธุ์ เป็นเรือพิฆาตเรือรูปสัตว์ ๘ ลำ ปิดท้ายริ้วสายใน ด้วยเรือเอกไชยเหินหาวและเรือเอกไชยหลาวทอง ซึ่งเป็นเรือคู่ชัก
ริ้วสายนอก ประกอบด้วย เรือดั้งและเรือแซง สายละ ๑๔ ลำ
เรือพระราชพิธี ทั้ง ๕๒ ลํา ทำจากไม้ มีอายุในการสร้างมาก โดยเฉพาะเรือพระที่นั่ง ทั้ง ๓ ลํา ซึ่งเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ สร้างในรัชกาลที่ ๕ มีอายุกว่า ๑๐๒ ปี, เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ สร้างในรัชกาลที่ ๕ แล้วเสร็จสิ้นในรัชกาลที่ ๖ มีอายุ ๑๐๘ ปี และเรือพระที่นั่งอนันตนาคราช สร้างในรัชกาลที่ ๖ มีอายุ ๙๕ ปี ส่วนเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙ สร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๙ มีอายุ ๒๓ ปี สำหรับเรืออื่น ๆ ในขบวน โดยเฉพาะเรือรูปสัตว์แต่ละลํา มีอายุการสร้างนับร้อยปี
สำหรับบทเห่เรือ ประพันธ์ขึ้นใหม่ ๓ องก์ โดยนาวาเอกทองย้อย แสงสินชัย ศิลปินแห่งชาติ โดยมีนาวาเอกณัฏวัฒน์ อร่ามเกลื้อ เป็นผู้เห่เรือ
เครื่องแต่งกายฝีพายยึดถือรูปแบบเดิมตามโบราณราชประเพณี
ทั้งนี้ ประชาชนจะได้สัมผัสบรรยากาศความงดงามของประเพณีและวัฒนธรรมไทย ของริ้วขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันยิ่งใหญ่ของชาติเพียงแห่งเดียวของโลก
ขอเชิญชวนประชาชนเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ในการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช ๒๕๖๒
โดยเส้นทางเสด็จพระราชดําเนิน เป็นเส้นทางเดียวกับที่เคยใช้มาตั้งแต่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร คือ จากท่าวาสุกรี ถึง ท่ามหาราช ในวันพฤหัสบดีที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๖๒ โดยพร้อมเพรียงกัน
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบ จาก : เว็ปไซต์ กองทัพเรือ https://www.navy.mi.th/index.php/today/detail/content_id/17872
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: