นครราชสีมา – นักวิ่งชาวไทยและชาวต่างชาติ 4,500 คน หลั่งไหลประลองฝีเท้า ท้าลมหนาว ท่ามกลางอ่างเก็บน้ำและทุ่งกังหันลม ในแหล่งอากาศบริสุทธิ์ติดอันดับโลก ที่โรงไฟฟ้าลำตะคอง ในการแข่งขัน วิ่งโคราชฮาล์ฟมาราธอนลอยฟ้า 2019 ซึ่งจัดต่อเนื่อง เป็นครั้งที่ 8
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมกับ จังหวัดนครราชสีมา และพันธมิตร จัดการแข่งขัน ‘โคราชฮาล์ฟมาราธอนลอยฟ้า 2019’ ชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา เพื่อส่งเสริมกิจกรรมการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ ตลอดจนประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวจังหวัดนครราชสีมา ให้เป็นที่รู้จัก โดยมี นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานในพิธีเปิดการแข่งขัน และมีนายจรัสชัย โชคเรืองสกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วย นายณัฐวุฒิ แจ่มแจ้ง รองผู้ว่าการผลิตไฟฟ้า กฟผ. ส่วนราชการ เอกชน และประชาชน ร่วมงาน
การแข่งขันโคราชฮาล์ฟมาราธอนลอยฟ้า ปีนี้ จัดขึ้นต่อเนื่อง เป็นครั้งที่ 8 มีนักวิ่งทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ มากถึง 4,500 คน เข้าร่วมแข่งขัน เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2562 ณ อ่างพักน้ำตอนบนโรงไฟฟ้าลำตะคอง ชลภาวัฒนา บ้านเขายายเที่ยงเหนือ ต.คลองไผ่ อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา
นักแข่งประเภทฮาล์ฟมาราธอน ที่เข้าเส้นชัยเป็นอันดับแรก ชาวไทยได้รับรางวัลถ้วยพระราชทานฯ พร้อมเงินสด คนละ 15,000 บาท ส่วนชาวต่างชาติได้รับรางวัลถ้วยเกียรติยศ พร้อมเงินสด คนละ 15,000 บาท โดยมีผู้ได้รับรางวัล ดังนี้
– ประเภทชาวไทยทั่วไป ชาย คือ สุทัศน์ กัลยาณกิตติ สถิติ 01 ชั่วโมง 21 นาที 53 วินาที
– ประเภทชาวไทยทั่วไป หญิง คือ โชติกา ไชยธานี สถิติ 01 ชั่วโมง 47 นาที 09 วินาที
– ประเภทนานาชาติทั่วไป ชาย คือ Julius Mutai (จูเลียส มูไท) สถิติ 01 ชั่วโม 22 นาที 01 วินาที
– ประเภทนานาชาติทั่วไป หญิง คือ Dorcas Jebotip Tarus (ดอแคส เจโบทิบ ทารัส) สถิติ 01 ชั่วโมง 35 นาที 35 วินาที
รายได้หลังหักค่าใช้จ่ายบางส่วน จะนำไปสนับสนุนกิจกรรมเพื่อสังคมของหน่วยงานต่าง ๆ ในพื้นที่ต่อไป
ในงานยังมีการออกร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน สินค้าขึ้นชื่อของ อ.ปากช่อง และ อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา
เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งเสริมอาชีพ และสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนในพื้นที่
โรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา มีขนาดกำลังผลิต 1,000 เมกะวัตต์ เป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าที่สำคัญของพื้นที่
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับใต้ดินแห่งแรกและแห่งเดียวของประเทศไทย ที่สูบน้ำจากเขื่อนลำตะคอง ไปพักไว้ที่อ่างพักน้ำตอนบน ในช่วงที่มีความต้องการใช้กระแสไฟฟ้าน้อย แล้วปล่อยน้ำลงมาเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าในช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง ควบคู่กับการผลิตไฟฟ้าจากกังหันลมผลิตไฟฟ้า จำนวน 14 ต้น รวมกำลังผลิต 26.5 เมกะวัตต์ ทั้งยังมีศูนย์การเรียนรู้ กฟผ.ลำตะคอง เพื่อเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ด้านพลังงานแห่งใหม่สำหรับประชาชนทั่วไป ซึ่งจะเปิดอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 25 ธันวาคม 2562
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: