X

อัญมณีแท้? พิสูจน์แค่เครื่องมือไม่พอ ต้องอาศัยมืออาชีพ!

กรุงเทพฯ – ครั้งแรก! มาตรฐานวิชาชีพอัญมณี เครื่องประดับ และโลหะมีค่า สคช.-GIT หวังยกระดับคนในอาชีพ และระบบตรวจสอบอัญมณีไทย

17 ธันวาคม 2562 นายนพดล ปิยะตระภูมิ รักษาการแทน ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) หรือ สคช. และนางสาวจุลลดา มีจุล รองผู้อำนวยการ สคช. ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ‘การยกระดับสมรรถนะบุคคลในสาขาวิชาชีพอัญมณี เครื่องประดับ และโลหะมีค่า’ ร่วมกับ สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT จัดทำมาตรฐานอาชีพคุณวุฒิวิชาชีพสาขาอัญมณีและเครื่องประดับ อาชีพนักอัญมณีศาสตร์ และอาชีพนักโลหะศาสตร์ เนื่องจากไทยเป็นตลาดอัญมณีและเครื่องประดับอันดับต้น ๆ ของโลก มีธุรกิจห้องปฏิบัติการตรวจสอบอัญมณีและเครื่องประดับหลายแห่ง แต่ยังไม่มีหน่วยงานใดจัดทำมาตรฐานห้องปฏิบัติการฯ เพื่อควบคุมรูปแบบ คุณภาพระบบการทำงาน และความสามารถในการทำงานของคนในอาชีพเหล่านี้มาก่อน ทั้งที่มีความเสี่ยงเกิดความเสียหายต่อภาพลักษณ์ของประเทศ ถ้าสินค้าไม่ได้คุณภาพ

นายนพดล รักษาการแทน ผอ.สคช. ระบุว่า ระบบคุณวุฒิวิชาชีพเป็นเรื่องสำคัญ คนไทยมีความสามารถ เก่งหลายด้าน แต่หลายอาชีพยังไม่มีมาตรฐาน ผ่านการรับรองจากหน่วยงานภาครัฐ ทำให้เป็นมืออาชีพที่ไร้ตัวตนในสายตาต่างชาติ ที่ให้ความสำคัญใบรับรองจากหน่วยงานที่เชื่อถือได้ สคช.จึงมีหน้าที่เข้ามาเติมเต็ม จัดทำมาตรฐานอาชีพผ่านผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาอาชีพ ที่มาร่วมกันวิเคราะห์ วิจัย กำหนดเป็นมาตรฐานขึ้น เพื่อรับรองความสามารถ ยืนยันความเป็นมืออาชีพ ลงสู่สนามตลาดแรงงานที่มีการแข่งขันสูงได้อย่างมั่นใจ

ด้านนางดวงกมล เจียมบุตร ผู้อำนวยการ GIT เกิดเผยว่า แต่ละปี GIT พัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมมากกว่า 1,500 คน ทั้งด้านการตรวจสอบและออกใบรับรองคุณภาพสินค้าอัญมณีและโลหะมีค่า แม้เทคโนโลยีอุปกรณ์ในห้องปฏิบัติการจะมีความก้าวล้ำ แต่สุดท้ายยังต้องอาศัยคน ซึ่งเป็นผู้วิเคราะห์ประมวลผลอัญมณีเหล่านั้น ว่าเป็นของแท้จริงหรือไม่ อย่างไร ซึ่งต้องอาศัยความแม่นยำของผู้เชี่ยวชาญ ที่มีความรู้ความสามารถ กระทั่งนำไปสู่การสรุปและออกใบรับรองคุณภาพสินค้า หากขาดความเชี่ยวชาญอาจส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ และความเชื่อมั่นในการซื้อขาย แต่จนถึงเวลานี้ ยังไม่เคยมีการกำหนดมาตรฐานอาชีพมาก่อน จึงเป็นเรื่องที่ดีที่ สคช.ให้ความสำคัญ ร่วมกันจัดทำมาตรฐานอาชีพคุณวุฒิวิชาชีพสาขาอัญมณีและเครื่องประดับ อาชีพนักอัญมณีศาสตร์ และอาชีพนักโลหะศาสตร์

ประเทศไทย เป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่สำคัญของโลก มีมูลค่าการส่งออกเครื่องประดับเป็นอันดับที่ 14 ส่งออกพลอยสีเป็นลำดับที่ 3 รองจากสหรัฐอเมริกาและฮ่องกง โดยสินค้าส่งออกสำคัญสูงสุด คือ ทองคำ รองลงมา คือ พลอยเนื้ออ่อน และพลอยเนื้อแข็งเจียระไน ตามลำดับ ทำรายได้เข้าประเทศสูงถึงปีละเกือบ 1 ล้านล้านบาท

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of ลักขณา สุริยงค์

ลักขณา สุริยงค์

ทำหน้าที่สื่อมวลชนมาเกือบ 30 ปี ทั้งงานสายข่าวและจัดรายการทีวี-วิทยุมานับไม่ถ้วน "ไม่เป็นกลาง แต่เป็นธรรม พร้อมนำเสนอความจริง"