นนทบุรี – ทีมนักประดิษฐ์-นักวิจัย กฟผ. โชว์ศักยภาพด้านนวัตกรรม ในการประกวดสิ่งประดิษฐ์เวที SIIF 2019 ณ กรุงโซล คว้ารางวัลสูงสุด (Grand Prize) พร้อมรางวัลเหรียญทอง เหรียญเงิน เหรียญทองแดง รวม 7 รางวัล และผลงานเยาวชนโครงการ Move World Together เพื่อพลังงานและสิ่งแวดล้อมที่ กฟผ. สนับสนุน คว้าอีก 3 รางวัล รวม 10 รางวัล
ดร.จิราพร ศิริคำ ผู้ช่วยผู้ว่าการวิจัย นวัตกรรม และพัฒนาธุรกิจ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ. คว้า 10 รางวัล จากการเข้าร่วมประกวดและจัดแสดงผลงาน เวที ‘Seoul International Invention Fair 2019’ (SIIF 2019) ครั้งที่ 17 ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 27–30 พฤศจิกายน 2562 ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการวิจัยแห่งชาติ (วช.) นำคณะวิจัยและนักประดิษฐ์ไทย รวมทั้ง กฟผ. เข้าประกวดและจัดแสดงผลงาน ร่วมกับนักวิจัยและนักประดิษฐ์จากทั่วโลก รวม 27 ประเทศ กว่า 600 ผลงาน
ผลงานที่ กฟผ. ได้รับรางวัลจากเวที SIIF 2019 ครั้งนี้ เป็นผลงานสิ่งประดิษฐ์คิดค้น ที่เคยได้รับรางวัลชมเชย จากการประกวดผลงานที่คิดค้นหรือสิ่งประดิษฐ์ที่เป็นประโยชน์แก่ กฟผ. ประจำปี 2561 จำนวน 7 ผลงาน โดยสามารถคว้ารางวัลมาได้ 7 รางวัล และเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่ 1 ใน 7 ผลงานนั้น ได้รับรางวัล Grand Prize ซึ่งเป็นรางวัลสูงสุดของงานด้วย คือ ผลงานสิ่งประดิษฐ์เรื่อง ระบบควบคุมอุณหภูมิการเผาไหม้ของเครื่องกังหันก๊าซแบบอัตโนมัติ จากฝ่ายการผลิตโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ความพิเศษของระบบดังกล่าว ที่ทำให้ได้รับรางวัลสูงสุดนั้น มาจากความสามารถในการควบคุมอุณหภูมิการเผาไหม้ของเครื่องกังหันก๊าซได้อย่างอัตโนมัติ เที่ยงตรง และแม่นยำ สามารถจ่ายพลังงานเข้าระบบได้อย่างต่อเนื่อง ลดการสูญเสียโอกาสในการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าลานกระบือ จังหวัดกำแพงเพชร อย่างเห็นได้ชัด ซึ่งมีประสิทธิภาพเทียบเท่าหรือดีกว่า สามารถทดแทนการนำเข้าเครื่องมือที่มีราคาสูงจากต่างประเทศได้
อีก 6 รางวัลอันทรงเกียรติ ซึ่งถือเป็นความภาคภูมิใจของ กฟผ. ประกอบด้วย รางวัล Gold Medal 2 รางวัล ได้แก่ ผลงานสิ่งประดิษฐ์ เรื่อง ระบบรวบรวมข้อมูลและนำส่งข้อมูลค่าซื้อไฟฟ้า ระหว่างฝ่ายสัญญาซื้อขายไฟฟ้าและฝ่ายบัญชีและงบประมาณ สายงานระบบส่ง และผลงานสิ่งประดิษฐ์ เรื่อง ดิจิทัลแพลตฟอร์มสำหรับการเดินเครื่องและบำรุงรักษาแบบรวมศูนย์ รางวัล Silver Medal 3 รางวัล ได้แก่ ผลงานสิ่งประดิษฐ์ เรื่อง แผนที่แสดงข้อมูลที่ดินรอบอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ผ่านโทรศัพท์ Smartphone , โปรแกรมวิเคราะห์และแจ้งเตือนเหตุการณ์ขัดข้องในระบบส่งกำลังไฟฟ้า และผลงานสิ่งประดิษฐ์ เรื่อง สมุดสนามอิเล็กทรอนิกส์ เอ็นดีเอส ไอฟิวบุค และรางวัล Bronze Medal อีก 1 รางวัล คือ ผลงานสิ่งประดิษฐ์ เรื่อง รถสายพานลำเลียงเถ้าถ่านหินและยิปซัม
ข่าวน่าสนใจ:
นอกจากนี้ น้อง ๆ เยาวชนโครงการ Move World Together เพื่อพลังงานและสิ่งแวดล้อมที่ กฟผ. ให้การสนับสนุนมาอย่างต่อเนื่อง ยังได้รับ 3 รางวัล จาก 2 ผลงาน โดยเป็นรางวัล Gold Medal 1 รางวัล และรางวัลพิเศษ INNOPA Special Prize จากประเทศอินโดนีเซีย ได้แก่ ผลงานเรื่อง ผลิตภัณฑ์แผ่นเช็ดระงับกลิ่นกายจากสารสกัดใบฝรั่ง จากโรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ จังหวัดยะลา รวมทั้งรางวัล Silver Medal 1 รางวัล คือ ผลงานเรื่อง แผ่นครอบลังถึงลดพลังงาน จากโรงเรียนพระซองสามัคคีวิทยา จังหวัดนครพนม
ดร.จิราพร กล่าวว่า นับเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่ง ที่ได้เผยแพร่ผลงานสิ่งประดิษฐ์โดยฝีมือคนไทย ซึ่งสร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศ และยังแสดงถึงศักยภาพด้านนวัตกรรม
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: