X

กฟผ. โชว์ ‘ศูนย์การเรียนรู้ลำตะคอง’ แหล่งเรียนรู้พลังงานหมุนเวียนสุดทันสมัย แหล่งเที่ยวใหม่อีสาน

นครราชสีมา – เปิดแล้ว ‘ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ.ลำตะคอง’ แหล่งเรียนรู้ด้านพลังงานหมุนวียนสุดทันสมัยในภาคอีสาน มุ่งสร้างสังคมแห่งภูมิปัญญาและส่งเสริมการท่องเที่ยว

นายสุรพร ดนัยตั้งตระกูล กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในพิธีเปิด ‘ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ.ลำตะคอง’ จ.นครราชสีมา พร้อมด้วย นายสมบูรณ์ หน่อแก้ว รองปลัดกระทรวงพลังงาน, นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงาน, นายสุรพันธ์ ศิลปะสุวรรณ นายอำเภอปากช่อง, นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยมีผู้บริหาร กฟผ. ส่วนราชการ และชาวนครราชสีมา ร่วมในพิธี พร้อมเยี่ยมชม การทดสอบการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา เครื่องที่ 3-4 แบตเตอรี่พลังงานสะอาดที่ใหญ่ที่สุด ในภาคอีสาน ช่วยเสริมสร้างความมั่นคงระบบไฟฟ้า เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2562

นายสุรพร ดนัยตั้งตระกูล ระบุว่า พลังงานเป็นเรื่องจำเป็นและสำคัญมาก แต่เป็นเรื่องที่เข้าใจยาก ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ.ลำตะคองแห่งนี้ ถือเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านพลังงานต่าง ๆ โดยเฉพาะพลังงานหมุนเวียนที่เข้าใจง่าย ทั้งโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ การผลิตไฟฟ้าจากกังหันลม และเทคโนยีระบบกักเก็บพลังงานระบบไฮโดรเจนไฮบริด ที่จับคู่ระหว่างพลังงานลมกับเซลล์เชื้อเพลิง รวมถึงเทคโนโลยีสุดทันสมัยที่น่าตื่นตาตื่นใจ ทั้งโรงภาพยนตร์ 7 มิติ นวัตกรรมการผลิตไฟฟ้า และเกมส์จำลองต่างๆ ทั้งยังมีตัวอาคารที่ตกแต่งด้วย Wall Building Wind Power ทำให้ผนังตึกพลิ้วไหวตามแรงลม ที่สะดุดตาตั้งแต่แรกเห็น

ศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้ ยังตั้งอยู่ใกล้อ่างพักน้ำตอนบน ของโรงไฟฟ้าลำตะคอง ที่มีวิวทิวทัศน์ที่สวยงาม มีทุ่งกังหันลมและสินค้าชุมชนมากมาย ที่สามารถ ปแวะเยี่ยมชมได้ ศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้ จะทำให้เยาวชนและประชาชนได้เข้าใจเรื่องของพลังงานมากขึ้น และยังสามารถเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ของ จังหวัดนครราชสีมา ช่วยเสริมสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนและกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศได้อีกทางหนึ่ง

ด้านนายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน กฟผ. เปิดเผยว่า ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ.ลำตะคอง เป็น 1 ในศูนย์การเรียนรู้ 6 แห่ง ทั่วประเทศ ของ กฟผ. เพื่อร่วมสร้าง “สังคมแห่งภูมิปัญญา ด้านพลังงาน” โดยภายในศูนย์การเรียนรู้จะแบ่งออกเป็นทั้งหมด 7 โซน ได้แก่

1.โซน Plaza Nova สำหรับลงทะเบียนเป็นเหล่าผู้กล้าร่วมผจญภัยในโลกพลังงานร่วมกับหุ่นยนต์ H-bot มาสคอตประจำศูนย์การเรียนรู้
2.โซน Lamtakong Energy Quest ถ่ายทอดเรื่องราวการผจญภัยในดินแดนลำตะคองผ่านภาพยนตร์แบบ 7 มิติ
3.โซน New Frontier สนุกสนานกับเกมที่จะให้ผู้เข้าชมได้สวมบทบาทเป็นกระแสลมในทุ่งกังหันลมยักษ์ เรียนรู้พลังงานแสงอาทิตย์ และโรงไฟฟ้าใต้ดินแบบ สูบกลับแห่งเดียวของไทย
4.โซน New Discovery เรียนรู้นวัตกรรมระบบกักเก็บพลังงานแบบไฮโดรเจนจากกังหันลมสู่การผลิตไฟฟ้า
5.โซน EGAT Energy Quest ชมภารกิจผลิตไฟฟ้าเพื่อความสุขของคนไทยตั้งแต่ยุคบุกเบิกถึงปัจจุบัน
6.โซน The Balance ร่วมประลองฝีมือการจัดสรรเชื้อเพลิงและพลังงานไฟฟ้าผ่านโมเดลจำลองโรงไฟฟ้าประเภทต่าง ๆ อาทิ โรงไฟฟ้าพลังน้ำ โรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และโรงไฟฟ้าชีวมวล
7.โซนม่วนซื่นลำตะคอง เรื่องราวการอยู่ร่วมกันของชุมชนที่อาศัยอยู่ รอบโรงไฟฟ้าและลุ่มน้ำลำตะคองที่พึ่งพาอาศัยกัน
ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. ลำตะคอง จะเปิดให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าชมได้ฟรี ตั้งแต่เวลา 09.00 -17.00 น. ยกเว้นวันจันทร์และวันหยุดนักขัตฤกษ์

ในวันดังกล่าว กฟผ. ยังได้ทดสอบการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าลำตะคองฯ เครื่องที่ 3-4 กำลังผลิต 500 เมกะวัตต์ ซึ่งจะมีกำหนดจ่ายไฟเชิงพาณิชย์ ในวันที่ 30 ธันวาคม 2562 ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ โดยจะนำกระแสไฟฟ้าจากระบบการผลิตของประเทศ ในช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าน้อย สูบน้ำจากอ่างเก็บน้ำเขื่อนลำตะคองที่มีอยู่เดิมขึ้นไป เก็บพักไว้ในอ่างพักน้ำตอนบนบริเวณบนเขายายเที่ยง แล้วปล่อยน้ำลงมา ผ่านเครื่องกำเนิดไฟฟ้า เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าในช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงในแต่ละวัน เมื่อจ่ายไฟเชิงพาณิชย์ครบทั้ง 4 เครื่อง จะมีกำลังผลิตรวม 1,000 เมกะวัตต์ ถือเป็นแบตเตอรี่พลังงานสะอาดใหญ่ที่สุดของภาคอีสาน และต้นทุนต่ำที่สุดในปัจจุบันสำหรับระบบไฟฟ้าขนาดใหญ่ ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 2.6 แสนตันต่อปี

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of ลักขณา สุริยงค์

ลักขณา สุริยงค์

ทำหน้าที่สื่อมวลชนมาเกือบ 30 ปี ทั้งงานสายข่าวและจัดรายการทีวี-วิทยุมานับไม่ถ้วน "ไม่เป็นกลาง แต่เป็นธรรม พร้อมนำเสนอความจริง"