เริ่มต้นปี 2563 หลายคนเตรียมตัวพกถุงผ้าไปจับจ่ายใช้สอย โดยเฉพาะตามห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่และร้านสะดวกซื้อ ที่จะงดแจกถุงพลาสติกตามแนวนโยบายรัฐบาล ที่ต้องการให้ ลด ละ และเลิก ใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง (single-use plastic) เพื่อนำไปสู่แนวทางในการขับเคลื่อน Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ.2561-2573 ตามที่รัฐวางไว้ ซึ่งทำให้ทุกฝ่ายต้องปรับตัวรองรับ
เมื่อพฤติกรรมการบริโภคของคนไทยกำลังจะถูกเปลี่ยนแปลง จากการงดแจกถุงพลาสติก การสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับการจัดการขยะอย่างถูกต้อง ควบคู่ไปกับการรู้จักใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างรู้คุณค่า เป็นแนวทางที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาขยะแบบยั่งยืน ซึ่งแน่นอนว่า ภาครัฐหรือเอกชนคงไม่สามารถทำได้เพียงลำพัง ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย หรือต้องบูรณาการร่วมกัน และนี่คือปัจจัยที่จะทำให้ ‘งานแข่งขันฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ–ธรรมศาสตร์’ ครั้งที่ 74 ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2563 ถูกเปลี่ยนมุมมองแบบเดิม ๆ ไปจากอดีต
โดยจะเป็นปีแรกที่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสาตร์ สองสถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศ ร่วมมือกับ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ในฐานะผู้นำนวัตกรรมเคมีภัณฑ์เพื่อสร้างสรรค์คุณภาพชีวิต ร่วมกันขับเคลื่อนให้เวทีนี้ เป็นกิจกรรมที่จะก้าวไปสู่การรักษ์โลกอย่างแท้จริง ด้วยการนำแคมเปญ Waste This Way:#รักษ์โลกให้ถูกทาง มาผลักดันการจัดการขยะ ในงานฟุตบอลประเพณี จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 74 โดยส่งเสริมให้สังคมใส่ใจการจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ ผ่าน Concept “ลด เปลี่ยน แยก” ดังนี้
1.ลด… ลดขยะด้วยการลดใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่จำเป็นตั้งแต่ต้นทาง
2.เปลี่ยน… เปลี่ยนไปใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในกรณีที่ไม่สามารถลดใช้ได้
3.แยก… แยกขยะเพื่อนำไปจัดการต่อได้อย่างเหมาะสม ในกรณีที่ไม่สามารถลดใช้หรือเปลี่ยนวัสดุได้
GC นำแนวทางดังกล่าว มาขับเคลื่อนกิจกรรมต่าง ๆ ที่จะเปลี่ยนไป นับตั้งแต่แสตนแปรอักษร โดยกองเชียร์นิสิต-นักศึกษา ที่มาร่วมขึ้นสแตนแปรอักษร จะได้รับอาหารกลางวันและอาหารว่าง ที่ทำด้วยกล่องบรรจุอาหารเคลือบพลาสติกชีวภาพ ที่มีฉลาก GC Compostable สามารถสลายตัวได้ทางชีวภาพ , พัด ที่จะแจกกองเชียร์ ไม่เพียงให้คลายร้อนแต่ในพัดจะมีเนื้อหาให้ความรู้ เรื่องการคัดแยกขยะในงานอย่างถูกต้อง GC ยังนำถุงผ้า Upcycling ที่ทำมาจากขยะพลาสติก มาแปรรูปเป็นถุงผ้าเพื่อใส่อุปกรณ์การเชียร์อีกด้วย
ข่าวน่าสนใจ:
สำหรับกิจกรรมภาคพื้นสนามที่ใคร ๆ ก็สนใจ คือ ขบวนพาเหรด ซึ่งครั้งนี้จะกลายเป็น Circular Parade ที่มีการจัดเตรียมและคำนึงถึงการคัดแยกขยะอย่างถูกต้อง วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ หลังจบงานจะคัดแยกเพื่อนำวัสดุที่ยังใช้ได้ มาหมุนเวียนใช้ใหม่ด้วยการ Reuse Recycle และ Upcycling เพื่อให้ทุกวัสดุเกิดประโยชน์สูงสุด โดย GC สนับสนุนอุปกรณ์พาเหรดที่ทำจากวัสดุทดแทน เช่น กระดาษ หรือผ้า ที่ผ่านกระบวนการ Recycle หรือ Upcycling ซึ่งจะถูกนำมาใช้ประโยชน์ใหม่อย่างคุ้มค่า
ไม่เพียงเท่านั้น ผู้ชมบนแสตนยังจะมีส่วนร่วมรักษ์โลกง่าย ๆ ด้วยการแยกขยะพลาสติกประเภท PET และ PE ซึ่งเป็นชนิดที่ง่ายต่อการนำมารีไซเคิล โดย GC สนับสนุนถังแยกขยะพลาสติก ซึ่งบนถังจะมีป้ายคำอธิบายการแยกขยะ ที่ออกแบบมาเป็นพิเศษเพื่อให้เข้าใจง่าย มองเห็นได้ชัดเจน รวมถึงมีสตาฟคอยให้คำแนะนำอีกด้วย ขยะที่ได้ในงานนี้ จะนำกลับไปผลิตสินค้า Upcycling เช่น รองเท้ากีฬา สำหรับนำไปบริจาคให้สถานศึกษาใกล้เคียง เช่นเดียวกับเสื้อสตาฟเชียร์ GC สนับสนุนเสื้อสตาฟเชียร์ Upcycling จากขยะพลาสติก เพื่อส่งเสริมการใช้ทรัพยากรหมุนเวียนให้เกิดประโยชน์สูงสุด
“เราได้ร่วมกับสองสถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศ เพื่อส่งเสริมการใช้ทรัพยากรแบบหมุนเวียนในชีวิตประจำวัน ตามแนวคิด GC Circular Living และมุ่งมั่นดำเนินแนวทาง “Solution for Everyone” หรือการสร้างโซลูชั่นเพื่อรองรับความต้องการของทุกคน และสนับสนุนให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมของโลกใบนี้ โดย GC มีเป้าหมายปลูกฝังจิตสำนึก เรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมของคนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นอนาคตที่สำคัญของชาติ และมุ่งสร้างการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาขยะ โดยเริ่มต้นจากนิสิตนักศึกษาของทั้งสองสถาบัน” ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร GC กล่าว
ด้านนางสาวประภาพร สมวงศ์ รองประธานคณะกรรมการดำเนินงานประเพณีฟุตบอลจุฬา-ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 74 (ส่วนนิสิต) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า จุฬาฯ ได้เริ่มดำเนินงานจัดการขยะมาอย่างต่อเนื่องหลายโครงการ เช่น โครงการ Chula Zero Waste ฯลฯ และนำมาต่อยอดสู่งานประเพณีฟุตบอลครั้งนี้โดยใช้ธีม Make a Chang ที่ต้องการให้ทุกคนตระหนักว่า ปัญหาต่าง ๆ ในสังคม ต้องเริ่มต้นแก้จากตัวเราเอง และนำมาต่อยอดสู่การจัดการขยะ “ลด เปลี่ยน แยก” ผ่านแคมเปญ Waste This Way “รักษ์โลกให้ถูกทาง” เป็นหนึ่งในเเคมเปญที่ตั้งใจแสดงเรื่องสิ่งแวดล้อม ให้ออกมาเป็นรูปธรรม
ส่วนนางสาวนิษฐิดา โพธิ์ทอง หัวหน้าคณะผู้จัดงานฟุตบอลประเพณีฯ องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บอกว่า งานครั้งนี้เป็นความท้าทาย ที่จะนำแนวคิด “การรักษ์โลกให้ถูกทาง” ในมุมมองของทั้งสองมหาวิทยาลัย มาเป็นเครื่องมือในการสื่อสารออกไปไปสู่สาธารณให้เข้าใจง่ายขึ้น รวมถึงการจัดหาวัสดุอุปกรณ์ที่รักษ์โลกมากขึ้น อยากให้ทุกคนเริ่มเปลี่ยนพร้อมกับพวกเรา เชื่อว่าการลดขยะไม่ได้เกิดขึ้นแค่งานบอลในครั้งนี้ แต่จะปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ถูกต้อง
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: