กรุงเทพฯ – ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ.2563 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนน 3 วัน มีผู้เสียชีวิตสะสม 159 คน บาดเจ็บ 1,549 คน จากอุบัติเหตุ 1,504 ครั้ง กรุงเทพฯ ขึ้นแท่นตายสูงสุด 10 คน
29 ธ.ค.2562 พล.ต.ท.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะประธานแถลงข่าว สรุปผลการดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่ ในการรณรงค์ ‘ขับรถมีน้ำใจ รักษาวินัยจราจร’ ว่า วันที่ 29 ธันวาคม 2562 เกิดอุบัติเหตุ 531 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 47 ราย ผู้บาดเจ็บ 560 คน สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 31.81 รองลงมา คือ ขับรถด้วยความเร็ว ร้อยละ 30.89 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุด คือ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 80.55
สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสม ในช่วง 3 วันของการรณรงค์ (27–29 ธันวาคม 2562) เกิดอุบัติเหตุรวม 1,504 ครั้ง ผู้เสียชีวิตรวม 159 ราย ผู้บาดเจ็บรวม 1,549 คน จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 21 จังหวัด จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ ลำปาง (48 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด กรุงเทพมหานคร (10 ราย) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด นครปฐม (56 คน)
สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 31.83 ขับรถเร็ว ร้อยละ 30.89 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 80.55 ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง ร้อยละ 65.16 ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 38.42 ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 34.65 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ช่วงเวลา 16.01–20.00 น. ร้อยละ 27.68 ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดอยู่ในช่วงอายุ 50 ปีขึ้นไป ร้อยละ 24.88
ข่าวน่าสนใจ:
ทั้งนี้ ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 2,046 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 64,599 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 956,570 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 216,804 ราย มีความผิดฐานไม่สวมหมวกนิรภัย 58,550 ราย ไม่มีใบขับขี่ 52,434 ราย
พล.ต.ท.ดำรงศักดิ์ เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) ได้สั่งการจังหวัด ดำเนินการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนอย่างเข้มข้น กำชับเจ้าหน้าที่ประจำจุดตรวจ ดูแลเส้นทางสายหลัก–สายรองอย่างต่อเนื่อง ให้สอดคล้องกับสถานการณ์อุบัติเหตุและกลไกระดับพื้นที่ นอกจากนี้ ได้จัดชุดสายตรวจดูแลความปลอดภัยเส้นทางโดยรอบสถานที่จัดงานรื่นเริงและสถานบันเทิง ช่วงเวลา 23.00–02.00 น. เป็นพิเศษ เน้นกวดขันผู้ขับขี่ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงดื่มแล้วขับ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชนที่อายุไม่ถึง 20 ปี หากเกิดอุบัติเหตุจากการดื่มแล้วขับ ให้ดำเนินคดี และขยายผลการบังคับใช้กฎหมายผู้ปกครอง และผู้จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อย่างจริงจัง
ด้านนายพรพจน์ เพ็ญพาส รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มงานภารกิจด้านสาธารณภัยและพัฒนาเมือง ระบุว่า เส้นทางสัญจรส่วนใหญ่ อยู่ในเขตชุมชนมากถึงร้อยละ 80 ในช่วงของการเฉลิมฉลอง จึงมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุ บนถนนสายรองมากกว่าปกติ ศปถ.จึงเพิ่มความเข้มข้นการปฏิบัติงานของด่านชุมชน เน้นการเรียกตรวจผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงดื่มแล้วขับ และไม่สวมหมวกนิรภัย พร้อมคุมเข้มการใช้อุปกรณ์นิรภัยทุกที่นั่ง ในรถทุกประเภท ทั้งรถเช่า รถโดยสารสาธารณะ และรถยนต์ส่วนบุคคล เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตและบาดเจ็บรุนแรง
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: