ปักกิ่ง – สถาบันการแพทย์หลายแห่งของจีน กำลังดำเนินการวิจัยยาเรมเดซิเวียร์ (Remdesivir) ซึ่งเป็นยาที่สามารถออกฤทธิ์ ยับยั้งไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (2019-nCoV)
วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2563 ผูู้เชี่ยวชาญจีนกำลังระดมหาวิธี ที่จะรักษาผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (2019-nCoV) ที่ขณะนี้ยังไม่มียาเฉพาะสำหรับต้านไวรัส ล่าสุด สำนักข่าวซินหัว รายงาน ซ่ง ซู่ลี่ โฆษกคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติจีน (NHC) แถลงข่าวว่า กำลังวิจัยทางคลินิก เพื่อศึกษาความปลอดภัยและประสิทธิผลของยา ปัจจุบันสถาบันยังเก็บรวบรวมข้อมูลการวิจัยทางคลินิก ของยาโลพินาเวียร์ (Lopinavir), ริโทนาเวียร์ (Ritonavir) และยาแผนจีนจำนวนหนึ่งด้วย
กว่างโจว – ด้านผู้เชี่ยวชาญจีน เผย มี ‘ยาโมเลกุลเล็กต้านไวรัสโคโรนา 7 ตัว’ อยู่ในขั้นวิจัยทางคลินิก
จง หนานซาน ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินหายใจชาวจีน ให้สัมภาษณ์พิเศษสำนักข่าวซินหัวว่า ขณะนี้มียาโมเลกุลเล็ก 7 รายการ ที่อยู่ในขั้นตอนวิจัยทางคลินิก โดยยาเหล่านี้มุ่งทำปฏิกิริยากับอาร์เอ็นเอ พอลิเมอเรส (RNA polymerase) และเอนไซม์โปรติเอส (Protease) หรือตัวเพิ่มจำนวนไวรัส ของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่โดยเฉพาะ
คณะนักวิจัยพบว่า ตัวรับเอนไซม์ในไวรัสโคโรนาโรคซาร์ส (SARS-CoV) มีบทบาทสำคัญในปฏิกิริยาของไวรัสฯ สายพันธุ์ใหม่ ต่อเซลล์มนุษย์ ความก้าวหน้าในการวิจัยที่พบ เป็นรากฐานความเข้าใจเชิงลึก สำหรับการวิจัยและพัฒนายาต้านต่าง ๆ แม้ยังต้องการหลักฐานหรือผลทดสอบทางคลินิก สำหรับยืนยันผลของยาที่ใช้กับผู้ป่วยบางกรณี ทั้งยังต้องใช้เวลาในการค้นหาวัคซีนต้านไวรัส ซึ่งขณะนี้ยังไม่เข้าสู่ขั้นตอนการใช้ทางคลินิก
“ที่ผ่านมาเราได้พัฒนาแผนการรักษาที่มีประสิทธิภาพ โดยอิงจากประสบการณ์ และแผนปฏิบัติที่ประสบความสำเร็จ เมื่อครั้งโรคซาร์สแพร่ระบาด นอกจากนั้น การใช้ชุดมาตรการช่วยชีวิต ยังเพิ่มอัตราความสำเร็จในการรักษาเป็นอย่างดีด้วย” จงกล่าว
ทั้งนี้ บรรดาผู้เชี่ยวชาญของ คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ก็เร่งปรับปรุงข้อมูลแผนการรักษาให้เป็นปัจจุบันอยู่ตลอดเวลา เพื่อเป็นแนวทางการรักษาแก่แพทย์ทั่วประเทศ โดยแผนที่ใช้ในปัจจุบันเป็นฉบับปรับปรุงลำดับที่ 4 แล้ว
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: