X

กฟผ.ใช้ ‘โครงข่าย Fiber Optic’ ต่อยอดสินทรัพย์ระบบส่งทั่วประเทศ

‘ปากต่อปาก’ ด้วยคำบอกเล่า หรือเขียนจดหมาย เป็นการส่งต่อข่าวสารถึงกัน ของคนในยุคที่ยังไม่มีเทคโนโลยีและระบบการสื่อสาร กว่าจะส่งข้อมูลข่าวสารถึงกันได้ต้องใช้เวลานาน แต่เมื่อโลกของเราพัฒนา และเกิดเครือข่ายระบบสื่อสารที่กว้างขวางขึ้น ทำให้ทุกคนสามารถส่งข้อมูลถึงกันได้ง่ายกว่าเดิมมาก ทั้งการพูดคุยผ่านโทรศัพท์ หรือสังคมออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ก ไลน์ อินสตราแกรม จนกลายเป็นกิจกรรมสำคัญในชีวิตประจำวัน ของผู้คนในยุคปัจจุบัน

ระบบสื่อสารที่ถูกพัฒนาขึ้น ไม่ใช่เพียงแค่แชร์เรื่องราวถึงกันเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการส่งผ่านข้อมูล การรับ-ส่งสัญญาณในระบบต่าง ๆ เช่น ระบบรถไฟฟ้า ระบบจราจร ระบบเครื่องกดเงิน หรือแม้กระทั่งการควบคุมเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน เพื่อสื่อสารให้เป็นไปตามความต้องการของผู้ใช้งาน

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มีหน้าที่หลัก ในการผลิตและส่งพลังงานไฟฟ้าแก่ระบบจำหน่าย เพื่อนำจ่ายสู่ประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง ต้องอาศัยระบบสื่อสารเข้ามาช่วยสนับสนุน เพื่อควบคุมสั่งการระบบผลิต และส่งจ่ายพลังงานไฟฟ้าให้เพียงพอต่อความต้องการเสริมสร้างความมั่นคงในระบบไฟฟ้าของประเทศไทย ดังนั้น ระบบสื่อสารจึงเป็นส่วนสำคัญ ในการสนับสนุนดำเนินงานของ กฟผ. ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
รักษาความมั่นคงด้านพลังงานด้วยโครงข่ายโทรคมนาคมที่ครอบคลุมทั่วประเทศ

นายสมคิด ประดิษฐ์เสรี ผู้อำนวยการฝ่ายจัดการธุรกิจ สายงานรองผู้ว่าการธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ระบุว่า ด้วยศักยภาพด้านพื้นที่ของเสาส่งไฟฟ้าแรงสูงของ กฟผ. ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ทำให้ กฟผ. สามารถเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม บนเสาส่งไฟฟ้าแรงสูงต้นเดียวกับการส่งพลังงานไฟฟ้า เกิดเป็นระบบสื่อสารที่คอยสนับสนุน การควบคุมสั่งการระบบผลิตและส่งจ่ายพลังงานไฟฟ้า ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ รวมถึงสามารถเชื่อมต่อสายส่งไฟฟ้าและโครงข่ายโทรคมนาคมสู่ประเทศเพื่อนบ้าน สร้างความมั่นคงแก่ระบบไฟฟ้าในภูมิภาคด้วย

โครงข่ายโทรคมนาคมของ กฟผ. คือ โครงข่าย Fiber Optic เป็นเทคโนโลยีด้านสื่อสัญญาณที่ดีที่สุดในยุคปัจจุบัน สามารถรับ-ส่งข้อมูลได้อย่างมหาศาล ด้วยความเร็วเทียบเท่าแสง

สาย Fiber Optic ถูกติดตั้งอยู่ในสายดิน ที่อยู่ส่วนบนสุดของเสาส่งไฟฟ้าแรงสูง ซึ่งเป็นเสาโครงเหล็กขนาดใหญ่ ตั้งอยู่บริเวณที่ผู้คนเข้าถึงยาก ความพิเศษนี้ ทำให้โครงข่ายโทรคมนาคมของ กฟผ. เป็นหนึ่งในโครงข่ายที่มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพสูง สามารถเชื่อมต่อไปสู่ประเทศเพื่อนบ้าน นำไปสู่การติดต่อสื่อสารทั่วโลก
มุ่งบริหารสินทรัพย์ที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด (Asset Utilization)
การมีระบบสื่อสารที่ครอบคลุมทุกพื้นที่ เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ กฟผ. สามารถรักษาความมั่นคงด้านพลังงาน ด้วยระบบสื่อสารที่มีอยู่ได้เป็นอย่างดี

กฟผ. จึงมีแนวคิดในการบริหารสินทรัพย์ส่วนที่เหลือจากการใช้งานในภารกิจ ไปช่วยเพิ่มความมั่นคงของระบบสื่อสารของประเทศ ด้วยการเปิดให้บริการโครงข่ายโทรคมนาคมที่มีความมั่นคงสูง ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรง ให้แก่ระบบสื่อสารของประเทศไทย และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงลดการลงทุนที่ซ้ำซ้อน

ให้บริการโครงข่ายโทรคมนาคม ทั้งแก่องค์กรภาครัฐและภาคเอกชนจำนวนมาก เพื่อให้นำระบบสื่อสารไปประยุกต์ใช้ ในการให้บริการต่าง ๆ แก่ประชาชน เช่น บริการ Internet Broadband บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือแม้กระทั่งการใช้งานติดต่อสื่อสารภายในบริษัทเอง

อีกทั้งยังมีความพร้อม สำหรับการให้บริการโครงข่ายโทรคมนาคมอีกจำนวนมหาศาล ที่สามารถนำพาให้ชีวิตผู้คนในยุคปัจจุบัน สะดวกมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การสนับสนุนธุรกิจ Start up ระบบ Smart Farming การทำธุรกรรมการเงินออนไลน์ (FinTech) การปรึกษา/พบแพทย์ออนไลน์ รองรับการเรียนการสอนทางไกลผ่านดาวเทียมระหว่างมหาวิทยาลัย ฯลฯ เพื่อตอบสนองนโยบาย Thailand 4.0 พัฒนาระบบสื่อสารให้มีความมั่นคง ก้าวหน้า นำประเทศไทยเข้าสู่ยุคดิจิทอลอย่างเต็มตัว

นำความเชี่ยวชาญด้านการบำรุงรักษาของ กฟผ. สู่การยอมรับของสังคม
ไม่ใช่เรื่องง่ายในการบำรุงรักษาโครงข่ายโทรคมนาคมของ กฟผ. เพราะโครงข่ายโทรคมนาคม Fiber Optic ติดตั้งอยู่ส่วนบนสุดของเสาไฟฟ้าแรงสูง ซึ่งมีขนาดแรงดันถึง 115 , 230 และ 500 กิโลโวลต์ หลายครั้งต้องปฏิบัติงานบำรุงรักษาโดยไม่ดับไฟฟ้า บุคลากรต้องมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และเต็มเปี่ยมไปด้วยประสบการณ์เท่านั้น รวมถึงต้องมีความรู้และทักษะการซ่อมบำรุง เครื่องมือและเทคโนโลยีทันสมัย ทำให้ กฟผ. เป็นผู้เชี่ยวชาญในการบำรุงรักษา โครงข่ายโทรคมนาคม Fiber Optic ของประเทศไทย

จากศักยภาพและความมุ่งมั่นของ กฟผ. บ่งบอกได้ว่า กฟผ. สามารถรักษาความมั่นคงด้านพลังงาน ควบคุมระบบผลิตและส่งจ่ายไฟฟ้าให้เป็นไปได้อย่างสมบูรณ์ ด้วยตัวช่วยสำคัญ คือ โครงข่ายโทรคมนาคมที่เชื่อมโยงทั้งประเทศไทย พร้อมมุ่งให้บริการระบบสื่อสารที่มีเสถียรภาพสูง เพื่อเพิ่มศักยภาพระบบสื่อสารของประเทศ ให้ก้าวหน้าเป็นหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในอนาคตต่อไป

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of ลักขณา สุริยงค์

ลักขณา สุริยงค์

ทำหน้าที่สื่อมวลชนมาเกือบ 30 ปี ทั้งงานสายข่าวและจัดรายการทีวี-วิทยุมานับไม่ถ้วน "ไม่เป็นกลาง แต่เป็นธรรม พร้อมนำเสนอความจริง"