กรุงเทพฯ – ร.พ.จุฬาฯ-พระมงกุฎ ถอดบทเรียนจากเหตุกราดยิงที่ จ.นครราชสีมา สู่วิธีการป้องกัน และปฏิบัติตัว เมื่อต้องเผชิญเหตุฉุกเฉิน ลดการสูญเสีย
วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2563 โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย จัดการเสวนา ‘Escape and Survive in Mass Shooting’ โดยหยิบยก กรณีคนร้ายกราดยิงที่ จ.นครราชสีมา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ทั้งเจ้าหน้าที่และประชาชน ซึ่งเพิ่งเกิดขึ้นในประเทศไทย มาเป็นกรณีศึกษา ให้ความรู้ พร้อมคำแนะนำในการปฏิบัติตัวเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉน และช่วยเหลือผู้อื่น โดยมีอาจารย์แพทย์จาก ร.พ.จุฬาลงกรณ์ และพระมงกุฎเกล้า มาร่วมเสวนา
พ.อ.นพ.ณัฐ ไกรโรจนานันท์ จาก ร.พ.พระมงกุฎเกล้า ระบุว่า เหตุการณ์ที่จะเป็น Mass Shooting (การสังหารหมู่) ได้นั้น ต้องประกอบด้วย
1.การยิงในที่ชุมชน
2.มีผู้เสียชีวิตเกิดขึ้น อย่างน้อย 4 คน ไม่รวมผู้ก่อเหตุ และจุดจบผู้ก่อเหตุมักตาย ถ้าไม่ฆ่าตัวตาย ก็ถูกยิงตาย
3.เลือกเหยื่อไม่เลือกหน้า โดยไม่ได้วางแผนล่วงหน้า
4.ไม่ได้มุ่งหมายแค่คร่าชีวิต แต่อาจมีจุดมุ่งหมายอื่น เช่น ฉกชิง ปล้น
ข่าวน่าสนใจ:
ผลงานการวิจัยในสหรัฐอเมริกา ที่เกิดเหตุสังหารหมู่บ่อย ระบุว่า ปืนพกมักจะยิงโดนจุดสำคัญและทำให้เสียชีวิต มากกว่าแบบอื่น โดยเฉพาะปืนไรเฟิล
ด้าน รศ.นพ.รัฐพลี ภาคอรรถ จาก ร.พ.จุฬาลงกรณ์ แนะนำการสังเกต และการมีสัญชาตญาณในสิ่งรอบข้าง เมื่อเดินอยู่ในแหล่งชุมชน เช่น ห้างสรรพสินค้า ให้จับทิศทางแหล่งที่มาของเสียง ควันไฟ เปลวเพลิง เสียงคนวิ่งพลุกพล่าน ไฟดับ เสียงประกาศเตือน การวิ่งผิดปกติ สับสนวุ่นวาย ไปทิศทางเดียวกัน ให้หนีออกมาเร็วที่สุด
การเตรียมพร้อมรับเหตุต่าง ๆ ตั้งแต่ก่อนออกจากบ้าน เช่น ชาร์จแบตโทรศัพท์ให้เต็ม, การมีเบอร์โทรศัพท์สายด่วนสำคัญต่าง ๆ, ช่องทางการติดต่อสื่อสารที่มีคนอ่านตลอดเวลา, บอกที่ไป-เวลากลับให้คนที่บ้านหรือเพื่อนสนิทรู้, หากไปเป็นครอบครัว กลุ่มใหญ่ มีผู้สูงอายุ เด็กเล็ก นัดแนะจุดนัดพบ, สถานที่ชุมชน เช่น ห้าง ร้าน บริษัท สถานที่ราชการ โรงเรียน มีแผนอพยพ และจุดนัดพบที่ชัดเจน
สำหรับผู้มีเด็กและบุตรหลาน ให้สอนและฝึกให้ตื่นตัว ระวังภัยการเกิดหตุร้าย ถอดหูฟัง วางมือถือ ในที่ที่คนหนานแน่น สอนและฝึกให้รู้จักทางหนีภัย และการออกจากพื้นที่ที่อันตราย รู้วิธีการแอบซ่อน และฝึกให้เงียบอย่าส่งเสียงดัง มีนม น้ำ ขนม ลูกอม สำหรับเด็กเล็ก /เลือกใช้และเลือกทิ้งสิ่งของตามความเหมาะสม เช่น รถเข็น เป้อุ้ม /ฝึกท่องเบอร์โทรศัพท์พ่อแม่ หรือเขียนใส่กระเป๋าติดตัว สำหรับเด็กโต อาจสอนและฝึกวิธีการตอบโต้
อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน ให้ปฏิบัติ ดังนี้
Run หมายถึง หนีออกจากที่เกิดเหตุให้เร็วที่สุด
เวลาไปไหนให้สังเกตและจดจำทางเข้า-ออก มีแผนการคร่าว ๆ สำหรับการออกจากสถานที่อย่างรวดเร็วไว้เสมอ ที่สำคัญคือตั้งสติ หากสงสัยว่าจำเป็นต้องอพยพ ควรรีบไปโดยไม่ลังเล สละทิ้ง ข้าวของหนัก ๆ เช่น คอมพิวเตอร์ กระเป๋า ถุงหิ้วหนักเกะกะ เพราะชีวิตมีค่ากว่า ช่วยเหลือคนรอบตัวเท่าที่สามารถทำได้ และแจ้งเหตุเมื่ออยู่ในที่ปลอดภัยแล้ว
Hide หมายถึง หลบซ่อน กรณีหนีไม่ทัน
ต้องหลบซ่อนให้พ้นสายตาของผู้ก่อเหตุ ปิดไฟมืด ปิดทีวี วิทยุ เสียงโทรศัพท์
อยู่เงียบ ๆ ไม่ส่งเสียง ตั้งสติ ไม่กรีดร้องหากได้ยินเสียงปืน ระเบิด เสียงคน
อยู่ห่างของมีคมและวัสดุที่อาจระเบิดได้
พยายามหลีกเลี่ยงสถานที่ปิดตาย เข้า-ออกทางเดียว และการอยู่หลายคน
ถ้าจำเป็นต้องใช้โทรศัพท์ ให้บังแสงหน้าจอ เปิดโหมดประหยัดแบตเตอร์รี เลือกติดต่อช่องทางที่น่าเชื่อถือและมีประสิทธิภาพ ในการสื่อสารกับภายนอก เพราะการใช้โทรศัพท์พร้อม ๆ กัน อาจไม่มีช่องสัญญาณ แนะนำให้ใช้ เอสเอ็มเอส ไลน์ ส่งข้อความผ่านเฟซบุ๊ก
สำหรับการแจ้งเหตุ ให้จดจำและแจ้งตำแหน่งมือปืน จำนวน ลักษณะการแต่งกาย จำนวนและประเภทอาวุธ จำนวนผู้บาดเจ็บและผู้ประสบภัยในสถานการณ์
ถ้าต้องตกเป็นตัวประกัน จะต้องหมอบต่ำ ก้มหัว ทำตัวให้ราบแนบกับพื้น อยู่ห่างประตู หน้าต่าง อยู่หลังที่กำบัง ใช้ผ้า แขนเสื้อ คอเสื้อ ปิดจมูก หากมีการใช้แก๊สน้ำตา อย่าโผวิ่งหาเจ้าหน้าที่ อาจโดนยิงสวนได้ ให้แสดงตัวช้าๆ และชูมือขึ้น
Fight หมายถึง การสู้ตาย สู้สุดชีวิต
ถ้าหนีไม่ทัน หลบซ่อนไม่อยู่ จำเป็นต้องสู้สุดชีวิต เพื่อให้มีโอกาสรอด ต้องสู้ด้วยทุกอย่างที่มี เช่น มีด กรรไกร ไม้ ขว้างปา ทุบตี สู้ด้วยแรงทั้งหมด ด้วยคนทั้งหมด สู้เพื่อให้มีคนรอดชีวิต โดยไม่หยุดอ้อนวอน ขอร้อง หรือเกลี้ยกล่อม
เพราะไม่เป็นผล
นอกจากนี้ ยังมีการแนะนำถึงการฝึกจิต สมาธิ และการกำจัดความเครียด ความกลัว เมื่อต้องเผอิญหน้ากับเหตุฉุกเฉิน จะเกิดภาวะตื่นตระหนก ให้หายใจเข้าช้า ๆ เพื่อให้ร่างกายสงบลง การกลับมาสู่ปัจจุบัน เมื่อมีภาวะล่องลอย ด้วยการสัมผัสสิ่งของ นับสิ่งของ มองไปรอบตัว นับคน ฟังเสียง ขยำสิ่งที่อยู่ในมือ ดูมือ/ขาตัวเอง ดมกลิ่น เหยียบพื้น เคี้ยว เพื่อเรียกสติตัวเอง ทั้งนี้ การใช้โทรศัพท์มือถือ ทำให้สติน้อยลงและไม่ค่อยรู้ตัว
อีกทั้ง ถ้าผ่านพ้นเหตุร้ายไปได้ อาจมีความเครียดทางจิตใจ ผวา วิตกกังวล นอนไม่หลับ ให้หมั่นสังเกตตัวเอง และคนใกล้ชิดที่ผ่านเหตุการณ์มา โดยเฉพาะเด็ก อาจต้องใช้เวลานาน ถ้าเกิดอาการผิดปกติ ต้องเข้าสู่กระบวนการรักษา ซึ่งใช้ระยะเวลา
ส่วนข้อแนะนำเรื่องการบาดเจ็บ เสียเลือดมาก ถ้ากระสุนโดนศีรษะหรือตัว จะมีโอกาสเสียชีวิตได้ แต่ถ้าโดนแขน ขา จะไม่ค่อยร้ายแรงถึงข้ันเสียชีวิต อย่างไรก็ตาม ถ้าตัวเองปลอดภัย จำเป็นจะต้องช่วยเหลือผู้อื่น
ถ้ามีบาดแผลเลือดออก การห้ามเลืดจะลดอัตราการตายลงได้ โดยให้หาจุดที่เลือดออกว่าอยู่ตรงไหน แล้วกดห้ามเลือด แต่ต้องป้องกันตัวเองด้วย เพราะอาจติดเชื้อ ติดโรค ถ้ากดเลือดแล้วเลือดชุ่มแสดงว่าเลือดออกมาก หรือคนไข้ไม่รู้สึกตัว ช็อก แสดงว่าเลือดเลี้ยงสมองไม่พอ ถ้าไม่มีอุปกรณ์ให้ใช้ผ้าสะอาด เช่น เสื้อ กดที่แผล ไม่ใช้กระดาษชำระ เพราะจะเปื่อยและเข้าไปอุดในบาดแผลได้
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: