X

สธ.เผย ให้’ยาอิโบลา’ รักษา 2 ผู้ป่วยหนัก เสนอ’โควิด-19′ เป็นโรคติดต่ออันตราย ใช้กฎหมายจัดการได้

นนทบุรี – สาธารณสุข แถลง ไม่พบผู้ป่วยไวรัสโคโรนาฯ เพิ่ม  ส่วน 2 รายที่อาการหนักให้ ‘ยาฟาวิพิราเวียร์’ที่ใช้รักษาอิโบลา อาการทรงตัว เผย เตรียมเสนอ คกก.โรคติดต่อแห่งชาติ อนุมัติเป็น ‘โรคติดต่ออันตราย’ 24 ก.พ.นี้

วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2563 น.พ.รุ่งเรือง กิจผาติ โฆษกกระทรวงสาธารณสุข แถลงสถานการณ์ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 COVID-19 (โควิด-19) ประจำวันว่า จำนวนผู้ป่วยสะสมยังเท่าเดิม 35 คน รักษาหายแล้ว 17 คน เหลือรักษาตัวในโรงพยาบาล 18 คน อาการปกติดี ส่วน 2 คนที่อาการรุนแรง ขณะนี้อาการทรงตัวและคงที่ โดยได้รับยา ‘ฟาวิพิราเวียร์’ ซึ่งเป็นยารักษาโรคอิโบลา แม้ยานี้ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แต่เมื่อมีข้อมูลการใช้รักษาว่าได้ผล จึงเตรียมพร้อมที่นำมาใช้

ส่วนคนไทยบนเรือสำราญ ไดมอนด์ ปรินเซสส์ ที่จอดเทียบท่าประเทศญี่ปุ่น ผลตรวจเจอเชื้อไวรัสโคโรนา 2 คน เป็นลูกเรือ 1 คน และนักท่องเที่ยว 1 คน ได้รับการดูแลรักษาแล้ว ส่วนอีกคนตรวจแล้วไม่เจอเชื้อและจะเดินทางกลับประเทศนั้น ขึ้นอยู่กับมาตรการของญี่ปุ่น ว่าจะดำเนินการอย่างไร จะต้องเฝ้าระวัง 14 วันก่อนกลับหรือไม่

ด้าน น.พ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค ยืนยันว่า สถานการณ์ในประเทศไทย อยู่ในระดับที่ควบคุมการระบาดได้ และขยายพื้นที่เฝ้าระวัง เพื่อให้มั่นใจว่าคนไทยจะปลอดภัย เช่น กลุ่มที่สัมผัสนักท่องเที่ยวต่างชาติ จังหวัดพื้นที่เสี่ยง ซึ่งกลุ่มที่เฝ้าระวังก็เข้ามาตรวจคัดกรองมากขึ้น

สำหรับผู้เดินทางมาจากประเทศที่มีการระบาด ไทยไม่มีนโยบายกักกัน ทั้งเครื่องบินพาณิชย์ เรือสำราญ แต่ต้องผ่านการตรวจคัดกรอง วัดไข้ มีอาการทางเดินหายใจหรือไม่ เพื่อค้นหาผู้มีโอกาสติดเชื้อฯ ถ้าตรวจพบเข้าเกณฑ์จะแยกตัวส่ง ร.พ.เพื่อวินิจฉัยและรักษา คนไม่มีอาการให้เฝ้าระวังอาการป่วยไข้ 14 วัน แต่ถ้ามีอาการให้รีบมาพบแพทย์ พร้อมใส่หน้ากากอนามัย แจ้งประวัติการเดินทางไปต่างประเทศ

ส่วนผู้โดยสารเรือสำราญเวสเตอร์ดัม หากแค่มาต่อเครื่อง ไม่ได้เข้าเมือง จะมีการตรวจวัดไข้ ถ้าไม่มีอะไรก็ให้เดินทางไปต่อได้ แต่ถ้าจะเข้าเมืองจะผลักดันกลับตามนโยบาย

ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า คณะกรรมการด้านวิชาการ พิจารณาเห็นชอบในการจัดทำร่างประกาศ เสนอคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อแห่งชาติ ประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตราย ซึ่งจะมีการประชุมวันที่ 24 ก.พ.นี้ ถ้าคณะกรรมการทั้ง 30 คนมีมติเห้นชอบ จะเสนอร่างประกาศให้ประธานคณะกรรมการ คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลงนาม

การประกาศโรคติดต่ออันตราย จะทำให้การบริการจัดการโรคนี้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา การดำเนินการต่าง ๆ เสมือนเป็นโรคติดต่อันตรายอยู่แล้ว เพียงแต่จำนวนผู้ป่วยน้อย การบริหารจัดการ การเฝ้าระวัง สอบสวน รักษาพยาบาล จึงดำเนินการได้ไม่ยุ่งยากมาก และเป็นการดำเนินการแบบขอร้อง แต่หากอีก 2 เดือนข้างหน้าหรืออนาคต มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้น กฎหมายจะเป็นเครื่องมือช่วยทำงาน เวลามีคนไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำเจ้าหน้าที่ก็สามารถใช้กฎหมายเอาผิดได้ ไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือต่างชาติ ซึ่งมีโทษทั้งจำทั้งปรับ จะคล้ายกับสิงคโปร์ ที่ใช้กฎหมายให้กักตัวที่บ้าน 14 วัน ถ้ากลับมาจากประเทศระบาด เมื่อไม่ทำตามก็มีโทษ

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of ลักขณา สุริยงค์

ลักขณา สุริยงค์

ทำหน้าที่สื่อมวลชนมาเกือบ 30 ปี ทั้งงานสายข่าวและจัดรายการทีวี-วิทยุมานับไม่ถ้วน "ไม่เป็นกลาง แต่เป็นธรรม พร้อมนำเสนอความจริง"