X

‘โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำจุฬาภรณ์แบบสูบกลับ’ แบตเตอรี่พลังน้ำ แห่งที่ 2 ของภาคอีสาน

กฟผ. เตรียมพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ แห่งที่ 2 ของภาคอีสาน เป็นแหล่งพลังงานสำรองขนาดใหญ่กว่า 800 เมกะวัตต์ นับเป็นระบบกักเก็บพลังงาน หรือ Energy Storage System (ESS) ที่ช่วยเติมเต็มให้แก่โครงข่ายระบบไฟฟ้าของประเทศให้มีความมั่นคงมากยิ่งขึ้น คาดพร้อมจ่ายไฟฟ้าได้ในปี พ.ศ. 2578

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มีแผนศึกษาความเหมาะสมของพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ โดยมีโครงการสำรวจและศึกษาโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ (หก-ศบ.) เป็นผู้รับผิดชอบ  ปัจจุบัน มีแผนดำเนินงานโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำจุฬาภรณ์แบบสูบกลับ จ.ชัยภูมิ เพื่อเป็นทางเลือกในการผลิตไฟฟ้า และสร้างความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้า ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่ งเป็นโครงการพัฒนาลำดับที่ 2 ต่อจากโรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา จังหวัดนครราชสีมา ขนาดกำลังผลิตไฟฟ้าถึง 1,000 เมกะวัตต์

โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำจุฬาภรณ์แบบสูบกลับ และระบบโครงข่ายไฟฟ้า ตั้งอยู่ ตำบลทุ่งลุยลาย อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ ในลุ่มน้ำพรม-ลุ่มน้ำเชิญ บริเวณใกล้เคียงโรงไฟฟ้าเขื่อนจุฬาภรณ์ ขนาดกำลังผลิต 40 เมกะวัตต์ ที่เริ่มดำเนินการผลิตไฟฟ้ามาตั้งแต่ปี พ.ศ.2516 และโรงไฟฟ้าพลังน้ำท้ายเขื่อนจุฬาภรณ์ ขนาดกำลังผลิต 1.25 เมกะวัตต์ ที่เพิ่งเริ่มเดินเครื่องจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2562

โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำจุฬาภรณ์แบบสูบกลับ จะมีกำลังผลิตไฟฟ้า 800 เมกะวัตต์  ออกแบบอุโมงค์ส่งน้ำอยู่ใต้ดินทั้งหมด และใช้อ่างเก็บน้ำเขื่อนจุฬาภรณ์ที่มีอยู่แล้วเป็นอ่างเก็บน้ำตอนบน  ส่วนอ่างเก็บน้ำตอนล่าง เป็นการก่อสร้างเขื่อนปิดกั้นลำน้ำสุ บริเวณท้ายน้ำโรงไฟฟ้าจุฬาภรณ์ประมาณ 5 กิโลเมตร เพื่อเก็บกักน้ำที่ระบายจากโรงไฟฟ้า และสูบน้ำบางส่วนกลับไปเก็บไว้ในอ่างเก็บน้ำเขื่อนจุฬาภรณ์ ก่อนที่จะระบายลงมา เพื่อผลิตไฟฟ้าในช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง จะมีการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าจากเดิม 115 กิโลโวลต์ เป็น 230 กิโลโวลต์ โดยก่อสร้างตามแนวระบบโครงข่ายไฟฟ้าเดิมจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับถึงตำบลห้วยยาง มีระยะทางประมาณ 20 กิโลเมตร ซึ่งมีแผนจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (Commercial Operation Date: COD) ภายในปี พ.ศ.2578

โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ เป็นระบบกักเก็บพลังงาน หรือ Energy Storage System (ESS) ที่ถูกคิดค้นบนพื้นฐานความคิด ในการจัดการกระแสไฟฟ้าส่วนเกิน เพราะโดยปกติ การใช้ไฟฟ้าจะลดลงในช่วงกลางคืนที่ค่อนดึกไปแล้ว ทำให้มีกำลังการผลิตไฟฟ้าเหลือในระบบ  ดังนั้น การทำงานของโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ เป็นโรงไฟฟ้าที่มีอ่างเก็บน้ำสองส่วน คือ อ่างเก็บน้ำส่วนบน และอ่างเก็บน้ำส่วนล่าง น้ำจะถูกปล่อยจากอ่างเก็บน้ำลงมา เพื่อหมุนกังหันและเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ตอบสนองผลิตไฟฟ้าได้ทันที เมื่อต้องการผลิตไฟฟ้าเสริมเข้าระบบในกรณีเร่งด่วน  โดยในช่วงที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าต่ำหรือน้อยลง จะใช้ไฟฟ้าที่เหลือในระบบจ่ายให้แก่ปั๊มน้ำขนาดใหญ่ที่ติดตั้งอยู่ในอ่างเก็บน้ำส่วนล่าง เพื่อสูบน้ำจากอ่างเก็บน้ำส่วนล่างนี้ กลับขึ้นไปเก็บไว้ที่อ่างเก็บน้ำส่วนบน เพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้าต่อไป

โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ ถือเป็นระบบเก็บกับพลังงานที่มีต้นทุนต่ำสุดในปัจจุบัน สำหรับระบบไฟฟ้าขนาดใหญ่ (Grid System) เมื่อเทียบกับวิธีการอื่น ๆ นับเป็นการบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพสูงสุด สามารถตอบสนองต่อความต้องการไฟฟ้าช่วงที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เพื่อรักษาเสถียรภาพของระบบไฟฟ้า อีกทั้งพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ แหล่งเรียนรู้ด้านพลังงาน ช่วยเพิ่มรายได้ของชุมชนอีกทางหนึ่ง  โครงการกำลังอยู่ระหว่างการศึกษาและจัดทำ รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment: EIA ) เพื่อนำไปใช้ประกอบการขออนุญาตโครงการต่อไป

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of ลักขณา สุริยงค์

ลักขณา สุริยงค์

ทำหน้าที่สื่อมวลชนมาเกือบ 30 ปี ทั้งงานสายข่าวและจัดรายการทีวี-วิทยุมานับไม่ถ้วน "ไม่เป็นกลาง แต่เป็นธรรม พร้อมนำเสนอความจริง"