การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) พร้อมรับมือโควิด-19 “เพื่อไฟฟ้ามั่นคง ประชาชนมั่นใจ”
(ข้อมูลถึง ณ วันที่ 30 มีนาคม 2563)
มาตรการดูแลความมั่นคงระบบไฟฟ้า
♦ เปิดศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้าแห่งชาติแห่งที่ 2 และศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้าสำรอง
กฟผ. ได้เปิดศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้าแห่งที่ 2 มีระบบการทำงานเหมือนกับศูนย์หลักทุกประการ เป็นลักษณะการทำงานแบบคู่ขนาน โดยแบ่งผู้ปฏิบัติงานจากศูนย์หลัก เพื่อลดความเสี่ยงและโอกาสในการติดเชื้อ
รวมถึงตั้งศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้าสำรอง (ฺBack up) ที่แยกระบบออกมาโดยเฉพาะเพื่อเตรียมใช้งานในกรณีฉุกเฉิน หากต้องปิดศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้าเพื่อทำความสะอาดฆ่าเชื้อกรณีพบพนักงานในศูนย์ติดเชื้อ COVID-19 พร้อมให้ผู้บริหารและพนักงาน กฟผ. ที่เคยปฏิบัติงานในศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้าซึ่งมีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการควบคุมและสั่งการระบบไฟฟ้าเข้ามาร่วมเสริมทีม เพื่อให้สามารถผลิตและส่งจ่ายกำลังไฟฟ้าให้แก่ประชาชนสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง โดยไม่กระทบต่อความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศ
♦ เตรียมพร้อมบุคลากร ระบบ และอุปกรณ์ เพื่อผลิตและจ่ายไฟฟ้า
กฟผ. ได้เตรียมพร้อมบุคลากรที่มีทักษะหลากหลายในสาขาไฟฟ้า เครื่องกล และความชำนาญในการใช้อุปกรณ์ พร้อมทั้งสามารถปฏิบัติงานในพื้นที่ควบคุมได้อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งจัดเตรียมอุปกรณ์พิเศษ อะไหล่ คู่มือที่ใช้ในการซ่อมบำรุงรักษา เพื่อให้สามารถซ่อมบำรุงได้อย่างทันท่วงทีในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉิน
♦ ควบคุมดูแล ความปลอดภัยในการเข้าพื้นที่ปฏิบัติงาน กฟผ. อย่างเข้มงวด
กฟผ. มีมาตรการเข้มตั้งแต่การเฝ้าระวังในพื้นที่โรงไฟฟ้า ห้ามผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าพื้นที่โรงไฟฟ้าและอาคารศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้าอย่างเด็ดขาด รวมไปถึงดูแลพื้นที่สำนักงาน กฟผ. ทุกแห่งอย่างเข้มงวด และมีการจัดการพื้นที่สาธารณะให้เป็นไปตามหลักการ Social Distancing รักษาระยะห่างระหว่างกันให้มากที่สุด
♦ คัดกรองบุคลากร เพื่อป้องกันความเสี่ยงการแพร่กระจายเชื้อ อย่างเคร่งครัด
กฟผ. ได้มีมาตรการตรวจวัดอุณหภูมิของพนักงานทุกคนก่อนเข้าอาคาร ให้พนักงานใส่หน้ากากอนามัยในขณะทำงาน พร้อมทั้งทำความสะอาดอาคารและอุปกรณ์ทั้งหมดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อและแอลกอฮอล์เป็นประจำทุกวัน
มาตรการเพื่อสังคม
♦ Work From Home
กฟผ. มีนโยบายให้ปฏิบัติงานจากที่พักอาศัยได้สำหรับส่วนงานที่สามารถได้ เพื่อลดความแออัด และความเสี่ยงการติดเชื้อในที่ทำงานและที่สาธารณะ ถึงแม้จะเป็นการปฏิบัติงานจากที่พักอาศัย แต่ กฟผ. ได้เตรียมพร้อมและทดลองปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่อง จึงขอให้ประชาชนมั่นใจว่า มาตรการดังกล่าวจะไม่กระทบต่อการผลิตและส่งจ่ายไฟฟ้าให้แก่ประชาชนอย่างแน่นอน
♦ ผลิตและมอบเจลอนามัย น้ำใจ กฟผ. ให้หน่วยงานต่างๆ และประชาชน และสอนเย็บหน้ากากผ้า
กฟผ. ได้ผลิตเจลแอลกอฮอล์ล้างมือที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ไม่ต่ำกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ และหน้ากากอนามัยมอบให้แก่ชุมชนโดยรอบ กฟผ. ประชาชนกลุ่มเสี่ยง และโรงพยาบาล รวมถึงมีการสอนเย็บหน้ากากผ้าเพื่อให้ผู้ปฏิบัติงาน กฟผ. สามารถเย็บใช้เองและบริจาคช่วยเหลือคนอื่นๆได้
♦ สนับสนุนเงิน 30 ล้านบาท ให้โรงพยาบาลทั่วประเทศ
โดยเงินจำนวน 15 ล้านบาท ได้มอบให้แก่โรงพยาบาลที่เป็นศูนย์หลักในการรักษาผู้ป่วย COVID-19 จำนวน 7 แห่ง สำหรับสนับสนุนอุปกรณ์ทางการแพทย์ เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างคล่องตัวและเกิดประสิทธิภาพสูงสุดจากอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ครบครัน ได้แก่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า แห่งละ 2 ล้านบาท และสถาบันบำราศนราดูร จำนวน 3 ล้านบาท และสำหรับเงินอีก 15 ล้านบาท สำหรับให้ความช่วยเหลือโรงพยาบาลในต่างจังหวัด สังคม ชุมชน รอบเขต เขื่อน โรงไฟฟ้า กฟผ. ทั่วประเทศ ตามความต้องการของพื้นที่ อาทิ อุปกรณ์ทางการแพทย์ หน้ากากอนามัย เจลอนามัย เป็นต้น
♦ สนับสนุนคอมพิวเตอร์ ให้กรมควบคุมโรค เพื่อใช้ในการสื่อสารข้อมูล
กฟผ. มอบเครื่องคอมพิวเตอร์ จำนวน 5 เครื่อง ให้แก่ สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เพื่อร่วมสนับสนุนการทำงานของภาครัฐในการปฏิบัติงานสื่อสารให้ประชาชนรับทราบข้อมูลข่าวสารสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
♦ ปิดศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. และงดเข้าเยี่ยมชมโรงไฟฟ้า เพื่อลดความเสี่ยงในการกระจายเชื้อ
ปิดศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. ทั่วประเทศ จำนวน 6 แห่ง ได้แก่ ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. สำนักงานกลาง จ.นนทบุรี, ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. เขื่อนศรีนครินทร์ (ราชานุรักษ์) จ.กาญจนบุรี, พิพิธภัณฑ์ศูนย์ถ่านหินลิกไนต์ศึกษา (เหมืองแม่เมาะ) เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จ.ลำปาง, ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. จะนะ จ.สงขลา, ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ , ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. ลำตะคอง จ.นครราชสีมา และงดเข้าเยี่ยมชมโรงไฟฟ้า ตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม – 30 เมษายน 63 เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: