X

ชวนช่วย ‘ช้างไทย’ ฝ่าวิกฤติอดอยาก ช่วงโควิด-19

นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา อดีตประธานคณะอนุกรรมการด้านกฏหมายและมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาช้างไทย ระบุว่า จากวิกฤติการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวและห่วงโซ่ที่เกี่ยวเนื่อง ไม่เว้นแม้แต่ปางช้าง ที่นำช้างมาให้บริการแก่นักท่องเที่ยว เมื่อไม่มีนักท่องเที่ยว ย่อมขาดรายได้ ซึ่งเป็นปัจจัยการอยู่รอดของทั้งช้างและคน

กลุ่มคนเลี้ยงช้างจำนวนหนึ่ง ประกอบด้วย คนเลี้ยง สัตวแพทย์ และคนบริหารปางช้างกลุ่มใหญ่กลุ่มหนึ่ง จึงรวมตัวกันมุ่งเป้าไปที่การช่วยกันและกัน โดยใช้ “มาตรฐานสุขภาพช้าง” เป็นที่หมายในนาม “สมาคมสหพันธ์ช้างไทย” จึงขอเชิญชวนคนไทยกดติดตามผ่านทางออนไลน์ และร่วมกันบริจาคเพื่อช่วยเหลือช้างไทยและคนเลี้ยงช้าง “ไม่ให้อดตาย”

ช้างแต่ละเชือก กินอาหารราว 10 % ของน้ำหนักตัว (ช้างโตทั่วไปจะน้ำหนักราว 2-3,000 กิโลกรัม พอ ๆ กับน้ำหนักรถบรรทุกหกล้อ) จึงต้องกินอาหารถึงวันละประมาณ 300 กิโลกรัม

ครั้นจะพาช้างไปอยู่ชายป่า ให้หากินเองตามธรรมชาติแบบสัตว์อื่น แต่ไฟป่าก็เผาพืชอาหารตามธรรมชาติของช้างไปมาก บางพื้นที่ที่ช้างกลับบ้านนับสิบเชือก ป่าชุมชนต่าง ๆ ก็เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ที่เจ้าหน้าที่ต้องเป็นห่วงถึงสภาพป่าหลังจากช้างเข้าพื้นที่อีก

ย่านเก่าที่เคยอยู่ ก็ถูกปรับเปลี่ยนกลายเป็นแปลงเกษตรพืชเศรษฐกิจ ที่กำลังต่อสู้กับภัยแล้ง ที่แล้งที่สุดในรอบ 40 ปี

ดังนั้น อาหารช้างใน 3 เดือนข้างหน้า จึงยังไม่มีพอแบ่งให้ช้างกินได้ฟรี ๆ แบบง่าย ๆ ทั้งแหล่งน้ำธรรมชาติก็ได้แห้งขอดลง

คนเลี้ยงเองก็พลอยตกงานไปด้วย บ้างก็ต้องออกไปเป็นแรงงานรับจ้าง แล้วใครจะดูแลหาอาหารให้ช้างได้วันละ 2-300 กิโลกรัม

ช้างจำนวนมากจึงถูกจับล่ามไว้ โดยไม่มีอาหาร..ไม่มีใครไปเยี่ยมดู เพราะคนส่วนมาก self quarantine (กักตัวอยู่กับบ้าน)

ช้างและคนเลี้ยงจึงเครียด..และเสี่ยง

ต้นทุนต่อวันในการประคองชีวิตช้างของปางต่าง ๆ เป็นต้นทุนที่ลดเลี่ยงได้ยาก ทั้งค่าอาหารที่ต้องให้ต่อเนื่อง ค่าจ้างควาญที่ไม่สามารถให้พักงานได้ ต่างจากรถเช่าหรือสิ่งปลูกสร้างที่จอดหรือปิดล็อกได้เมื่อไม่ได้ใช้งาน และช้างเลี้ยงเหล่านี้มามากถึง 3,000 กว่าเชือก ที่ต้องการอาหารวันละประมาณ 900 ตัน

แต่ช้างกินต้นข้าวโพดกับหญ้าแค่นั้น ก็จะขาดวิตามิน ในที่สุดก็จะอ่อนแอลง ท้องอืด คนเลี้ยงจึงต้องหาอาหารเสริม เช่น อ้อย ผลไม้ มะขาม กล้วย แต่… เงินที่เคยได้จากนักท่องเที่ยวมาเลี้ยงทั้งช้างทั้งคนเลี้ยงช้างหายไป

สนับสนุนแพทย์-พยาบาลให้มีสุขภาพที่ดี มีระบบสนับสนุนและป้องกันการติดเชื้อที่ดีแล้ว.. ขอชวนให้นึกถึงการ “ช่วยช้าง” สัญญลักษณ์ประจำชาติไทย ด้วยอีกแรง

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of ลักขณา สุริยงค์

ลักขณา สุริยงค์

ทำหน้าที่สื่อมวลชนมาเกือบ 30 ปี ทั้งงานสายข่าวและจัดรายการทีวี-วิทยุมานับไม่ถ้วน "ไม่เป็นกลาง แต่เป็นธรรม พร้อมนำเสนอความจริง"