X

สธ.เสนอ ศบค. ‘กึ่งล็อกดาวน์’ 32 จว.ไม่พบผู้ป่วยโควิด​ -19 ใน 2 สัปดาห์ เริ่ม พ.ค.

กระทรวงสาธารณสุข ระดมความเห็นผู้เชี่ยวชาญ จัดทำข้อเสนอ ศบค. ผ่อนคลายมาตรการ ‘กึ่งล็อกดาวน์’ ต้นเดือน พ.ค.นี้ ในพื้นที่เสี่ยงน้อย 32 จังหวัด แต่ยังคุมเข้มพื้นที่ระบาด คงมาตรการเว้นระยะห่าง ห้ามจัดงานที่มีคนรวมตัวชุมนุม หนุนทำงานจากบ้านต่อ

หลังจากประเทศไทยนำมาตรการต่าง ๆ มาใช้เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ตามสถานการณ์และระดับความเสี่ยง รวมถึงการบังคับปิดกิจการและสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ รวมถึงการห้ามประชาชนออกจากเคหะสถาน (เคอร์ฟิว) ตั้งแต่เวลา 22.00-04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น ส่งผลให้มีแนวโน้มดีขึ้นเป็นลำดับ จำนวนผู้ติดเชื้อลดลงเป็นรายวัน

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้จัดประชุมคณะที่ปรึกษา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ และคณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข เพื่อจัดทำข้อเสนอ การจัดการปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 : การเปลี่ยนผ่านจากมาตรการ “กึ่งล็อกดาวน์” เข้าสู่มาตรการ “สร้างเสถียรภาพ” เพื่อเสนอต่อ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.

โดยสรุปว่า สถานการณ์ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในประเทศไทย มีแนวโน้มดีขึ้นเป็นลำดับ จากข้อมูล ณ วันที่ 14 เมษายน (ภาคผนวก 1) มี 32 จังหวัด ที่ไม่พบผู้ป่วยในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา / 38 จังหวัดมีผู้ป่วยประปรายในระยะ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา และ 7 จังหวัด มีผู้ป่วยในพื้นที่ต่อเนื่อง

มาตรการที่ประเทศไทยใช้อยู่ในปัจจุบัน มีส่วนสำคัญในการควบคุมการแพร่ระบาด โดยเฉพาะในจังหวัดที่มีสถานการณ์รุนแรง อย่างไรก็ตาม การใช้มาตรการนี้โดยครอบคลุมทุกจังหวัดทั้งประเทศ มีต้นทุนสูงทางเศรษฐกิจและสังคม หากนำมาใช้นานเกินความจำเป็น จะส่งผลกระทบรุนแรงต่อประชากรที่มีรายได้น้อย มีหนี้สินครัวเรือนสูง สร้างความกดดันทางจิตใจ และอาจกระทบกับเสถียรภาพของครอบครัว ชุมชน และสังคมโดยรวม รัฐบาลจำเป็นต้องใช้งบประมาณสูงมาก ในการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนและธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ

หลายประเทศที่กำลังใช้มาตรการล็อกดาวน์ เริ่มหาแนวทางการควบคุมโรคที่ได้ผลระดับหนึ่ง ที่จะรักษาระดับจำนวนผู้ป่วยไม่ให้มากจนเกินไป และในขณะเดียวกันก็สามารถผ่อนคลายมาตรการภาคบังคับเหล่านี้ลง ด้วยความเข้าใจว่าเราจะยังไม่สามารถกำจัดโรคให้หมดไปโดยสิ้นเชิงได้ เรายังต้องประคับประคองสถานการณ์ต่อไป จนกว่าจะมีวัคซีนป้องกันโรคมาใช้อย่างเพียงพอ

จึงเสนอ 2 ทางเลือก สำหรับการแก้ไขปัญหา ประกอบด้วย

1.เพิ่มความเข้มข้น มาตรการล็อกดาวน์ บังคับปิดสถานที่และกิจการที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อต่อไป และห้ามประชาชนออกนอกที่พักอาศัยตลอดวัน ต่อไปอีกระยะหนึ่ง (ประมาณหนึ่งหรือสองเดือน) ร่วมกับการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก ทั้งผู้ป่วยที่มีและไม่มีอาการ มาแยกรักษา แต่ต้องใช้ทรัพยากรสูงมาก ต้องมีระบบการบริหารจัดการที่ดี บังคับใช้กฎหมายเข้มแข็ง ขณะเดียวกัน จะมีผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมในระดับที่สูงมาก จึงอาจไม่เหมาะที่จะนำมาใช้กับพื้นที่ทั้งประเทศ แต่อาจนำมาใช้ในพื้นที่หรือชุมชนเล็ก ๆ ที่มีการติดเชื้อสูง

2.การเริ่มกลับมาเปิดสถานที่และกิจการอย่างเป็นขั้นเป็นตอน มีเป้าหมายที่จะควบคุมโรคให้แพร่ระบาดในระดับที่ต่ำที่สุด เพื่อให้ผู้คนสามารถกลับไปทางาน เรียนหนังสือ มีรายได้ และสังคมไม่หยุดนิ่ง สามารถดำรงชีวิตบนหลักทางสายกลางและหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งมุ่งเน้นที่ความพอประมาณ มีเหตุมีผล และมีภูมิคุ้มกันที่ดี โดยอาศัยความรู้และคุณธรรม

อย่างไรก็ตาม การเริ่มกลับมาเปิดสถานที่และกิจการอย่างเป็นขั้นเป็นตอน มีกรอบแนวทางการดำเนินการ ดังนี้

1.เพิ่มความเข้มข้นของมาตรการทางสาธารณสุขและการแพทย์ ประกอบด้วย การเพิ่มจำนวนห้องปฏิบัติการทางสาธารณสุข ให้ทุกจังหวัดมีห้องปฏิบัติการที่สามารถตรวจหาการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้อย่างรวดเร็ว การค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกในประชากรกลุ่มเสี่ยงบางกลุ่ม การแยกผู้ป่วย การรักษาผู้ป่วย การติดตาม ผู้สัมผัสอย่างรวดเร็ว มีสถานที่รองรับผู้สัมผัสและผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อย่างเพียงพอ สะดวก ได้มาตรฐานในทุกจังหวัด

2.การพิจารณาเริ่มผ่อนปรนมาตรการกึ่งล็อกดาวน์ ตามระดับความเสี่ยงของแต่ละจังหวัด ควรมีการเตรียมความพร้อม และคงระดับความเข้มข้นของมาตรการที่สำคัญอื่น ๆ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป และอาจเริ่มดำเนินการผ่อนปรนมาตรการกึ่งล็อกดาวน์ ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม ในจังหวัดที่ไม่พบผู้ป่วยไม่น้อยกว่า 2 สัปดาห์และมีความพร้อม

จังหวัดที่พบการแพร่ระบาดในวงจำกัด อาจพิจารณาเริ่มดำเนินการประมาณกลางเดือนพฤษภาคม หรือเมื่อสถานการณ์ดีขึ้น

ส่วนจังหวัดที่มีการระบาดอย่างต่อเนื่อง จะต้องดำเนินการป้องกันควบคุมโรคอย่างเข้มข้น จนสถานการณ์การแพร่ระบาดดีขึ้น ตามเกณฑ์ที่กำหนดก่อน จึงจะสามารถเปิดสถานที่และกิจการตามลำดับขั้นตอนต่อไป

3.การใช้กลไกของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร เป็นกลไกในการบริหารจัดการปัญหาภายในจังหวัด ทั้งกระบวนการออกข้อกำหนด การสั่งการ และการประสาน การทางานระหว่างหน่วยงานและภาคส่วนต่างๆ โดยจังหวัดควรเพิ่มจำนวนหน่วยปฏิบัติการควบคุมโรคให้เพียงพอ สามารถสอบสวนควบคุมโรคได้อย่างรวดเร็ว

4.คงระดับของการปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ควรจัดให้มีทีมตระหนักรู้ สถานการณ์ดำเนินการติดตามเฝ้าระวัง ประเมินสถานการณ์ พยากรณ์สถานการณ์ ทีมยุทธศาสตร์จัดเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ และจัดทำแผนเผชิญเหตุ ทีมสารองเวชภัณฑ์ฯ จัดเตรียมสารองเวชภัณฑ์ ทรัพยากร และกำลังคนอย่างเหมาะสม

5.สร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ เพื่อให้ประชาชน ครอบครัว หน่วยงาน องค์กร ชุมชน และสังคม มีความรู้ ความเข้าใจ และสามารถปฏิบัติตัวได้อย่างเหมาะสม รู้วิธีปฏิบัติตัวทั้งในยามที่ยังไม่ติดเชื้อ และรู้วิธีปฏิบัติตัวหากติดเชื้อ สามารถดูแลครอบครัวให้ปลอดโรคได้

6.การส่งเสริมให้อาสาสมัครสาธารณสุข และชุมชนมีส่วนร่มกับการป้องกันควบคุมโรคอย่างใกล้ชิด ด้วยการสนับสนุนให้อาสาสมัครสาธารณสุขและผู้นาชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมกับกระบวนการป้องกันควบคุมที่ได้

7.เปิดสถานที่และกิจการตามระดับความเสี่ยง โดยจะจัดให้มีกระบวนการประเมินความเสี่ยงของสถานที่และกิจการที่ได้ปิดไปแล้วโดยหน่วยงานภาครัฐร่วมกับภาคเอกชน ภาคธุรกิจ และภาคอุตสาหกรรม

สถานที่หรือกิจการที่มีความเสี่ยงสูง พบผู้ป่วยเป็นกลุ่มก้อน เช่น สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ สนามมวย สนามบอล การแข่งขันกีฬา บ่อนการพนัน ในรูปแบบต่าง ๆ เป็นต้น อาจต้องปิดต่อไปอีกระยะหนึ่ง

8.คงมาตรการเพิ่มระยะห่างระหว่างบุคคล (social distancing) ต่อไป เพื่อลดความแออัดของที่ทำงานและพื้นที่สาธารณะ โดยการสนับสนุนให้ทำงานจากบ้าน (work from home) ให้มากที่สุด การเหลื่อมเวลาทำงาน การเพิ่มเที่ยวการเดินรถสาธารณะ งดการจัดการประชุม งดการจัดการชุมนุม งดงานสังคม หรืองานอีเวนต์ขนาดใหญ่ ที่จะก่อให้เกิดการวมตัวของผู้คนเป็นจำนวนมาก สนับสนุนการนำเทคโนโลยีมาใช้ ในการทำงาน การประชุม การติดต่อบริการ การเรียนการสอน การซื้อของ หรือการทำธุรกรรมต่าง ๆ (ภาคผนวก 3)

ข้อเสนอดังกล่าว ยังคาดการณ์ผลที่คาดว่าจะได้รับ ประเทศไทยสามารถควบคุมการแพร่ระบาดในระดับต่ำ มีผู้เสียชีวิตน้อยที่สุด ขณะที่ประชาชนสามารถเริ่มกลับมาทำงานได้ ดำเนินชีวิตได้ในระดับหนึ่ง ด้วยวิถีชีวิตแบบใหม่ (new normal) พร้อมมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและสังคม

นอกจากนี้ ยังเสนอแนะแนวทางการดำเนินงานในระยะต่อไปว่า ศบค.และรัฐบาล สามารถให้นโยบายไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและจังหวัดทุกจังหวัด เพื่อเตรียมการและจัดทำแผนการผ่อนคลาย มาตรการ บังคับปิดกิจการและสถานที่เสี่ยงอย่างเป็นขั้นเป็นตอน
กระบวนการเตรียมการและจัดทำแผน ควรเป็นกระบวนการที่ภาครัฐควรเปิดโอกาสให้ภาควิชาการ ภาคเอกชน ผู้ได้รับผลกระทบและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เข้ามามีส่วนร่วม เพื่อให้ได้แผนที่สามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างปลอดภัยไปใช้ต่อไป

รายละเอียดข้อเสนอ อ่านได้ที่นี่
file:///C:/Users/User/Downloads/21เมย_1415น%20edit%20reopen%20framework%20v200%20-%20Copy.pdf

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of ลักขณา สุริยงค์

ลักขณา สุริยงค์

ทำหน้าที่สื่อมวลชนมาเกือบ 30 ปี ทั้งงานสายข่าวและจัดรายการทีวี-วิทยุมานับไม่ถ้วน "ไม่เป็นกลาง แต่เป็นธรรม พร้อมนำเสนอความจริง"