กรณีตรวจพบแรงงานต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมาย 42 คน ในศูนย์กักตัวผู้ต้องกัก ตรวจคนเข้าเมือง จ.สงขลา ติดเชื้อโควิด-19
ศ.ดร.นพ.วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ จากหน่วยระบาดวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้เขียนบทความ ‘ตามล่าหาโควิด สะกิดแผลเก่า’ โดยสรุปว่า
เรื่องนี้ทำให้คนไทยรู้สึกไปต่าง ๆ กัน เช่น
• ที่ผ่านมามีการกลบเกลื่อนความจริงหรือเปล่า
• การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจะทำให้โรคกลับมาระบาดอีกไหม
• ไปพบผู้ป่วยพวกนี้ได้อย่างไรกัน
• ต้องค้นหาผู้ป่วยในจุดต่าง ๆ เพิ่มขึ้นอีกไหม
• แล้วจะทำอย่างไรกับคนต่างชาติที่เข้าเมืองผิดกฎหมายเหล่านี้
ที่ผ่านมา เป็นที่ยืนยันหลายต่อหลายครั้งว่า ทางการไทยไม่เคยคิดจะปกปิดหรือบิดเบือนข้อมูลเลย เพียงแต่แพทย์ต้องรายงานผลการตรวจหาผู้ป่วย ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนั้น ๆ และผู้ว่าฯ แจ้งขึ้นไปทางนายกรัฐมนตรี และเข้าสู่ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ไม่เคยได้ยินแพทย์บ่นเรื่องความพยายามปกปิด เพียงแต่ต้องชะงักการตัดสินใจว่า ถ้าสาธารณชนรับรู้ข่าวแล้วจะมีคววมรู้สึกอย่างไร และในที่สุด ก็มีการเผชิญหน้าความจริงอย่างโปร่งใส สร้างการมีส่วนร่วมในการแก็ปัญหา
ข่าวน่าสนใจ:
เหตุการณ์นี้ เกิดขึ้นหลังจาก เจ้าหน้าที่หน่วยราชการแห่งหนึ่ง ที่ทำงานเกี่ยวกับความมั่นคงติดเชื้อในที่ทำงาน และลามไปอีกแห่งหนึ่ง รวม 8 คน เจ้าหน้าที่อีก 31 คน ตรวจไม่พบเชื้อแต่ต้องกักตัว 14 วัน ต้องล้างทำความสะอาดและปิดสำนักงาน หลายวัน ต่อมา นักระบาดวิทยาสืบสวน จนได้เบาะแสว่าเชื้ออาจจะมาจากผู้ต้องขังในศูนย์กักกันคนต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง จึงตรวจพบติดเชื้ออีก 42 คน ทั้งมาเลเซีย พม่า เวียดนาม อินเดีย ปากีสถาน และเยเมน อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ยังตรวจไม่หมด ยังมีชาวโรฮินญาอีกมากที่ยังไม่ได้ตรวจ
ศ.ดร.นพ.วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ ระบุอีกว่า ทั้ง 2 ข่าวนี้ ต้องชื่นชมความโปร่งใสของหน่วยราชการแห่งนั้น และสาธารณสุข ที่ทำงานอย่างตรงไปตรงมา ทำให้คนไทยทราบสถานการณ์ที่แท้จริงในเวลาอันรวดเร็ว คนที่ตรวจพบเชื้อเกือบทั้งหมดไม่มีอาการ ที่รู้ว่าติดเชื้อเกิดจากการสอบสวนโรค แต่คงไม่ถึงขั้นจะบ่งชี้ไปในทิศทางว่า โควิด-19 จะกลับมาระบาดหนักในไทยอีก เพราะหน่วยราชการไทยตรวจพบผู้สัมผัสติดเชื้อได้เร็ว จึงหวังว่าโรคจะไม่กระจายไปกว้างนัก ส่วนที่ศูนย์กักกัน ตรวจพบค่อนข้างช้า อัตราตรวจพบเชื้อราว 80% ใกล้เคียงกับกลุ่มที่กลับจากอินโดนีเซีย เมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้ว แสดงว่าเชื้อแพร่ในกลุ่มนี้เกือบจะเต็มที่ แต่ถูกกักบริเวณ จึงน่าจะยังไม่แพร่เชื้อออกมากนัก อย่างไรก็ตาม อาจจะพลาดกันได้ ให้รออีก 1 สัปดาห์จะรู้ผล
อาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ จากหน่วยระบาดวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มอ. ระบุอีกว่า ระบบสาธารณสุขไทยทำ contact tracing (กระบวนการสอบสวนติดตามสอบสวนโรค) เก่งมาก ยกตัวอย่งกรณีสนามมวย ติดตามและกักตัวได้ แม้เดินทางกลับต่างจังหวัด โรคจึงสงบ โดยการทำ contact tracing ควบคู่กับ social distancing (เว้นระยะห่างทางสังคม) ซึ่ง 2 วิธีนี้ได้ผลอย่างดี ในรอบ 2-3 เดือนที่ผ่านมา ขณะที่ยุโรปและอเมริกาไม่ได้ทำ จึงโดนโควิดเล่นงานหนัก จำนวนผู้ป่วยสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จนทำไม่ไหว แต่ในไทยจำนวนผู้ป่วยยังอยู่ในระดับที่พอรับมือได้อย่างที่เห็น เพราะงานเชิงรุกที่ทำได้ดีกว่า
นอกจาก contact tracing แล้ว สาธารณสุขยังมียุทธการปูพรมในบางกรณี เช่น การตรวจค้นบางพื้นที่ใน กทม. และล่าสุด จ.ยะลา ซึ่งน่าชื่นชม
นอกจากนี้ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งดูแลกระทรวงสาธารณสุข (นายอนุทิน ชาญวีรกูล) ยังให้หลักการที่น่ายกย่องว่า เราต้องรักษาทุกชีวิตตามมาตรฐานสาธารณสุขไทย แม้เป็นชาวต่างชาติที่ติดเชื้อในศูนย์กักกัน ส่วนประเด็นการหลบหนี และอาจทำให้เกิดการแพร่เชื้อโรค ในพื้นที่กำลังหาทางแก้ปัญหาอยู่ ทั้งนี้ เรื่องผู้อพยพ บางทีต้องทำใจและให้เวลาเยียวยาปัญหาสังคมอันซับซ้อนของมนุษยชาติ ท่าทีที่เปิดเผยให้คนอื่นมีส่วนรับรู้และช่วยเหลือร่วมมือ จะทำให้ทุกอย่างค่อย ๆ ดีขึ้น
“โควิดสะกิดแผลเก่าทางสังคมทุกเรื่อง การสอบสวนโรคทำให้เห็นบาดแผลทางสังคมของชาติ ที่บางทีก็เปิดเผยไม่ได้ และบางที(อย่างกรณีศูนย์กักตัว) เราก็ควรเปิดเผยอย่างเต็มภาคภูมิ ความเปิดเผย โปร่งใส คือ ความพัฒนาการทางสังคมไทย เหมือนแสงสว่างที่ไล่ปีศาจแห่งความมืด หรือความชั่วร้ายออกไป การเปิดเผยทำให้ทุกคนสบายใจและร่วมใจกันช่วยเหลือกันหาทางออก สงครามกับโควิดซึ่งยังไม่รู้ว่าจะยาวนานเพียงไหน จะสิ้นไปด้วยใจของคน เหมือนสงครามเวียดนามไหมครับ อ่านแล้วอย่าลืมส่งกำลังใจให้คุณหมอนักสอบสวนโรคในที่ต่าง ๆ ของประเทศด้วยนะครับ” ศ.ดร.นพ.วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ ระบุในตอนท้าย
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: