ทุกย่างก้าวที่ กฟผ. เดินเคียงข้างคนไทยและสังคมไทย กฟผ. ได้สั่งสมประสบการณ์จากความสำเร็จ รวมทั้งจากปัญหาและอุปสรรคที่เคยเผชิญ ซึ่งถือเป็นแรงผลักดันและจุดประกายให้การก้าวต่อจาก 5 ทศวรรษ เราต้องคิดและทำให้มากขึ้นกว่าเดิม เพื่อให้รักษาจุดมุ่งหมายและความตั้งใจที่มีมาตลอดระยะเวลากว่า 50 ปี นั่นคือความมั่นคงทางพลังงาน และความยั่งยืนในสังคมไทย
มั่นคงด้วยขุมพลังจากเทคโนโลยีในการผลิตที่หลากหลาย
หนึ่งในภารกิจสำคัญของ กฟผ. คือ การสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ กฟผ. จึงวางแผนเดินหน้าสร้างโรงไฟฟ้าให้เป็นไปตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือแผนPDP 2018 เพื่อรองรับความต้องการใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน และเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
ในภาคการผลิตไฟฟ้า การสร้างโรงไฟฟ้าแต่ละโรงนั้นนอกจากการมีโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิลซึ่งถือเป็นฐานหลักของขุมพลังที่แข็งแกร่งแล้ว กฟผ. ยังคำนึงถึงรูปแบบเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่จะมาใช้ร่วมกับโรงไฟฟ้าที่มีอยู่เพื่อรองรับพลังงานหมุนเวียนและเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีด้วย ดังเช่นการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานีซึ่งนับเป็นโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำแบบไฮบริดที่ใหญ่ที่สุดในโลกด้วยกำลังการผลิต 45 เมกะวัตต์ พร้อมกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบภายในปีนี้ และนั่นจะเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนของประเทศ เพื่อลดข้อจำกัดความไม่แน่นอนของพลังงานหมุนเวียน ทำให้สามารถผลิตไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่อง มีเสถียรภาพ และช่วยให้ประชาชนได้ใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด
มั่นคงในระบบส่งด้วยโครงข่ายที่ครอบคลุมพร้อมพัฒนาสู่ศูนย์กลางซื้อขายไฟฟ้าของอาเซียน
การพัฒนาระบบส่งรองรับ เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องทำคู่ขนานกันไปหากต้องการให้ทุกคนทุกบ้านมีไฟฟ้าใช้อย่างทั่วถึงและเกิดความมั่นคงทางพลังงาน นั่นคือที่มาของการพัฒนาโครงข่ายระบบส่งไฟฟ้าของประเทศให้มีความมั่นคงแข็งแรง พร้อมจัดหาเครื่องมืออุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพและทันสมัยมาเชื่อมต่อกับระบบจำหน่ายไฟฟ้ารองรับการผลิตไฟฟ้าใช้เองที่เพิ่มมากขึ้นด้วยรวมทั้งมีการเตรียมนำระบบกักเก็บพลังงานมาเสริมความแข็งแกร่งให้กับโครงข่ายไฟฟ้าของประเทศอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อขยายขอบเขตการแลกเปลี่ยนซื้อขายพลังงานในระดับภูมิภาคและสร้างโอกาสในการพัฒนาสู่การเป็นศูนย์กลางซื้อขายไฟฟ้าของภูมิภาคอาเซียน เพื่อให้เกิดการบูรณาการการใช้ทรัพยากรภายในภูมิภาคร่วมกัน สามารถส่งจ่ายพลังงานไปยังแหล่งที่มีความต้องการใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มุ่งสู่สมดุล 3 ประการ คือ ความมั่นคง ราคาเหมาะสม และความยั่งยืน
มั่นคงด้วยการพัฒนานวัตกรรมและธุรกิจใหม่ที่สร้างการเติบโตไปด้วยกัน
การขับเคลื่อนการดำเนินงานให้ก้าวไปข้างหน้าในยุคของการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีนั้น กฟผ.ได้ติดตามและสนับสนุนให้เกิดการพัฒนานวัตกรรม เพื่อนำมาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานขององค์การ เช่น ด้านพลังงานหมุนเวียนเพื่อให้สอดรับกับทิศทางพลังงานโลก โดยที่ผ่านมาได้พัฒนาผลงานวิจัยและนวัตกรรมการผลิตไฟฟ้า มาใช้พัฒนาระบบไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น หรือที่เรียกว่า Grid Modernization ทั้งการปรับปรุงโรงไฟฟ้าหลักให้มีความยืดหยุ่น การพัฒนาระบบกักเก็บพลังงาน การปรับปรุงสถานีไฟฟ้าแรงสูงเป็นระบบดิจิทัล การสร้างแพลตฟอร์มการซื้อขายไฟฟ้า รวมถึงการพัฒนาระบบพยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และศูนย์ควบคุมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน โดยมีการดูแลบริหารจัดการความสามารถในการจ่ายไฟฟ้าให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน
ไม่เพียงเท่านั้น ยังเปิดกว้างให้กับพนักงานนักคิดรุ่นใหม่ โดยสนับสนุนการพัฒนาธุรกิจในแบบที่ กฟผ. ยังไม่เคยทำมาก่อน เช่น“โครงการนำร่องติดตั้ง Solar Rooftop สำหรับพนักงาน กฟผ.” ภายใต้แบรนด์ loops อีกหนึ่งโอกาสที่น่าสนใจในการแสวงหาและพัฒนาต่อยอดธุรกิจจากนวัตกรรมทางพลังงานไฟฟ้า เพื่อพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น โดยเป็นโครงการที่จะส่งมอบบริการด้าน Solar Rooftop แบบครบวงจร พร้อมบูรณาการกับธุรกิจอื่น ๆ ของ กฟผ. ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น EGAT EV Charging Station การให้บริการร้านกาแฟและบ้านพักตามเขตเขื่อนผ่านแคมเปญทางการตลาด เพื่อให้เกิดการหล่อหลอมธุรกิจที่หลากหลายให้เดินไปด้วยกันด้วยเป้าหมายเดียวกัน และคาดว่าต้นปี 2564 จะได้มีการเริ่มต้นนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการอย่างเป็นทางการให้แก่ประชาชนต่อไป
ยั่งยืนในวิถีชีวิตความเป็นอยู่ด้วยศาสตร์พระราชา
อีกหนึ่งภารกิจหน้าที่ของ กฟผ. ที่ทำมาอย่างต่อเนื่องและมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการทำหน้าที่ผลิตไฟฟ้า คือการสร้างความสุขและรอยยิ้มให้กับคนไทยด้วยการพัฒนาชีวิตความอยู่ที่ยั่งยืนให้แก่สังคมและชุมชน ผ่านการน้อมนำศาสตร์พระราชาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนมาเป็นแนวทางการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำในบริเวณ “เขื่อน 7 พระนาม 3 โรงไฟฟ้า” ได้แก่
เขื่อนภูมิพล จ.ตาก ซึ่งเป็นพื้นที่นำร่องแห่งแรก เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ เขื่อนศรีนครินทร์และเขื่อนวชิราลงกรณ จ.กาญจนบุรี เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น เขื่อนจุฬาภรณ์ จ.ชัยภูมิ โรงไฟฟ้าแม่เมาะ จ.ลำปาง โรงไฟฟ้าวังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา และโรงไฟฟ้าบางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อพัฒนาชุมชนรอบเขตเขื่อนโรงไฟฟ้าให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถยืดหยัดพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน นอกจากนี้ จะได้นำไปปรับใช้กับการดำเนินโครงการใหม่ ๆ ของ กฟผ. เพื่อให้เกิดการยอมรับและความเข้าใจที่ตรงกันระหว่าง กฟผ. กับกลุ่มผู้มีส่วนได้เสีย อย่างโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน ซึ่งใช้วัสดุทางการเกษตรเป็นเชื้อเพลิง โดยชุมชนจะมีส่วนร่วมในการพัฒนาพลังงานในพื้นที่ และเป็นเจ้าของพลังงานเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้ชุมชนมีรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
โมเดลโรงไฟฟ้าชุมชนนั้นจะน้อมนำศาสตร์พระราชา และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงว่าด้วยเรื่องของ โคก หนอง นา มาผสมผสานเพื่อเป้าหมายที่ต้องการให้ชุมชนพึ่งพาตัวเองได้อย่างยั่งยืนใน 3 เรื่องหลัก คือ อาหาร น้ำ และพลังงาน ทั้งยังสามารถฉายภาพของนโยบายพลังงานเพื่อทุกคน หรือ Energy For All ได้อย่างเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนมากขึ้นด้วย โดยโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ กำลังการผลิต 2-3 เมกะวัตต์ ใช้เชื้อเพลิงชีวมวล จะเป็นโรงไฟฟ้าชุมชนแห่งแรกของ กฟผ. และของประเทศ
ยั่งยืนบนพื้นฐานของการแบ่งปันความรู้
กฟผ. ร่วมสร้างสังคมแห่งภูมิปัญญา ด้วยการส่งเสริมและส่งต่อความรู้ผ่านศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. และ โครงการห้องเรียนสีเขียว โดยศูนย์การเรียนรู้นั้น ปัจจุบันได้เปิดทำการและกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศแล้ว 6 แห่ง คือ ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. สำนักงานกลาง จ.นนทบุรีศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. ลำตะคอง จ.นครราชสีมา พิพิธภัณฑ์ศูนย์ถ่านหินลิกไนต์ศึกษา (เหมืองแม่เมาะ) เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จ.ลำปาง ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. ทับสะแก (พลังคิด ดี) จ.ประจวบคีรีขันธ์ ศูนย์การเรียนรู้ราชานุรักษ์ กฟผ. เขื่อนศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี และศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. จะนะ (พลังคิด) จ.สงขลา ซึ่งทุกแห่งพร้อมต้อนรับเยาวชนและประชาชนให้ได้รับความรู้เรื่องพลังงานไฟฟ้ากันอย่างทั่วถึงควบคู่ไปกับความสนุกสนานผ่านการนำเสนอด้วยสื่อสมัยใหม่แบบผสมผสาน นอกจากนี้ยังมีอีก 2 แห่งที่กำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการอย่างศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. แม่ออน จ.เชียงใหม่ และศูนย์การเรียนรู้โครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ กฟผ. แม่ฮ่องสอน จ.แม่ฮ่องสอน ที่มุ่งหวังให้ความรู้ด้านการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า และการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างยั่งยืน
ยิ่งไปกว่านั้น ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. สำนักงานกลาง ยังเตรียมความพร้อมยกระดับสู่การเป็น EGAT Energy Excellence Center แหล่งเรียนรู้พลังงานสะอาดและยั่งยืนที่สามารถบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าได้ในพื้นที่ของตัวเอง โดยตั้งเป้าหมายให้เป็น ZERO Building ลดการใช้พลังงานจากระบบไฟฟ้า ด้วยการพึ่งพาพลังงานหมุนเวียนจากแหล่งต่าง ๆ ที่จะติดตั้งภายในศูนย์การเรียนรู้ฯ มีการพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะขนาดเล็กเพื่อนำร่องทดสอบการผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสานจากพลังงานแสงอาทิตย์ เครื่องยนต์ก๊าซที่ใช้เชื้อเพลิงก๊าซชีวภาพจากการหมักขยะและก๊าซธรรมชาติ ทำงานควบคู่กับระบบกักเก็บพลังงานและเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน ร่วมด้วยระบบอินเวอร์เตอร์ของ กฟผ. โดย EGAT Energy Excellence Center จะเป็นแห่งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีการนำเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนจำนวนมากที่สุดที่มีอยู่ในตลาดพลังงานไฟฟ้ามาใช้ด้วยกัน ประสานพลังความร่วมมือกับหน่วยงานชั้นนำทางด้านพลังงานไฟฟ้า เพื่อให้ได้ต้นแบบของการบูรณาการพลังงานหมุนเวียนให้ระบบไฟฟ้ามีความมั่นคงและมีเสถียรภาพและจะเป็นประโยชน์ต่อการใช้งานในภาคประชาชนต่อไป
สำหรับโครงการห้องเรียนสีเขียว กฟผ. ได้มีการดำเนินกิจกรรมมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2541 ด้วยความตระหนักถึงความสำคัญของการเรียนรู้ด้านพลังงานและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพที่ต้องปลูกฝังแต่วัยเยาว์ และ กฟผ. ตั้งใจต่อยอดไปสู่การสนับสนุนให้โรงเรียนเป็นศูนย์กลางในการเผยแพร่และแบ่งปันความรู้สู่สังคม รวมถึงเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมที่ก้าวทันโลก พร้อมส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้ ทัศนคติ และพฤติกรรม ในการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า ด้วยการบูรณาการองค์ความรู้ด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมในระดับโรงเรียนตามแนวคิดศาสตร์พระราชาผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ภายใต้การดำเนินโครงการฯ
ยั่งยืนจากความห่วงใยและรับผิดชอบต่อสังคม
กฟผ. ไม่ได้ยืนอยู่เพียงลำพัง โดยรอบข้างนั้นมีสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ที่ต้องเติบโตไปด้วยกัน จึงทำให้มีโครงการที่เกิดขึ้นจากความห่วงใยและความรับผิดชอบต่อสังคมนับไม่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็นโครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่มุ่งหวังให้ชุมชนพึ่งพาตนเองได้ โครงการปลูกป่า กฟผ. ที่ช่วยสร้างออกซิเจนคืนสู่ธรรมชาติ โครงการแว่นแก้ว ที่มอบความสดใสให้กับดวงตาแก่ผู้ยากไร้ โครงการ Move World Together เพื่อพลังงานและสิ่งแวดล้อม ที่สนับสนุนให้เยาวชนคิดอย่างสร้างสรรค์เพื่อแก้ไขปัญหาด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการสนับสนุนทางด้านกีฬาประเภทต่างๆ เพื่อยกระดับขีดความสามารถของนักกีฬาไทยให้เป็นที่ยอมรับในเวทีโลก และโครงการสาธารณประโยชน์อื่น ๆ อีกมากมาย นอกจากนี้ ในทุกๆการดำเนินงาน พนักงาน กฟผ. มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อน จึงมีการปลูกฝังและสร้างจิตสำนึกพนักงานให้มีจิตอาสาในการทำงานด้วยหัวใจ ทำให้แม้จุดเล็ก ๆ ของความเดือดร้อนของสังคมและชุมชนก็ยังได้รับความใส่ใจอยู่เสมอ พร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือบรรเทาและอยู่ร่วมในทุกวิกฤตสถานการณ์ เพื่อเป้าหมายเดียวกันคือการสร้างความสุขให้กับคนไทย
ทั้งหมดนี้ คือสิ่งที่ กฟผ. ทำ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา รวมถึงทิศทางที่จะเดินหน้าก้าวต่อไป สิ่งดี ๆ ที่เราตั้งใจจะสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้น ทำให้เรามั่นใจที่จะก้าวต่ออย่างมั่นคง และนับจากนี้ถือเป็นความท้าทายของคน กฟผ. ทุกคนที่จะร่วมกันขับเคลื่อน ด้วยพลังความสามารถ ศักยภาพ และด้วยหัวใจที่มี ซึ่งเป็นของขวัญที่เราตั้งใจมอบให้กับคนไทยเสมอมาไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใด ๆ เพื่อให้เราทุกคนมีความสุขไปด้วยกัน
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: