กรุงเทพฯ – โฆษก ศบค. เผย 14–15 พ.ค. จะยกร่างข้อกำหนดผ่อนคลายระยะที่ 2 ทดลองใช้กลุ่มตัวอย่างด้วย Sandbox เช่น ห้างสรรพสินค้า ก่อนเปิดบริการ 17 พ.ค.
วันที่ 9 พฤษภาคม 2563 นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ชี้แจงกระบวนการผ่อนคลายมาตรการระยะที่ 2 โดยตามไทม์ไลน์ วันที่ 8–12 พ.ค.นี้ จะรับฟังความคิดเห็น วันที่ 13 พ.ค.จะประเมินผลระยะที่ 1 รวบรวมชุดข้อมูล ซักซ้อมทำความเข้าใจ จากนั้น วันที่ 14–15 พ.ค.จะยกร่างข้อกำหนดใหม่ ที่จะนำไปสู่การผ่อนคลายในระยะที่ 2 และทดลองใช้ด้วยวิธีการ Sandbox คือ หากลุ่มตัวอย่างเพื่อทดลองเปิดให้บริการ เช่น ห้างสรรพสินค้า เพื่อสังเกตมาตรการที่ใช้ภายในห้าง การปฏิบัติตัวของประชาชนที่เข้ามาใช้บริการ มีข้อจำกัดอย่างไร เพื่อประเมินผลในวันที่ 16 พ.ค. หากประสบความสำเร็จ วันที่ 17 พ.ค. จะประกาศมาตรการผ่อนคลายระยะ 2
อย่างไรก็ตาม ยังมีรายละเอียดอีกมากที่ ศบค. จะต้องประชุมหารือกับกระทรวงสาธารณสุข ฝ่ายความมั่นคง และภาคเอกชน เพื่อสร้างความมั่นใจ หากเปิดให้บริการแล้วจะไม่มีการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด-19 มากขึ้น เมื่อมีมติจากที่ประชุมแล้ว จะรายงานรายละเอียดโดยเร็ว เพื่อให้ผู้ประกอบการจัดเตรียมมาตรการ และให้ประชาชนเข้าใจมาตรการผ่อนคลายด้วย
นายแพทย์ทวีศิลป์ ยังเปิดเผยความคืบหน้า การตรวจหาผู้ป่วยเชิงรุก (Active Case Finding) ที่ชุมชนคลองเตย และในจังหวัดอื่น ๆ ว่า กรมควบคุมโรครายงานการตรวจหาผู้ป่วยเชิงรุกแล้ว 4 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ตรวจหาผู้ป่วยเชิงรุก 3,581 คน พบผู้ติดเชื้อ 1 คน, ยะลา ตรวจ 3,277 คน พบผู้ติดเชื้อ 20 คน, ภูเก็ต ตรวจ 2,552 คน พบผู้ติดเชื้อ 26 คน และกระบี่ ตรวจ 477 คน พบผู้ติดเชื้อ 3 คน รวมตรวจเชิงรุก 7,993 คน พบผู้ติดเชื้อ 44 คน คิดเป็น 0.55 %
ข่าวน่าสนใจ:
ส่วนที่ตลาดนัดจตุจักร กลับมาเปิดให้บริการตามปกติในวันนี้ อาจจะมีผู้มาใช้บริการเป็นจำนวนมากนั้น โฆษก ศบค. กล่าวว่า ผู้ประกอบการและผู้ใช้บริการมีส่วนสำคัญ ขอให้ยึดประกาศราชกิจจานุเบกษา ที่มีแนวปฏิบัติตามข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 ขณะเดียวกันการตรวจสถานประกอบการมีทั้งหมด 3 ระดับ คือ 1.การตรวจสอบตามมาตรการหลัก ได้แก่ การทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัส สวมหน้ากากอนามัย บริการจุดล้างมือ การเว้นระยะห่าง และการควบคุมความแออัด 2.การตรวจสอบมาตรการเสริม เฉพาะกิจการ/กิจกรรม ซึ่งแตกต่างตามประเภทของการให้บริการ และ 3.การตรวจตามคู่มือปฏิบัติโดยละเอียด เพื่อยืนยันว่าทั้ง 3 ระดับดังกล่าว จะปลอดเชื้อและปลอดภัย หากพบเห็นผู้ประกอบการไม่ปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนด สามารถแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการได้
ทั้งนี้ แม้กลุ่มผู้ค้าที่จำหน่ายอาหารในตลาดนัด ยังไม่ปรากฏอยู่ในกลุ่มเสี่ยงทั้ง 6 กลุ่ม แต่ทุกคนถือว่ามีความเสี่ยง หากเดินทางไปยังสถานที่เสี่ยงที่มีความแออัด หรือสถานที่ที่พบผู้ติดเชื้อ ดังนั้น การปฏิบัติตามมาตรการหลัก 5 ข้อ จึงมีความสำคัญและจำเป็น การดูแลป้องกันตนเองและผู้อื่นเป็นเรื่องสำคัญ ฝากทุกคนช่วยกันดูแลสุขภาพ เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านจากระยะที่ 1 เป็นไปได้ด้วยดี ร่วมมือกันปฏิบัติอย่างมีสติ เพื่อให้ 7-14 วันข้างหน้า จะได้มีพื้นที่เปิดโล่งมากขึ้น
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: