กรุงเทพฯ – กฟผ. ร่วมบริหารจัดการน้ำ ตามแนวทาง สทนช. ติดตามสถานการณ์น้ำในเขื่อน เพื่อเตรียมรับมือภัยแล้งและฤดูฝนอย่างใกล้ชิด พร้อมช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยแล้งรอบพื้นที่เขื่อนของ กฟผ.
นายประเสริฐ อินทับ ผู้ช่วยผู้ว่าการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยถึงการบริหารจัดการน้ำของ กฟผ. ในช่วงฤดูแล้งนี้ว่า ได้ดำเนินการภายใต้การกำกับดูแลของ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) โดยสถานการณ์ฝนแล้งในช่วงปีที่ผ่านมา ส่งผลต่อปริมาณน้ำ ในภาพรวมของเขื่อน กฟผ. ทั่วประเทศ โดยเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนห้วยกุ่ม และเขื่อนรัชชประภา มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อย และเขื่อนอุบลรัตน์ มีปริมาณน้ำต่ำกว่าระดับเก็บกักต่ำสุด
กฟผ. ได้วางแนวทางการบริหารจัดการน้ำของ กฟผ. ในช่วงฤดูแล้งปี 2562/2563 ของเขื่อนที่มีปริมาณน้ำต้นทุนในเกณฑ์น้อย โดยให้มีการระบายน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค และรักษาระบบนิเวศเท่านั้น
ทั้งนี้ ตลอดช่วงภัยแล้ง กฟผ. ได้มีส่วนร่วมดำเนินการบรรเทาและแก้ไขปัญหาผลกระทบจากภัยแล้ง ด้วยการสนับสนุนน้ำอุปโภค-บริโภคปริมาณน้ำรวม 1 ล้าน 612,632 ลิตร ให้แก่ชุมชนในพื้นที่เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนวชิราลงกรณ เขื่อนรัชชประภา เขื่อนบางลาง และโรงไฟฟ้าพลังน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้งยังให้บริการน้ำดิบและน้ำประปา ประมาณ 28 ล้านลิตร เพื่อใช้ในชุมชนที่ประสบปัญหาภัยแล้ง พร้อมสนับสนุนน้ำดิบและน้ำประปา เพื่อนำไปใช้อุปโภคและทำการเกษตรผ่านโครงการต่าง ๆ ได้แก่ โครงการสูบน้ำจากหน้าอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์ ส่งน้ำลงท่อที่เขื่อนดินช่องเขาขาด เพื่อส่งน้ำไปลงบ่อพักด้านท้ายเขื่อน และผ่านท่อของโครงการจัดหาน้ำผู้อพยพท้ายเขื่อนสิริกิติ์ ตามพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร และคลองสิงห์ กว่า 2.18 ล้าน ลบ.ม. เพื่อช่วยเหลือชุมชนที่อยู่บริเวณริมคลองสิงห์ให้มีน้ำเพียงพอสำหรับการใช้อุปโภคตลอดช่วงฤดูแล้ง
ผู้ช่วยผู้ว่าการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน กฟผ. กล่าวต่อว่า ช่วงฤดูฝนที่จะถึงนี้ กฟผ. ยังมีแผนตรวจสอบและประเมินความมั่นคงปลอดภัยของตัวเขื่อน อ่างเก็บน้ำ อาคารชลศาสตร์ ระบบระบายน้ำ และสถานีโทรมาตร ให้พร้อมใช้งาน ตลอดจนตรวจสอบสิ่งกีดขวางทางน้ำที่จะเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการระบายน้ำและอาจส่งผลให้เกิดปัญหาท่วมขัง พร้อมกันนี้ ได้ดำเนินการสร้างฝายชะลอน้ำบริเวณป่ารอบพื้นที่เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนศรีนครินทร์ และเขื่อนรัชชประภา รวม 415 ฝาย เพื่อชะลอการไหลของน้ำไม่ให้เกิดปัญหาน้ำท่วม ช่วยลดการพังทลายของดิน และช่วยเพิ่มปริมาณน้ำในฤดูแล้ง เพื่อเป็นการแก้ปัญหาในระยะยาวต่อไป
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: