X

บิน ‘โดรน’ ปลอดภัย ห่างไกลแนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูง

โดรน หรืออากาศยานที่ควบคุมจากระยะไกล ปัจจุบันกำลังเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะใช้เล่นเป็นงานอดิเรก หรือใช้ประโยชน์ในกิจการต่าง ๆ โดยเฉพาะประโยชน์จากการถ่ายภาพมุมสูงที่ทำให้ได้ภาพที่มีความสวยงามและแปลกตา รวมทั้งการสำรวจพื้นที่ การบำรุงรักษาสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ หรือแม้แต่การสอดแนมในภารกิจโจมตีในต่างประเทศ เป็นต้น แต่น้อยคนที่จะรู้ว่า การบินโดรนอย่างไม่ระมัดระวังนั้น อาจนำมาซึ่งอันตรายได้

อย่างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับช่างภาพอิสระท่านหนึ่งในจังหวัดกระบี่ ประสบอุบัติเหตุขณะบินโดรนเพื่อถ่ายภาพมุมสูงของบรรยากาศธรรมชาติและทะเลหมอกยามเช้าที่ถ้ำเขาไม้แก้ว ซึ่งบริเวณโดยรอบมีเสาไฟฟ้าแรงสูงอยู่หลายต้น และในวันนั้นสภาพอากาศมีความชื้นสูงและหมอกลงหนาจัด ระหว่างบินโดรนได้มีสัญญาณแจ้งเตือนว่า บริเวณดังกล่าวมีสนามแม่เหล็กและสนามไฟฟ้ารบกวน เขาจึงตัดสินใจรีบนำโดรนลงจอด ขณะกำลังลงจอดนั้น เขายืนห่างจากเสาส่งไฟฟ้าแรงสูงในรัศมีไม่เกิน 5 เมตร ส่วนโดรนอยู่ห่างจากสายไฟฟ้าแรงสูงในแนวราบระยะไม่เกิน 3 เมตร หลังจากนั้น เขารู้สึกว่ามีพลังงานบางอย่างไหลผ่านรีโมทควบคุมโดรนเข้าสู่ร่างกาย และหมดสติลงในทันที จากนั้นไม่กี่นาทีเขาก็รู้สึกตัวและพบว่า ดวงตาข้างซ้ายบอดชั่วคราว และข้างขวาพร่ามัวไปชั่วขณะ โดยหลังจากได้รับการรักษามีอาการดีขึ้นเรื่อย ๆ จนปัจจุบันสามารถมองเห็นได้เกือบเป็นปกติแล้ว จึงอยากถ่ายทอดประสบการณ์ไม่คาดฝันครั้งนี้ไว้เพื่อเป็นอุทาหรณ์ให้แก่ผู้บินโดรนทุกคน ว่า “ควรหลีกเลี่ยงการบินโดรนใกล้แนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูงอย่างเด็ดขาด”

ที่ผ่านมา เราทราบกันดีอยู่แล้วว่า การเล่นว่าวใกล้แนวส่ายส่งไฟฟ้าแรงสูง อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ เพราะหากว่าวลอยไปติดกับสายส่งไฟฟ้าแรงสูง เชือกว่าวจะกลายเป็นตัวนำไฟฟ้า ทำให้กระแสไฟฟ้าไหลเข้าสู่ร่างกาย และเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ภายในไม่กี่วินาที

ส่วนในกรณีของ โดรน ที่แม้จะไม่มีตัวนำไฟฟ้าอย่างเชือกว่าว และพลังงานไฟฟ้าไม่สามารถเดินทางผ่านคลื่นสัญญาณวิทยุได้นั้น แต่อุปกรณ์ไฟฟ้าโดยทั่วไป เมื่อนำไปใช้งานใกล้แนวสายส่งฯ จะสามารถเป็นแหล่งกำเนิดสนามแม่เหล็กและสนามไฟฟ้า ด้วยการเหนี่ยวนำของสายส่งไฟฟ้าแรงสูงได้ แม้สายส่งไฟฟ้าแรงสูงของ กฟผ. จะถูกออกแบบและกำหนดให้มีค่าความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล ซึ่งไม่ก่อให้เกิดอันตรายและไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนผู้อยู่อาศัยใกล้แนวสายส่งฯ แต่การบินโดรนใกล้แนวสายส่งฯ มากเกินไปอาจทำให้ได้รับผลกระทบจากสายส่งไฟฟ้าแรงสูงได้ เนื่องจากโดรนโดยทั่วไปไม่ได้ถูกออกแบบมาให้สามารถป้องกันสัญญาณรบกวนจากสนามแม่เหล็กและสนามไฟฟ้าได้

ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นว่าวหรือโดรน ผู้ใช้งานพึงต้องใช้ความระมัดระวังอยู่เสมอ ไม่ควรเล่นในพื้นที่หวงห้าม และพื้นที่ที่อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ โดยเฉพาะพื้นที่ใกล้แนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูง แต่หากหน่วยงานหรือบุคคลใดจำเป็นต้องบินโดรนใกล้บริเวณแนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูงของ กฟผ. จะต้องยื่นหนังสือถึงหน่วยงานบำรุงรักษาสายส่ง กฟผ. ในพื้นที่ เพื่อขออนุญาตก่อนทุกครั้ง หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่ Call center 1416


นายผล ขวัญนุ้ย ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการภาคใต้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวถึงข้อปฏิบัติในการบินโดรนใกล้แนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูงว่า การบินโดรนอย่างถูกต้องตามกฎการบินและข้อควรปฏิบัติที่ กฟผ. แนะนำ จะช่วยให้การบินโดรนมีความปลอดภัย ไม่สร้างความเสียหายแก่ทรัพย์สินของตนเองและผู้อื่น

ซึ่ง กฟผ. มีข้อห้ามและข้อควรระวังในการบินโดรนใกล้แนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูง ดังนี้ หลีกเลี่ยงการบินโดรนใกล้แนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูงทุกประเภท ห้ามบินโดรนใกล้แนวเสาส่งไฟฟ้าแรงสูงในแนวราบระยะ 50 เมตร และห้ามบินโดรนในสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย เพื่อป้องกันความเสียหายแก่ตัวโดรนและระบบส่งไฟฟ้า ซึ่งอาจส่งผลทำให้เกิดกระแสไฟฟ้าขัดข้องหรือกระแสไฟฟ้าดับในวงกว้างได้ หากผู้บินโดรนที่ไม่ปฏิบัติตามกฎการบินและหลักปฏิบัติที่ถูกต้อง จนทำให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินของ กฟผ. ซึ่งถือเป็นสมบัติของราชการ จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมายและชดใช้ค่าเสียหายทั้งหมดที่เกิดขึ้น รวมทั้งอาจจะถูกยึดใบอนุญาตการบินโดรนอีกด้วย


ทุกวันนี้ใคร ๆ ก็บินโดรนได้ไม่ยาก แต่นอกเหนือไปจากทักษะในการบังคับอากาศยานแล้ว ผู้บังคับโดรนจะต้องมีความระมัดระวังและเคารพกฎในการบินอย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของตนเองและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับระบบส่งไฟฟ้า ที่สำคัญควรหลีกเลี่ยงหรือรักษาระยะห่างจากพื้นที่ใกล้แนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูงทุกประเภท เพราะหากบินโดรนด้วยความประมาท อาจทำให้ไฟฟ้าดับได้ทั้งอำเภอเพราะโดรนลำเดียวได้ไม่ยากนักเช่นกัน

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of ลักขณา สุริยงค์

ลักขณา สุริยงค์

ทำหน้าที่สื่อมวลชนมาเกือบ 30 ปี ทั้งงานสายข่าวและจัดรายการทีวี-วิทยุมานับไม่ถ้วน "ไม่เป็นกลาง แต่เป็นธรรม พร้อมนำเสนอความจริง"