ผู้บริหาร สช. หารือ เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล สร้างความร่วมมือและตั้งคณะทำงาน วางแนวปฏิบัติการคุ้มครองข้อมูลด้านสุขภาพส่วนบุคคลร่วมกัน เพื่อให้เป็นเอกภาพและไม่เป็นอุปสรรคในภาคปฏิบัติ
นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ นำคณะผู้บริหาร สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เข้าหารือกับ นายภุชพงค์ โนดไธสง รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เมื่อวันที่ 21 ก.ค. เพื่อหาแนวทางจัดทำแนวปฏิบัติ เรื่องการคุ้มครองข้อมูลด้านสุขภาพส่วนบุคคล เนื่องจากพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลข่าวสาร พ.ศ.2562 มีเนื้อหาที่เกี่ยวพันกับด้านสาธารณสุขและการแพทย์ ซึ่งเป็นข้อมูลที่อ่อนไหว (Sensitive Data) ซึ่งปรากฏอยู่ใน พ.ร.บ.สุขภาพแพ่งชาติ พ.ศ.2550 ด้วยเช่นกัน
นพ.ประทีป เปิดเผยว่า การหารือร่วมกันครั้งนี้ ก่อให้เกิดความร่วมมือในการจัดตั้ง คณะทำงานเพื่อวางแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดเก็บและการใช้ข้อมูลด้านสุขภาพส่วนบุคคล ให้เกิดความชัดเจนและสอดคล้องกันระหว่างกฎหมาย 2 ฉบับ คือ กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและกฎหมายสุขภาพแห่งชาติ
ที่ผ่านมา มาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติฯ กำหนดเรื่องการคุ้มครองข้อมูลด้านสุขภาพส่วนบุคคลไว้อย่างเข้มงวด มีบทลงโทษ แต่ไม่มีกระบวนการขั้นตอนปฏิบัติ ทำให้เกิดความแตกต่างในการตีความกฎหมายและสร้างข้อจำกัดในภาคปฏิบัติที่ต้องถือเอาชีวิตผู้ป่วยเป็นหลัก ทาง สช. ได้พยายามแก้ปัญหาข้อร้องเรียนในกรณีนี้โดยหารือแนวปฏิบัติกับคณะกรรมการกฤษฎีกาและกระทรวงสาธารณสุขไว้แล้ว แต่ไม่มีอำนาจในการออกกฎหมายลูกหรือประกาศใดๆ ขณะที่คณะกรรมการตาม พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลข่าวสาร มีอำนาจในการออกกฎหมายลูกและแนวปฏิบัติในด้านต่างๆ ได้โดยตรง จึงพร้อมให้การสนับสนุนข้อมูลในส่วนนี้ พร้อมเชื่อมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อทำความเข้าใจร่วมกันและวางแนวปฏิบัติที่เป็นเอกภาพ ทำให้สามารถคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลขณะเดียวกันก็ไม่สร้างอุปสรรคในการปฏิบัติงานด้านสาธารณสุข
ด้านนายภุชพงค์ นดไธสง รองปลัดกระทรวงดีอีเอส ระบุว่า ยินดียิ่งที่มีพันธมิตรร่วมกันทำงาน เพื่อจัดทำแนวปฏิบัติการคุ้มครองข้อมูลด้านสุขภาพส่วนบุคคล ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งในหลาย ๆ ส่วนที่ สคส.จะต้องจัดทำแนวปฏิบัตินอกเหนือไปจากการออกกฎหมายลูก เพื่อวางมาตรการในกรอบใหญ่ตามที่ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลกำหนดไว้ หวังว่าความร่วมมือนี้จะช่วยให้การจัดทำแนวปฏิบัติดำเนินไปได้ด้วยความรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยทั้งกฎหมายลูกและแนวทางปฏิบัติต่างๆ จะต้องยกร่าง รับฟังความคิดเห็นและประกาศใช้ ก่อนที่พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลจะบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบในวันที่ 1 มิถุนายน 2564
ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นร่วมกันด้วยว่า มาตรา 7 ตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติฯ เขียนไว้ค่อนข้างเข้มงวดว่า ข้อมูลสุขภาพของบุคคลเป็นความลับส่วนบุคคล จะเปิดเผยไม่ได้ หากไม่ได้รับความยินยอมจากบุคคลนั้น ในขณะที่พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลจะเปิดกว้างมากกว่า โดยในมาตรา 26 ของ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลได้กำหนดข้อยกเว้นไว้ 5 ประการ เช่น เพื่อป้องกันหรือระงับอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย หรือสุขภาพของบุคคลนั้น หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ ซึ่งตรงนี้น่าจะช่วยขจัดปัญหาการตีความมาตรา 7 ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติที่แตกต่างกันได้ในกรณีที่จำเป็นต้องส่งต่อข้อมูลการแพทย์เพื่อการรักษาชีวิตบุคคล
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: