ภูเก็ต – นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ แนะ หารายได้ ลดค่าครองชีพ และทำระบบ Barter ช่วยคนภูเก็ต ในยุคเปลี่ยนผ่านโควิด
นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา กล่าวระหว่างการบรรยาย เรื่อง ยุทธศาสตร์ภูเก็ต ในยุคแห่งการเปลี่ยนผ่าน โดยนำเสนอ 3 เรื่อง ที่เปรียบกับการเลือกเปิดอ่านหนังสือ 3 เล่ม
หนังสือเล่มแรก หารายได้เข้ามาให้เกาะ ซึ่งคงหนีไม่พ้นการจัดระบบท่องเที่ยวปลอดภัยอย่างรับผิดชอบ โดยเริ่มจากฝึกรองรับไทยเที่ยวไทยสักระยะ แล้วทำแผนคู่มือการเตรียมรับกลุ่มต่างชาติที่เช่าเหมาลำบินตรงเข้าเกาะทีละน้อย โดยต้องได้รับความพร้อมใจของทุกฝ่ายบนเกาะ และรับรู้เห็นพ้องจากพื้นที่จังหวัดข้างเคียงว่า มีมาตรการกำกับควบคุมไม่ให้มีจุดรั่ว ซึ่งต้องมีคู่มือที่ผ่านการฝึกซ้อมเสมือนจริงแบบท้าทายหลาย ๆ ครั้ง คือ ให้คนไทยในและจากพื้นที่ข้างเคียงมาทดสอบระบบไปจนแน่ใจว่าไม่เหลือรอยรั่ว เช่น คุมได้ทั้งการเช่าเหมาออกเรือจากเกาะ การเช่าพาหนะแล่นข้ามสะพานออกนอกเกาะ มีระบบรองรับเรื่องการจัดการบริหารคนเรือ คนขับรถ แม่บ้านทำความสะอาดที่ฝ่ายการสาธารณสุขกำหนด การป้องกันการเข้าออกจากพื้นที่ ๆ ตกลงกัน เป็นต้น
จากนั้น ทำระเบียบและคำสั่งทางการที่จำเป็นสำหรับใช้ปฏิบัติ เพื่อให้มีฐานบังคับทางกฏหมายที่เพียงพอ
ข่าวน่าสนใจ:
ด้านการตลาดก็ให้เน้นแผนสื่อสาร เพื่อให้ทั้งชาวไทย ชาวถิ่น และแขกที่จะมาเยือนเข้าใจว่า ภูเก็ตมุ่งทำระบบท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ หรือ responsible tourism ส่วนจะทำเมื่อไหร่ คงต้องซักซ้อมไปจนได้เวลาที่ลงตัวเหมาะสม แต่ไม่ก่อนปลายปี 2563 นี้
หนังสือเล่มสอง ว่าด้วยเรื่องการช่วยให้สามารถลดค่าครองชีพของคนบนเกาะร่วมกัน การเพิ่มรายได้อย่างเดียวนั้นน่าจะทำได้ช้าและยังต้องคอยจังหวะที่ถูกต้อง แต่การชักชวนกันลดต้นทุนค่าเช่า ค่าพาหนะ ค่าครองชีพของพนักงานในกิจการต่างๆบนเกาะนั้นเริ่มได้ทันที เพื่อรักษาบุคลากรที่ต้องมีในกิจกรรมต่าง ๆ
จะเป็นการส่งสัญญาณความสามัคคีและเข้าใจชีวิตของผู้รับจ้างและพนักงาน ซึ่งเป็นหัวใจและอีกเสน่ห์ของภาคบริการในภูเก็ต
นายวีระศักดิ์ กล่าวต่อว่า หนังสือเล่มที่สาม คือ คิดทำระบบแลกเปลี่ยน หรือ barter ระหว่างปัจจัยยังชีพกันบนเกาะให้ได้มากเท่าที่จะทยอยเกิดได้
ในต่างประเทศ เวลานี้มีตัวอย่างการที่เจ้าของงานใช้การมอบอาหาร 2-3 มื้อ ที่ดีมีคุณค่า ให้ผู้รับจ้างนำกลับไปดูแลครอบครัว แทนการจ่ายค่าจ้างงาน ฯลฯ
พื้นฐานของชาวเกาะ คือ การแลกปัจจัยยังชีพระหว่างกันมาก่อน ดังนั้น เมื่อโควิด-19 อาจอยู่กับโลกถึง 2 ปี จนกว่าวัคซีนจะกระจายถึงทุกชีวิต การใช้ทรัพยากรแบบปันกัน โดยเฉพาะกับพื้นที่จำกัดอย่างเกาะที่ยังอุดมสมบูรณ์นี้จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจ เช่น ราชการอนุญาตให้ราษฏรได้เข้าไปปลูกผักมาแลกเปลี่ยนกัน จัดหมุนเวียนสื่อการเรียนของนักเรียนทั้งเกาะ เพื่อลดภาระที่จะต่างคนต่างหาซื้อใหม่ มีกิจกรรมทำความสะอาดพื้นที่หรือดูแลกันและกันแลกปัจจัยสี่ที่ต้องการ การรวมจัดซื้อปัจจัยดำรงชีพมาแบ่งกันใช้สอย เป็นต้น
ข้อนี้ แม้ลดรายจ่ายได้ไม่มาก แต่จะได้ความเป็นสังคมชาวเกาะให้หันหน้าพึ่งพากันได้อย่างเข้มแข็งมากขึ้น และจะกลายเป็นเรื่องเล่าที่ทรงพลังให้ทั้งชุมชนและลูกค้าภายนอกที่จะเข้ามาร่วมประสบการณ์ได้สัมผัสหรืออยากมาสัมผัสต่อไป เพราะภูเก็ตจะกลายเป็นชุมชนน่าสัมผัสยิ่งขึ้น ไม่ใช่แค่แหล่งที่มีบริการท่องเที่ยว
“หากเรายอมขยับสลับที่ยืนสักก้าวสองก้าวจากจุดเดิมไปมาบ้าง…เราอาจได้เห็นมุมใหม่ที่อาจมองเห็นไม่ถนัดมาก่อน..ความสำเร็จนั้น บ่อยครั้งก็ได้มาจากการทำวิธีใหม่ๆที่อาจใช้เงินน้อยกว่า..แต่ได้ผลที่ยั่งยืนกว่าในระยะถัดไป…” นายวีระศักดิ์ กล่าว
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: