ดร.นพดล ปิยะตระภูมิ ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) หรือ สคช. ร่วมบรรยายพิเศษ ระหว่างการอบรมเชิงปฏิบัติการ ‘โครงการพัฒนาระบบเทียบโอนประสบการณ์การทำงานเพื่อการรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ หรือ RESK (Recognition of Existing Skills and Knowledge)’ ว่าการเทียบโอนประสบการณ์ จะเป็นอีกหนึ่งมาตรการที่ สคช. ดำเนินการเพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ด้วยการรับรองประสบการณ์จากการพิจารณาเอกสาร ผลงานที่ผ่านมาของคนในอาชีพ โดยที่ไม่จำเป็นต้องเดินทางมาทำข้อสอบ หรือสอบสัมภาษณ์ด้วยตัวเองถึงศูนย์สอบ
เพื่อเป็นการลดขั้นตอน ขยายช่องทางการช่วยเหลือในการรับรองความสามารถของคนไทยให้ทันต่อความต้องการ ซึ่งมาตรการลักษณะนี้เป็นสิ่งที่ดำเนินการกันแล้วในหลายประเทศทั่วโลก และ สคช. ได้นำมาศึกษาพัฒนา พร้อมปรับรูปแบบให้ทันต่อเหตุการณ์และมีความเป็นสากล
ทั้งนี้ คนในอาชีพสามารถเทียบโอนประสบการณ์ได้จากเอกสารหลักฐาน ที่มีทั้งวุฒิการศึกษา ความสามารถ คุณลักษณะเฉพาะตัว หนังสือรับรองจากผู้ว่าจ้าง เอกสารการอบรม หรือแม้กระทั่งผลงานที่พิสูจน์ได้ว่า สามารถประกอบอาชีพได้จริง ตรงตามมาตรฐานสมรรถนะที่ สคช. กำหนด ซึ่งเจ้าหน้าที่สอบจะเป็นกลไกสำคัญ ในการขับเคลื่อนให้ระบบนี้ประสบความสำเร็จ เพราะเป็นตัวกลางที่จะพิจารณา พิสูจน์ความสามารถของบุคคลจากหลักฐานผลงาน ประสบการณ์ของคนในอาชีพนั้น ๆ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการพัฒนากำลังคนเพื่อป้อนเข้าสู่ตลาดแรงงานได้มากขึ้น สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ของประเทศไทย เรื่องการลดความเหลื่อมล้ำภายในประเทศ โดยใช้ระบบคุณวุฒิวิชาชีพเป็นเครื่องมือส่งเสริมให้กลุ่มคนในอาชีพได้รับการรับรองสมรรถนะในวิชาชีพ และสร้างโอกาสการเติบโตในอาชีพได้อย่างเท่าเทียมกัน
เบื้องต้น เตรียมนำร่องเทียบโอนประสบการณ์เพื่อการรับรองใน 6 สาขาวิชาชีพ ประกอบด้วย โลจิสติกส์, เกษตรกรรม สาขาเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ, ธุรกิจเสริมสวย, อนุรักษ์งานพื้นบ้านและศิลปหัตถกรรม ผ้าทอ, ผู้ดูแลผู้สูงอายุ และเกษตรปราดเปรื่อง ที่คาดว่าจะเริ่มดำเนินการเทียบโอนประสบการณ์ครั้งแรกได้ภายในปี 2564
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: