กรุงเทพฯ – นายกรัฐมนตรี เชิญภาคเอกชน 3 กลุ่ม อสังหาริมทรัพย์ ค้าปลีก อีคอมเมิร์ซ-โลจิสติกส์ กว่า 70 ราย ร่วม workshop ระดมความคิด ขับเคลื่อนภาคธุรกิจสู่อนาคต
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จัดประชุม workshop กับภาคธุรกิจต่าง ๆ ตามแนวทาง ‘รวมไทยสร้างชาติ’ เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2563 โดยต้องการเปิดโอกาสให้คนที่เก่งที่สุด จากทุกภาคส่วนและจากทุกระดับของสังคม ได้ใช้ความรู้ความสามารถทำงานร่วมกัน เพื่อขับเคลื่อนประเทศ โดยมี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน, นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี, นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และนายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง เข้าร่วมรับฟัง
นายกรัฐมนตรี กล่าวเปิดการประชุมว่า ตอนนี้เป็นช่วงเวลาสำคัญยิ่ง ที่เราควรจะมองไปในอนาคตที่ไกลกว่า การก้าวผ่านวิกฤติโควิดและวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั้งโลกไปให้ได้ และเราควรจะใช้ช่วงเวลานี้ให้เป็นโอกาส ที่จะนำพาประเทศไทยให้ไปอยู่ในจุดที่ดียิ่งขึ้น นั่นคือเหตุผลที่เชิญทุกท่านมาในวันนี้ เพื่อแบ่งปันมุมมอง ความคิด ในฐานะที่เป็นบุคคลที่สุดยอดในภาคธุรกิจนี้ มีความรู้ความสามารถ และมีประสบการณ์ตรงมายาวนาน ผมอยากทราบว่า ท่านมีมุมมองหรือความคิดในการขับเคลื่อนภาคส่วนของท่านอย่างไร โอกาสของภาคธุรกิจของท่านเป็นอย่างไร อนาคต 3 ปีข้างหน้าภาคธุรกิจของท่านควรจะไปอยู่ที่จุดไหน อุปสรรคคืออะไร เป้าหมายของผม คือผมต้องการเข้าใจประเด็นหลักๆ และเข้าใจโดยลึกจากการฟังตรง ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมาก เมื่อเวลาผมพิจารณานโยบาย หรือโครงการที่หน่วยงานต่างๆ นำเสนอ ผมจะสามารถตัดสินใจไปในแนวทางที่จะสนับสนุนวิสัยทัศน์ของพวกท่านได้
ข่าวน่าสนใจ:
ทั้งนี้ แบ่งเวลาจัดประชุมร่วมกับ 3 ภาคธุรกิจ ได้แก่ ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ภาคธุรกิจค้าปลีก และภาคธุรกิจ E-commerce และโลจิสติกส์
ซึ่งการประชุมกลุ่มสุดท้าย เป็นกลุ่มภาคธุรกิจ E-commerce และโลจิสติกส์ สรุปประเด็นสำคัญที่ได้นำเสนอ ดังนี้
นายธนาวัฒน์ มาลาบุปผา นายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย และ CEO Priceza ระบุว่า ปัจจุบันยอดขาย e-commerce เทียบกับมูลค่าค้าปลีกโดยรวมในประเทศไทยมีสัดส่วนแค่ประมาณ 2% ขณะที่ในจีนการค้าออนไลน์มีสัดส่วนถึง 24% ดังนั้นการค้าผ่านช่องทางออนไลน์ของไทยจึงมีโอกาสเติบโตเป็นสิบเท่าได้ในอนาคตอันใกล้ ดังนั้นเพื่อพัฒนาธุรกิจ e-commerce ไทยให้พัฒนาและเติบโตอย่างยั่งยืน สมาคมฯ เสนอภาครัฐให้การสนับสนุนโครงการปั้นผู้ขายออนไลน์ ซึ่งที่ผ่านมาทางสมาคมฯ ได้ทำงานร่วมกับนักขายออนไลน์มือโปร สร้างผลงานพัฒนานักขายออนไลน์เพิ่มรายได้จากศูนย์ เป็น 30,000 บาทต่อเดือนจำนวนมากกว่า 500 ราย โดยหากมีการสนับสนุนจากภาครัฐคาดว่าสามารถขยายผลได้อีกถึง 100 เท่า และเห็นผลใน 6 เดือน ช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพ และเพิ่มรายได้ให้ประชาชนอย่างยั่งยืน
ด้านนายผรินทร์ สงฆ์ประชา CEO และผู้ก่อตั้ง NASKET กล่าวว่า e-commerce จะเป็นช่องทางสำคัญของสินค้าไทยในเวทีโลก ขณะที่ธุรกิจ e-commerce ของโลกมีแนวโน้มที่จะมีผู้เล่นรายใหญ่เพียง 2-3 รายจะกุมตลาดถึง 80% ดังนั้นเพื่อส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ e-commerce ไทย ตนจึงอยากเสนอให้มีการจัดตั้ง ภาคี e-commerce เพื่อคนไทย
ส่วนนายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ CEO และผู้ก่อตั้ง TARAD.COM เสนอแนะว่า ภาครัฐควรออกนโยบายส่งเสริมผู้ประกอบการหรือตัวกลาง ที่จะช่วยผู้ประกอบการไทยนำสินค้าไทยออกไปบุกตลาดต่างประเทศผ่านช่องทางออนไลน์ ออกนโยบายสนับสนุนพิเศษออนไลน์ นอกจากนี้รัฐบาลควรทำโครงการ “ชิม ช้อป ใช้ ดิจิทัล” เพื่อส่งเสริมการซื้อสินค้าออนไลน์ และส่งเสริมภาคธุรกิจไทยให้เข้าสู่ระบบการค้าออนไลน์มากขึ้น
นายศิวัตร เชาวรียวงษ์ นายกสมาคมโฆษณาดิจิทัลไทย ชี้ว่า ภาครัฐควรช่วยผู้ประกอบการไทย โดยการร่วมพัฒนาบุคลากรที่มีความรู้เบื้องต้นทางด้าน e-commerce อยู่แล้วบ้าง หรือมีความสามารถ เอามาต่อยอดเพื่อช่วยให้มีความสามารถมากยิ่งขึ้น และขยายกลุ่มเครือข่าย กระจายตัวออกไปในธุรกิจต่างๆ นอกจากนั้นภาครัฐควรร่วมสนับสนุนเอกชนในการสร้างแพลตฟอร์ม เพื่อให้มีแพลตฟอร์มที่มีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น
ขณะที่สมาพันธ์โลจิสติกส์ไทย และสมาพันธ์ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทย นำเสนอว่า ธุรกิจโลจิสติกส์มีศักยภาพสามารถสร้างรายได้ใหม่ให้แก่ประเทศไทยถึง 3 แสนล้านบาทต่อปี หากภาครัฐให้การสนับสนุนใน 3 ด้าน คือ 1.จัดทำแผนพัฒนาธุรกิจโลจิสติกส์ให้เป็นรายได้หลักในแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ 2.จัดตั้งสำนักงานโลจิสติกส์แห่งชาติ และ 3.ออกมาตรการส่งเสริมความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการ เช่น ให้ซอฟต์โลน มาตรการภาษี และอื่น ๆ
สรุปประเด็นสำคัญในการประชุมของ “ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์”
นำเสนอให้มีการออกมาตรการกระตุ้นการบริโภคของผู้บริโภคภายในประเทศ ทั้งในส่วนการซื้อที่อยู่อาศัยเพื่ออยู่อาศัย การซื้อเพื่อการลงทุน และลงทุนบ้านให้เช่าสำหรับผู้มีรายได้น้อย ทั้งมาตรการของภาครัฐในเรื่องของภาษี และมาตรการของภาคการเงินในเรื่องการเข้าถึงสินเชื่อ และอัตราดอกเบี้ย โดยมองว่า นอกเหนือจากการออกมาตรการทางการเงินที่ช่วยผู้บริโภคแล้ว สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งคือ ควรหาวิธีการจูงใจธนาคารต่าง ๆ ให้มีความต้องการ “อยากปล่อยสินเชื่อ” เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัย มีช่องทางในการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ และสามารถเข้าถึงเงินกู้ได้
นอกจากนั้น ควรให้ความสำคัญอีกหนึ่งมิติ ในฐานะที่ประเทศไทยมีศักยภาพอย่างมากในการเป็นบ้านหลังที่สองของคนทั่วโลก และมีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคด้วยปัจจัยบวกหลายๆ ด้าน ซึ่งหากผลักดันได้สำเร็จจะส่งผลประโยชน์หลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มจำนวนของแรงงานต่างชาติระดับผู้บริหาร หรือผู้มีทักษะสูง เพิ่มการจ้างงาน เพิ่มรายได้ กำลังซื้อภายในประเทศ และเป็นผลต่อเนื่องต่อภาคธุรกิจต่างๆมากมายไม่ว่าจะเป็นค้าปลีก การค้า โรงแรม ท่องเที่ยว โลจิสติกส์ อสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ
ทั้งนี้ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เป็นภาคธุรกิจที่อิงกับความเชื่อมั่นของประชาชนเป็นอย่างมาก ดังนั้นภาครัฐต้องเน้นการสร้างความเชื่อมั่น เกี่ยวกับความรู้สึกของประชาชนที่มีต่อความมั่นคงในการดำเนินชีวิต และประกอบอาชีพของตัวเอง สิ่งหนึ่งที่ช่วยได้ คือการสื่อสารข้อมูลเรื่องเศรษฐกิจ หรือโครงการสำคัญๆ ที่จะมีผลต่อการทำมาหากินและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ออกไปสู่ประชาชนให้รับทราบ และมองเห็นอนาคตของตัวเอง เพื่อสามารถวางแผนการดำเนินชีวิตได้อย่างเหมาะสม
สรุปประเด็นสำคัญในการประชุม “ภาคธุรกิจค้าปลีก”
ภาครัฐควรมีนโยบายส่งเสริมประเทศไทยให้เป็น ‘สุดยอดการใช้ชีวิตแห่งเอเชีย (Lifestyle hub of Asia)’ โดยเสนอมาตรการระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยในส่วนระยะสั้นเพื่อพยุงการจ้างงาน และขับเคลื่อนเอสเอ็มอีให้อยู่รอด เสนอแก้นโยบายค่าแรงขั้นต่ำให้สามารถจ้างแรงงานขั้นต่ำเป็นรายชั่วโมงได้ ซี่งจะนำสู่การจ้างงานเพิ่มขึ้น 1.2 ล้านอัตรา รวมทั้งออกนโยบายกระตุ้นการใช้จ่าย ด้วยการนำโครงการ “ช้อปช่วยขาติ” ออกมาอีกครั้ง และการกระตุ้นกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อสูง โดยลดภาษีนำเข้าชั่วคราวเป็นเวลา 4 เดือน เช่น จาก 30 % เหลือ 10 %
นอกจากนั้น ยังมีข้อเสนอแนะสำหรับระยะสั้น เพื่อไม่ให้ร้านค้าปิดกิจการ มีการจ้างงานต่อไปและมีเงินหมุนเวียนในระบบรัฐควรปล่อยซอฟท์โลนโดยอนุญาติให้ผู้ประกอบการสามารถนำหลักฐานใบสัญญาเช่ามาใช้พิจารณาปล่อยกู้ได้ ออกโครงการช้อปและเที่ยวช่วยชาติ และเยียวยาลดค่าใช้จ่ายศูนย์การค้า เช่น ลดค่าไฟ ภาษีนิติบุคคล ภาษีป้าย ยืดเวลาการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 90 % ไปถึงปี 2566 สำหรับแผนระยะกลาง ควรส่งเสริมยกระดับให้ธุรกิจศูนย์การค้าอยู่ในแผนแม่บทของประเทศเปิดพื้นที่เพิ่มโซนการลงทุนให้ศูนย์การค้า เช่นเดียวกับอีอีซี ส่งเสริม seamless connectivity โดยปรับกฏหมาย ทางเชื่อมอาคาร ลดค่าธรรมเนียมเงื่อนไขเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชน ปรับกฎหมายให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตใหม่ เพิ่มสิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจศูนย์การค้า และแผนระยะยาวควรผลักดันให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางระดับโลก เป็นแหล่งช้อปปิ้งของนักท่องเที่ยวชั้นนำ เทียบชั้นญี่ปุ่น เกาหลี ยกระดับสินค้าไทยให้แข่งขันได้ พร้อมทยอยลดภาษีนำเข้าให้ราคาสินค้าแข่งขันกับต่างประเทศได้
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: