วันที่ 18 กันยายน 2563 นายนคร ศิลปอาชา กรรมการปฏิรูปประเทศด้านวัฒนธรรม กีฬา แรงงาน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ในฐานะประธานอนุกรรมการฯ ด้านแรงงาน เปิดเผยแนวทางการปฏิรูปประเทศด้านแรงงาน หลังเปิดเวทีรับฟังความเห็นจากหลายภาคส่วน ต่อการเตรียมแผนการปฏิรูปฯ เป็นครั้งแรก ซึ่งมีตัวแทนจากทั้ง ภาคการศึกษา แรงงาน และภาคอุตสาหกรรม อาทิ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย กรมการจัดหางาน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวประเทศไทย สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) หลังคณะกรรมการปฏิรูปเปิดเวทีรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนต่อแผนการปฏิรูปประเทศด้านวัฒนธรรม กีฬา แรงงานฯ มาแล้วก่อนหน้านี้
นายนคร เปิดเผยว่า การประชุมครั้งนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นการหารือแนวทางการบูรณาการขับเคลื่อน Thailand Workforce Agency (TWA) ที่จะเป็นศูนย์กลางการบริหารจัดการกำลังคนของประเทศ ให้ตอบโจทย์สอดรับกับทิศทางการพัฒนาประเทศ และตรงตามความต้องการกำลังคนในตลาดแรงงานให้นำไปปฏิบัติได้จริงอย่างเป็นรูปธรรม และเป็นการเตรียมความพร้อมดำเนินการตามแผนปฏิรูปด้านแรงงานที่กำลังจะเกิดขึ้น
ที่ผ่านมา ไทยประสบปัญหาการผลิตกำลังคนในประเทศทั้งการพัฒนาทักษะ และการศึกษา ไม่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงาน ไม่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการ ซึ่ง TWA จะเป็นกลไกขับเคลื่อนที่เชื่อมโยงและกระจายข้อมูลให้กับทุกหน่วยงานร่วมปฏิรูปด้านแรงงานไปในทิศทางเดียวกัน รวมทั้งเป็นเครื่องมือช่วยให้เกิดการปฏิบัติงานด้านการฝึกอบรม ส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานทุกระดับ ขยายความช่วยเหลือผู้ที่ต้องการหางาน และสะดวกต่อนายจ้างที่ต้องการหาคนทำงาน เป็นการตอบสนองทั้ง 2 ฝ่าย และยังจะเป็นการให้ความช่วยเหลือด้านการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มทักษะและประสิทธิภาพให้กำลังคน เพื่อความก้าวหน้าในการจ้างงาน ทั้งความสามารถพื้นฐานและเฉพาะทาง ซึ่งจะเป็นการช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคมด้วย
นายนคร ศิลปอาชา กล่าวต่อว่า การหารือมีการแสดงความเห็นที่หลากหลาย ส่วนใหญ่มองว่าการปฏิรูปประเทศด้านแรงงานจะต้องเป็นที่พึ่งพาของกำลังคนได้ หาวิธีจัดการข้อมูลด้านแรงงานที่มีอยู่จำนวนมากไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้จริงอย่างเป็นรูปธรรม สามารถวางแผนไปสู่อนาคตได้ เพราะวิกฤตโควิด-19 ทำให้เรียนรู้ว่าจะไม่สามารถใช้วิธีการเดิมๆ ได้อีกต่อไป แต่ต้องขับเคลื่อน หามาตรการต่างๆ มาใช้เพื่อให้เกิดการพัฒนา และอยู่รอดได้ไม่ว่าจะเกิดอีกกี่วิกฤตก็ตาม ซึ่งตลาดด้านอาหาร และบริการทางการแพทย์ เป็นจุดแข็งสำคัญที่หากสามารถดำเนินงานในเชิงรุก พัฒนากำลังคนในแรงงานให้เพียงพอกับความต้องการ แรงงานพึ่งพาตัวเอง และต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มได้ ก็จะเป็นการสร้างความแข็งแกร่งให้ประเทศได้
ข่าวน่าสนใจ:
- บุรีรัมย์ ปล่อยแถวระดมกวาดล้าง ตรวจค้น ยาเสพติด ก่อนปีใหม่
- ตำรวจภูธรจังหวัดบุรีรัมย์ แถลงผลปฏิบัติการ “พิฆาตทรชนคนค้ายาอีสานใต้” ยึดยาบ้ากว่า 400,000 เม็ด
- บุรีรัมย์ โรงเรียนอนุบาลบุรีรัมย์ จัดโครงการ “พัฒนาวิชาการ ส่งเสริมคุณธรรม ก้าวทันเทคโนโลยี ระดับปฐมวัย”
- ตร คลี่ปม หนุ่มวัย 29 ปี ถูกรถไฟชน มีเสื้อมัดเท้า ยืนยันเป็นเพียงมัดแทนรองเท้าเดินริมทางรถไฟ
ขณะที่ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่ามีคนที่อยู่ในกลุ่มแรงงานถึง 38 ล้านคน เป็นแรงงานในระบบ 16 ล้านคน แรงงานนอกระบบ 18 ล้านคน ในจำนวนนั้นเป็นกลุ่มงานอิสระ 3 ล้านคน ลูกจ้าง 2 ล้านคน เกษตรกร 13 ล้านคน และแรงงานนอกระบบว่างงาน 3 แสนคน ทำให้เห็นภาพชัดว่าหากเกิดการปฏิรูปประเทศตามเป้าหมายของ TWA จะเป็นเครื่องมือที่ช่วยนำคนกลุ่มนี้เข้าสู่แรงงานในระบบ การเสริม เพิ่มทักษะให้กับเขา จะทำให้เพิ่มโอกาสการมีงานทำได้ในอนาคตด้วย หรือแม้กระทั่งการสร้างโอกาสให้กับคนที่อยู่นอกระบบ อย่างกลุ่มเกษตรกร สามารถที่จะพัฒนาตัวเอง เป็นเกษตรแนวใหม่ สามารถเพิ่มมูลค่าให้ผลิตผลทางการเกษตรของตัวเองได้ และภาคเอกชนจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาคนให้บรรลุวัตถุประสงค์ได้ ยิ่งถ้าหากใช้กรอบคุณวุฒิวิชาชีพในการนำทาง ก็จะช่วยให้เกิดการพัฒนาแรงงานใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นได้ โดยแต่ละหน่วยงานต้องสามารถเชื่อมโยง และกระจายข้อมูล เพื่อให้เกิดการวิเคราะห์และหามาตรการช่วยเหลือได้อย่างเป็นรูปธรรม
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: