เชียงใหม่ – สคช.เตรียมรับรองมืออาชีพควาญช้าง ด้วยระบบคุณวุฒิวิชาชีพ ตอกย้ำมาตรฐานท่องเที่ยวเชิงนิเวศของไทยได้อย่างมืออาชีพ
นางสาววรชนาธิป จันทนู รองผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่เพื่อพบปะหารือร่วมกับ นายธีรภัทร ตรังปราการ นายกสมาคมสมาพันธ์ช้างไทย ณ ปางช้างภัทร จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อหารือแนวทางความร่วมมือยกระดับกพัฒนาศักยภาพลุ่มผู้ประกอบอาชีพควาญช้างไทย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการยกระดับการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (Ecotourism) ของไทยให้มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับเทียบเท่าระดับสากล โดยเฉพาะไทยอยู่ในช่วงการกระตุ้นการท่องเที่ยวท้องถิ่น และเป็นการเตรียมพร้อมรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติได้ทันทีเมื่อเปิดประเทศหลังการระบาดของโรคโควิด-19
แหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศของไทย โดยเฉพาะปางช้าง ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของประเทศ เนื่องจากเป็นจุดที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติได้อย่างดี โดยเฉพาะกิจกรรมขี่ช้าง อาบน้ำช้าง หรือป้อนอาหารให้ช้าง แต่หลายครั้งเกิดความเข้าใจผิดว่าเป็นสถานที่ทารุณกรรมสัตว์ ซึ่งการพัฒนายกระดับบุคลากรควาญช้างให้มีมาตรฐาน ได้การรับรองสมรรถนะตามมาตรฐานอาชีพ ด้วยกระบวนการที่มีมาตรฐานสากล (ISO/IEC17024) จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติว่า ปางช้างไทย เป็นมิตรต่อสัตว์และสิ่งแวดล้อม เป็นไปเพื่อการอนุรักษ์อย่างแท้จริง ไม่มีการปฏิบัติอย่างทารุณ สอดคล้องกับมาตรฐานวิธีปฏิบัติในการดูแลสัตว์ของสากล
ปัจจุบัน ประเทศไทยมีช้างเลี้ยงมากกว่า 3,000 เชือก และมีกลุ่มควาญช้างจำนวนมากที่ต้องการการพัฒนาศักยภาพ หากมีการจัดทำมาตรฐานเกิดขึ้นก็จะช่วยสร้างภาพลักษณ์การท่องเที่ยวที่ไม่เบียดเบียนธรรมชาติให้เกิดขึ้นในประเทศไทยด้วย
ข่าวน่าสนใจ:
ทั้งนี้ กลุ่มสมาคมสมาพันธ์ช้างไทย เตรียมร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ในการพัฒนามาตรฐานสำหรับควาญช้าง ซึ่งสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพเองพร้อมเป็นกลไกขับเคลื่อนการพัฒนาควาญช้างด้วยระบบคุณวุฒิวิชาชีพให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
การลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ของสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ยังได้ร่วมในพิธีไหว้ครูแพทย์แผนไทยและครูนวดไทยล้านนา ประจำปี 2563 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเชียงใหม่ ซึ่งรองผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ได้หารือกับตัวแทนจากทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิ สมาคมสมาพันธ์เครือข่ายการแพทย์แผนไทยและนวดไทยในพื้นที่ภาคเหนือ, สภาการแพทย์แผนไทย, สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่, สมาคมนวดแผนไทยจังหวัดเชียงใหม่ โดยได้แสดงความชื่นชมถึงความงดงาม เป็นเอกลักษณ์ของชาวล้านนา ซึ่งกลุ่มอาชีพนวดไทยเป็นอาชีพที่สมควรได้รับการสนับสนุน สืบสานให้มีความยั่งยืน ซึ่งองค์การยูเนสโก (UNESCO) ยังขึ้นทะเบียนการนวดไทย เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2562
การนวดไทยนับเป็นหนึ่งในระบบบริการสุขภาพควบคู่กับการแพทย์แผนปัจจุบันที่ควรดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรฐาน ตอบรับกระแสการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ซึ่งสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพจะได้มีการหารือร่วมกับสมาคมสมาพันธ์ บุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในอาชีพเพื่อยกระดับ พัฒนา สร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบอาชีพนวดไทยให้มีสมรรถนะการทำงานอย่างมืออาชีพและมีมาตรฐาน หลังจากก่อนหน้านี้ ได้จัดทำมาตรฐานอาชีพกิจกรรมบริการเพื่อเสริมสร้างสุขภาพร่างกาย (ยกเว้นกิจกรรมด้านกีฬา) ในสาขาให้บริการสปา มาแล้ว แต่มาตรฐานอาชีพนวดไทย จะช่วยรองรับการเติบโตของตลาดสินค้า และอุตสาหกรรมการบริการด้านสุขภาพด้วย
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: