ภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่พิเศษเลย ให้เป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยวและพักผ่อน หรือ Leisure Loei เพราะมีความหลากหลายทางทรัพยากรธรรมชาติ วัฒนธรรมและวิถีชีวิต องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ซึ่งเป็นหน่วยงานขับเคลื่อนอยุทธศาสตร์ดังกล่าว จึงได้พัฒนาขึ้นไปอีกขั้น ด้วยการวางเป้าหมายพัฒนาให้จังหวัดเลยเป็นเมืองท่องเที่ยวระดับเวิลด์คลาส (World Class Destinations) โดยนำความสำเร็จที่ อพท. พัฒนาพื้นที่แห่งนี้ให้เกิดความยั่งยืนด้านการท่องเที่ยว ยกระดับให้เป็นเมืองท่องเที่ยวและพักผ่อนให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล
นอกจากนำหลักเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก หรือ GSTC และเกณฑ์การท่องเที่ยวโดยชุมชน หรือ CBT เป็นหลักในการพัฒนาให้พื้นที่และชุมชนเกิดความยั่งยืนแล้ว อพท.ยังนำนโยบายของ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่กำหนดไว้ 4 ด้าน เพื่อการพัฒนาการท่องเที่ยว ได้แก่ Safe การท่องเที่ยวอย่างปลอดภัย Clean สะอาดสวยงาม Fair มีความเสมอภาค เป็นธรรม ไม่เอารัดเอาเปรียบ หรือหลอกลวงนักท่องเที่ยว บริการด้วยใจ และ Sustainability ความยั่งยืน สร้างชุมชนท่องเที่ยว เพิ่มขีดความสามารถให้ท้องถิ่นบริหารจัดการการท่องเที่ยวได้ด้วยตัวเอง ซึ่ง อพท. ได้ใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน ควบคู่กันไปทำให้การพัฒนาพื้นที่อำเภอเชียงคานรุดหน้ายิ่งขึ้น
นำร่องสร้างการรับรู้ “เชียงคาน”
สำหรับแนวทางยกระดับให้เป็นเมืองท่องเที่ยวและพักผ่อนให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล อพท. ได้นำร่อง “เชียงคาน” เป็นอำเภอแรก เพราะอำเภอเล็กๆ แห่งนี้ ในแต่ละปีมีโอกาสต้อนรับนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ เป็นจำนวนรวมมากถึงปีละกว่า 1 ล้านคน แต่ความเข้มแข็งของชุม และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ยังทำให้ถนนสายเล็กๆ เลียบแม่น้ำโขง ของอำเภอเชียงคาน ยังมีวิถีชีวิตที่เรียบง่ายคงไว้เสน่ห์ทางวัฒนธรรมที่ค่อนข้างสมบูรณ์ เช่น การใส่บาตรข้าวเหนียว การทำผาสาดลอยเคราะห์ หรือวิถีประมงแม่น้ำโขง ยังคงยืนหยัดต่อไปได้และเป็นกิจกรรมที่นักท่องเที่ยวสนใจ และวันนี้ เชียงคานกำลังก้าวสู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับสากล ด้วยการเสนอตัวเข้าสู่การจัดอันดับ Sustainable Destinations TOP 100 ในงานมหกรรมการท่องเที่ยวระดับโลกอย่าง ITB ณ กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ในปี 2564
ข่าวน่าสนใจ:
อพท.จึงนำนโยบายดังกล่าว ผนวกกับแนวทางการพัฒนาตามเกณฑ์ GSTC เป็นแนวทางในการพัฒนาขยายพื้นที่ที่มีศักยภาพและเชื่อมโยงกับถนนคนเดินของเชียงคาน โดยพัฒนาชุมชนชาไทดำ บ้านนาป่าหนาด ตำบลเขาแก้ว อำเภอเชียงคาน เพื่อยกระดับให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ที่จะนำเสนอต่อนักท่องเที่ยว อีกทั้งจังหวัดเลยยังได้สร้างสกายวอร์ค แลนด์มาร์คแห่งใหม่ ให้กับเชียงคาน ที่ภูคกงิ้ว ตำบลปากตม อำเภอเชียงคาน สกายวอร์คแห่งนี้มีความสูงเท่ากับตึก 30 ชั้น เป็นจุดชมวิวงดงามของแม่น้ำโขง และแม่น้ำเหือง ที่กั้นชายแดนระหว่างไทยกับสปป.ลาว
ยกระดับชุมชนไทดำ
สำหรับบ้านนาป่าหนาด ซึ่งเป็นชุมชนไทดำ ที่ยังคงวิถีชีวิตที่มีอัตลักษณ์ดงาม ชุมชนแห่งนี้ อพท. ได้นำนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก หรือ GSTC มาพัฒนายกระดับให้ชุมชนมีความสามารถในการเปิดรับนักท่องเที่ยว
ชุมชนชาวไทดำ ที่บ้านนาป่าหนาด สืบเชื้อสายมาจากกลุ่มชาติพันธุ์ไทดำ ซึ่งมีอัตลักษณ์เฉพาะกลุ่ม ทั้งภาษาพูด ภาษาเขียน อาหาร การแต่งกาย เครื่องมือเครื่องใช้ และประเพณีวัฒนธรรม นักท่องเที่ยวที่แวะเวียนมาจะได้ทดลองทำตุ้มนกตุ้มหนู โคมไฟไทดำ หรือนักท่องเที่ยวที่สนใจชุดไทดำ สามารถเปลี่ยนชุด และใส่ชุดไทดำไปร่วมทำกิจกรรมร่วมกันกับชาวไทดำ ซึ่งได้รับความสนใจแก่นักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวชมเป็นอย่างมาก เชียงคานวันนี้จึงมีความยั่งยืน ที่สามารถรักษาวิถีชีวิต และยังทำให้นักท่องเที่ยวใช้เวลาพักได้นานขึ้นและยังได้ใช้จ่ายเพิ่มขึ้น
เมื่อการท่องเที่ยวมีผลต่อการกระจายรายได้ รมว.กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จึงให้ความสำคัญกับตลาดการท่องเที่ยว หรือ Tourism Market แม้สถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ไม่สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ แต่ก็ยังสามารถกระตุ้นให้เกิดการเดินทางภายในประเทศได้จากกลุ่มคนไทยและต่างชาติที่พำนักในประเทศไทย (Expat) ดังนั้นในวันที่ 10-11 ตุลาคม 2563 ภายใต้แคมเปญ Explore the Unseen Thailand หรือ “เรารู้จักกันดีพอหรือยัง” ที่มีเป้าหมายคือเชิญชวนเพื่อนชาวต่างชาติที่พำนักหรือทำงานอยู่ในประเทศไทย ได้รู้จักประเทศไทยและแหล่งท่องเที่ยวในประเทศไทย มากยิ่งขึ้น จึงได้เชิญเพื่อนชาวต่างชาติกลุ่มนี้ซึ่งมีศักยภาพการเดินทางและจับจ่ายไปเที่ยวชมวิถีชีวิตที่สงบเรียบง่ายของเชียงคานและเสน่ห์ของจังหวัดเลย
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: