กรุงเทพฯ – 3 หน่วยงาน แสดงความพร้อมเดินหน้าผลักดันอุตสาหกรรมไทยให้ก้าวเข้าสู่ศูนย์กลางด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจชีวภาพ และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio Circular Green : BCG) แห่งภูมิภาคอาเซียน
วันที่ 30 กันยายน 2563 นายศุภกิจ บุญศิริ รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม, นายประทีป เอ่งฉ้วน ผู้ช่วยผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และนายคเณศ วังส์ไพจิตร ผู้ช่วยเลขาธิการด้านการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหาย สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพื้นที่ภาคตะวันออก (อีอีซี) แสดงความคิดเห็นต่อโมเดลเศรษฐกิจ ภายใต้แนวทางเศรษฐกิจสีเขียว (Bio Circular Green : BCG) BCG ว่า ทั้ง 3 หน่วยงาน ต่างวางแนวทางและกำหนดนโยบาย ในการสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมไทยทั้งหมด ไปสู่การผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมกับชุมชนโดยรอบโรงงานมานานแล้ว เพียงแต่สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้หน่วยงานต้องปรับเป้าหมายหาจุดโฟกัสใหม่ และหันมาเร่งรัดลงมือให้เกิดการดำเนินการที่เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น
โดยความคิดเห็นดังกล่าวมีขึ้นระหว่างการเข้าร่วมการเสวนาในหัวข้อ “ขับเคลื่อน Bio Circular Green (BCG) สู่ “Bio Hub of ASEAN” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการสัมมนาระดับชาติ “ทิศทางอุตสาหกรรมไทยยุค New Normal” ที่ทาง BIZCONNEXT และแพลตฟอร์มสื่อ 77 ข่าวเด็ด จัดขึ้นเมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 30 ก.ย. ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ในมุมมองของกรมโรงงานอุตสาหรรม นายศุภกิจ รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหรรม ระบุว่า แนวทางการดำเนินงานหลักของกรมฯ คือ การผลักดันให้เกิด smart factory ที่นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาใช้ในการช่วยตรวจสอบเฝ้าระวังโรงงานการผลิตเพื่อควบคุมมลพิษทางอากาศและน้ำเสียจากโรงงาน
ด้านนายประทีป ผู้ช่วยผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การทำงานของนิคมจะมุ่งไปที่การขับเคลื่อนเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศน์ ผ่านตัวชี้วัด 5 มิติคือ 1) Growth Business 2) GreenEco/Environment 3) Great services Great People 4) Good governance และ 5) Global Competitiveness
ขณะที่ นายคเณศ ผู้ช่วยเลขาธิการด้านการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนา พื้นที่ภาคตะวันออก กล่าวว่า ทางหน่วยงานจะมุ่งไปที่การยกระดับเทคโนโลยี ทรัพยากรและบุคลากรให้ก้าวผ่านกับดักรายได้ปานกลาง ภายใต้ 3 ธีมหลัก คือ Health and Medical, Smart Logistics และ Digital 5G ซึ่ง โมเดลเศรษฐกิจ BCG จะสอดแทรกอยู่ในแนวทางการพัฒนาทั้งหมดที่กล่าวมา และมีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ขณะเดียวกัน เพื่อเตรียมความพร้อมให้ไทยพร้อมรับ BCG เพื่อก้าวสู่ความเป็น Bio Hub แห่งภูมิภาคอาเซียน นายศุภกิจในฐานะตัวแทนจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมระบุว่า ทางหน่วยงานจะรับหน้าที่หลักในการจัดการปรับแก้ข้อกฎหมายเพื่อเอื้อให้ผู้ประกอบการทั้งหลายสามารถจัดการโรงงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งทางกรมฯเองยังจะมุ่งส่งเสริมให้มีการใช้เทคโนโลยี IoT และระบบautomationต่างๆ รวมถึงการนำร่องติดตั้งเซ็นเซอร์ ควบคุมมอนิเตอร์ ให้โรงงานทั้งหลายก้าวไปสู่การเป็น smart factory ได้อย่างเต็มรูปแบบภายในปี 2565
ด้านนายประทีป เสนอให้หน่วยงานรัฐและสถาบันวิจัยหันไปส่งเสริมการนำพืชผลทางการเกษตรมาเพิ่มมูลค่าหรือแปรรูปให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด อาศัยนวัตกรรมเข้ามาช่วย โดยย้ำว่า ภาคอุตสาหกรรมในขณะนี้ต่างดำเนินการพร้อมขับเคลื่อน BCG เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพสูงสุดอยู่แล้ว เพียงแต่รอให้หน่วยงานรัฐปรับลดเงื่อนไขสีเขียวเท่านั้น
ขณะที่ในมุมมองของ นายคเณศ มองว่า กุญแจสำคัญในการขับเคลื่อน BCG คือ การปรับตัว ซึ่งหมายรวมถึง การเตรียมความพร้อมให้หน่วยงานรัฐ เอกชน และบุคลากรของไทยในการที่จะตอบรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีนวัตกรรมต่างๆ จากนักลงทุนต่างชาติ ขณะเดียกวันก็คือการสร้างความตระหนักรู้และการให้การศึกษากับคนในชุมชนให้เกิดความเข้าใจในเรื่องของ BCG อย่างถ่องแท้ โดยทำให้เข้าใจว่า BCG เป็นสิ่งจำเป็น และเทคโนโลยีนวัตกรรมที่นำมาใช้เพื่อสร้างความ “smart” ในด้านต่าง ๆ ต้องเป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัย สะอาด และคนไทยส่วนใหญ่รู้เท่าทัน
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: