กฟผ. – TDEM สำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคในประเทศไทย ผสานความร่วมมือ ศึกษาการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า เพื่อนำไปสู่ยานยนต์ที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ (zero carbon mobility) และการจัดการขยะแบตเตอรี่แบบครบวงจร ผลักดันประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน
ดร.จิราพร ศิริคำ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และนายทัตสึยะ ฮายาคาวะ รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท โตโยต้า ไดฮัทสุ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด (TDEM) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ การพัฒนาสังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน เพื่อผนึกกำลังความร่วมมือ ระหว่างหน่วยงานภาครัฐของไทย กับหน่วยงานภาคเอกชนชั้นนำระดับโลก ในการพัฒนาสังคมคาร์บอนต่ำ ตอบสนองต่อปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ดร.จิราพร ศิริคำ ระบุว่า นอกจากการคำนึงถึงประโยชน์สูงสุด ในภาคการผลิตไฟฟ้าภาพรวมของประเทศ กฟผ. ยังให้ความสำคัญกับหลักคิด ‘การพัฒนาอย่างยั่งยืน’ ในการสนับสนุนและส่งเสริมสังคมคาร์บอนต่ำ เพื่อความยั่งยืนด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของประเทศ และก้าวไปข้างหน้าอีกขั้น ด้วยการจัดตั้ง คณะกรรมการอำนวยการร่วมศึกษา ระหว่าง กฟผ. และ TDEM ในการพัฒนาสังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน ครอบคลุมการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า
โดยจะร่วมกันศึกษาจุดติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าในพื้นที่ศักยภาพ รองรับนโยบายการส่งเสริมการขนส่งสีเขียว และศึกษาการจัดการขยะแบตเตอรี่แบบครบวงจร ด้วยวิธี 3 R : Rebuilt Reuse และ Recycle ในกรอบระยะเวลา 1 ปี เพื่อศึกษาโอกาสทางธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนส่งเสริมการบริหารทรัพยากรภายในประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตามแนวทางเศรษฐกิจ ซึ่งผลการศึกษาจะนำไปสู่การขยายผลที่เป็นประโยชน์ในวงกว้างต่อองค์กร ประเทศชาติ และประชาชนต่อไป
ด้านนายทัตสึยะ ฮายาคาวะ รองประธานกรรมการบริหาร TDEM กล่าวว่า โตโยต้าเป็นหนึ่งในองค์กรที่ขับเคลื่อนธุรกิจ ตามแนวทางส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน ภายใต้พันธสัญญาด้านสิ่งแวดล้อมของโตโยต้า 2050 การส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานผสมรุ่นใหม่ ที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ เป็นหนึ่งในเป้าหมายที่โตโยต้าให้ความสำคัญและเร่งดำเนินการ ในอีกทางหนึ่งก็ต้องมั่นใจว่าขยะแบตเตอรี่ของยานยนต์ไฟฟ้าที่หมดอายุการใช้งานต้องได้รับการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพเช่นกัน ซึ่งเป้าหมายดังกล่าวจะสำเร็จได้ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายส่วนทั้งภาครัฐและสังคม
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: