X

ทางเลือก-ทางออก อุตสาหกรรมท่องเที่ยว : ในภาวะโควิด-19

กรุงเทพฯ – นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ เสนอ 5 แนวทางออก อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ทั้งไทยเที่ยวไทย-รับแขกพิเศษต่างชาติ เพื่อฟื้นเศรษฐกิจ ฝ่าวิกฤติโควิด-19

นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา ระบุว่า ข้อมูลที่รายงานเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสัปดาห์ที่แล้ว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. มีวาระที่อธิบายถึงความคืบหน้า โครงการไทยแลนด์อีลีท quarantine (TEM-Q) ว่า จากจำนวนสมาชิกอีลีทการด์ 7.000 รายนั้น พบว่ามีสมาชิกที่ตอบรับโครงการ TEM-Q และนำส่งกระทรวงการต่างประเทศผ่าน ททท.แล้ว 448 คน

มีสมาชิกที่ได้รับอนุมัติเข้าไทย จากกระทรวงการต่างประเทศแล้ว 304 คน

มีสมาชิกที่ได้รับ Certificate of Entry และได้เที่ยวบินแล้ว 49 คน

มีสมาชิกที่เดินทางมาถึงประเทศไทยแล้วและอยู่ระหว่างกักตัว 35 คน

และมีสมาชิกที่เสร็จสิ้นการกักตัวในเดือนกันยายน ในไทยแล้ว 14 คน

ส่วนโครงการเปิดรับนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ Special Tourist Visa (STV) นั้น มีผู้แจ้งความประสงค์จากทั่วโลกรวม ๆ แล้ว 1,615 คน เกินกึ่งหนึ่งจะเดินทางมาจากเอเชียตะวันออก คือ จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ไต้หวัน ฮ่องกง รวม 924 คน, จากอาเซียน เอเชียใต้ และแปซิฟิกใต้ 229 คน, จากยุโรป แอฟริกา และตะวันออกกลาง 462 คน

ดังนั้น สมมุติทุกราย ผ่านด่านและได้รับการคัดกรองและกักตัวครบ 14 วันเรียบร้อย ประเทศไทยจะเพิ่มนักเดินทางชาวต่างชาติเข้ามาช่วงใกล้ ๆ นี้ เพียงราว 2,000 คน

นายวีระศักดิ์ ระบุอีกว่า แม้แขกพิเศษในยามที่โควิดโลกกำลังอาละวาดระลอกสองเหล่านี้ จะยอมใช้จ่ายมากกว่าปกติหลายเท่าตัว เพื่อให้ได้มาอยู่ในประเทศที่ “เอาอยู่” อย่างโล่งใจ แม้จำนวน 2,000 คน อาจส่งผลต่อเศรษฐกิจทั่วไทยได้ไม่มากนัก แต่ก็คงต้องทำ เพราะถ้าบริหารการควบคุมโรคจากคนมีเงินที่เต็มใจเข้ามาตามช่องทางที่เปิดเผยไม่สำเร็จ ก็ไม่ต้องเดาว่าจะบริหารคนนับแสนนับหมื่น ที่จะทยอยเดินเท้าเข้าไทยตามช่องทางธรรมชาติหลังฤดูฝนผ่านไปได้ดีหรือไม่

รายได้จากนักเดินทางระหว่างประเทศครั้งนี้ จึงน่าจะเป็นเรื่องรอง สิ่งที่น่าจะทำให้ได้ดีด้วย คือ ต้องทำให้ได้เสียงชื่นชมจากกลุ่ม 2,000 คนนี้ ที่จะไปบอกเล่าให้โลกฟัง ว่าในวันที่โลกเอาไม่อยู่นั้น “มาอยู่ในเมืองไทยด้วยความอบอุ่นประทับใจอย่างไรต่างหาก”

เพราะถ้ากลุ่มนี้ไม่พึงพอใจ ไม่ว่าจะบ่นว่า ไม่ปลอดภัย ไม่สะอาด ไม่ได้บริการระดับที่คาดหวัง อาหารไม่อร่อย ไปไหนก็โอเวอร์ชารจ์ แบบนั้นจะเสียหายแน่นอน จึงควรเตรียมการให้ละเอียด เช่น เรื่องความเร็วและค่าติดตั้งสัญญาณอินเทอร์เน็ตวายฟาย (wifi) สภาพและค่าเช่ายานพาหนะ เพราะจะมาอยู่นาน สมาชิกในครอบครัวคงมีหลายช่วงอายุและความสนใจ การบริการ ระบบสนับสนุน จึงควรตระเตรียมให้ครอบคลุม และไม่ควรให้มีราคาชารจ์แบบที่เคยเรียกเก็บจากนักท่องเที่ยวในปีปกติ รวมทั้งงานเอกสารต่าง ๆ ควรทบทวนไม่ให้เยิ่นเย้อ ลดขั้นตอนให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นได้

ดังนั้น จึงควรขอความร่วมมือจากทุกฝ่าย ในการถนอมความรู้สึกของแขกพิเศษในยามยาก

เรื่องถัดไป คือ สถานประกอบการท่องเที่ยวหลายแห่งยังไม่เปิด บางแห่งท่าทางจะไม่เปิดกลับมาอีกแล้วในปีนี้ หรือเปิดเพียงบางส่วนของกิจการ จึงทำให้ในยามมืดค่ำ ไฟฟ้าส่องสว่างอาจจะลดไป ก่อให้เกิดความกังวลหวาดกลัวได้ ดังนั้น ผู้ที่จะวางแผนรับแขกพิเศษมาพัก ในสถานประกอบการโรงแรมและรีสอร์ต ควรศึกษารอบบริเวณและตามเส้นทางที่แขกพิเศษของท่านมักจะเลือกเดินเล่น หรือออกค้นหากิจกรรม ค้นหาที่ทานอาหาร ค้นหาที่ช้อปปิ้ง ต้องไม่ตกอยู่ในสภาพที่ไม่น่าประทับใจ ให้ชุมชนได้รับรู้ว่าควรคุ้มครองและให้ความเป็นมิตรแก่แขกเหล่านี้อย่างไร โดยยังควรยึดถือหลักการป้องกันโรคระบาดต่อไปอย่างสุภาพและเคร่งครัดเพื่อสร้างความมั่นใจให้ทุกฝ่าย อย่าให้เกิดปัญหาได้ ไม่ว่ากับฝ่ายใด

นายวีระศักดิ์ ระบุถึงเรื่องที่สาม คือ วงการท่องเที่ยวรับมรสุมโควิดมาก่อนอุตสาหกรรมใด และถูกคลื่นพายุการเงินสภาพคล่องซัดมาครบ 10 เดือน ธุรกิจล่มสลายไปมาก บ้างกำลังรอวันล้ม สิ่งที่ควรพิจารณาเร่งด่วน คือ การร่วมมือระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ กับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนใหม่ นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ซึ่งจะได้ร่วมมือกันหามาตรการเพิ่ม ที่จะช่วยวงการท่องเที่ยวสามารถปรับตัวอยู่ไปต่อได้ในทิศทางที่สร้างความยั่งยืน ทั้งแก่ธุรกิจและต่อประเทศไทย

ในเวลานี้ สินเชื่อ เป็นสิ่งสำคัญมาก ๆ จึงอาจจะต้องทบทวนกำหนดเงื่อนไขที่เป็นอุปสรรคกันใหม่

ทำให้วงการท่องเที่ยวเข้าถึงสินเชื่อจนได้
อาจเป็นสินเชื่อเพื่อรักษาการจ้างงาน
สินเชื่อเพื่อรักษาสินทรัพย์ในกิจการ
สินเชื่อเพื่อพัฒนามาตรฐาน
สินเชื่อเพื่อพัฒนาทักษะพนักงาน
สินเชื่อเพื่อการพัฒนาระบยไอที
สินเชื่อเพื่อพัฒนารักษาสิ่งแวดล้อมหรือการประหยัดไฟฟ้า ประหยัดน้ำและทรัพยากร
สินเชื่อเพื่อปรับปรุงสถานที่จากที่เคยผิดกติกาให้เป็นถูกกติกาตามกฏหมาย เป็นอาทิ ไม่ว่าจะตามกฏหมายควบคุมอาคาร กฏหมายผังเมือง กฏหมายโรงแรม กฏกระทรวงเกี่ยวกับสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการ

เรื่องที่ 4 คือ การเร่งสำรวจว่า ประเทศอื่นที่พึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวเช่นกันนั้น ทำอะไรที่น่าศึกษา น่าปรับมาใช้ประโยชน์ในบ้านเราบ้าง ถ้าติดขัดที่ระเบียบกติกา กฏหมาย ก็ควรเร่งหารือรัฐสภา แล้วพัฒนาสร้างหรือแก้กฏหมาย รู

เรื่องที่ 5 คือ เรื่องตลาดไทยเที่ยวไทย เวลานี้รัฐบาลได้ช่วยโหมกระตุ้น เช่น เร่งรัดจัดการให้ภาคราชการ หน่วยงานของรัฐ เดินทาง จัดอบรม จัดเสวนา และจัดประชุม แก้ระเบียบเพื่อให้เกิดการปฏิรูปกฏหมาย ปฏิรูประบบราชการ ปฏิรูประบบประเมินผล ลดขั้นตอน เพิ่มประสิทธิผลให้ได้มาก ๆ งบประมาณของรัฐถูกนำมาใช้จ่ายกระตุ้นการออกนอกสถานที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ

บรรยากาศบ้านเมืองเวลานี้ ต้องการการทำภารกิจที่มุ่งผลลัพธ์ แต่ต้องรักษาความยั่งยืนให้ได้อย่างที่สุด ฝ่ายที่ยังเห็นอะไรขัดแย้งคาใจ ก็ควรเสวนาหาทางออก รับฟังกันและกันอย่างตั้งใจ และให้เกียรติแก่กัน

ขอแค่จริงใจ และสื่อสารกันอย่างเห็นใจก็พอ

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of ลักขณา สุริยงค์

ลักขณา สุริยงค์

ทำหน้าที่สื่อมวลชนมาเกือบ 30 ปี ทั้งงานสายข่าวและจัดรายการทีวี-วิทยุมานับไม่ถ้วน "ไม่เป็นกลาง แต่เป็นธรรม พร้อมนำเสนอความจริง"