สปสช. ชี้แจง นโยบายยกระดับบัตรทองรักษาได้ทุกที่ นำร่อง 1 พ.ย.63 เฉพาะพื้นที่ กทม. และในหน่วยบริการปฐมภูมิ ส่วนไม่ต้องใช้ใบส่งตัว นำร่องในเขตสุขภาพที่ 9 นครชัยบุรินทร์
วันที่ 27 ตุลาคม 2563 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดแถลงข่าว ‘ไขข้อสงสัย ก่อนดีเดย์ 1 พ.ย.63 รักษาปฐมภูมิทุกที่ ในเครือข่ายหน่วยบริการบัตรทองพื้นที่กรุงเทพมหานคร’ มีผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข และกรุงเทพมหานคร ร่วมชี้แจง
ทันตแพทย์อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.2563 และ 1 ม.ค.2564 ระบบบริการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตรทอง จะพลิกโฉมใหม่ใน 4 ด้านสำคัญ ประกอบด้วย
1.รักษาได้ทุกที่ แต่เฉพาะหน่วยบริการปฐมภูมิ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จะเป็นแบ่งกลุ่มโซนแต่ละเขต ซึ่งสามารถรักษาบริการได้ จากเดิมประชาชน 1 คนจะผูกติดหน่วยบริการ 1 แห่งแต่จากนี้สามารถรักษาที่ไหนก็ได้ในเขตที่กำหนด
2.ผู้ป่วยไม่ต้องใช้ใบส่งตัว นำร่องในเขตสุขภาพที่ 9 หรือกลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์ ประกอบด้วย 4 จังหวัด ได้แก่ จ.นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ ถ้าป่วยด้วยโรคที่เกินศักยภาพของคลินิก คลินิกจะส่งต่อไปรักษาต่อที่ รพ. ซึ่งที่ผ่านมา ทุกครั้งที่จะไป รพ. ผู้ป่วยต้องกลับมารับใบส่งตัวจากคลินิกก่อน ทำให้ยุ่งยาก เสียเวลา เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.2563 เป็นต้นไป ผู้ป่วยจะไม่ต้องใช้ใบส่งตัวอีก
ข่าวน่าสนใจ:
- ‘นครพนม’ เดินหน้าขับเคลื่อน ‘นครพนมโมเดล’ ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด เพื่อให้ประชาชนมีความสุขที่สุด
- สุดเนียน! ดัดแปลงใต้ท้องรถยนต์บรรทุกซุกซ่อนแรงงานต่างด้าว 8 คนแต่ไม่รอด
- สนามแข่งบุญชิงถ้วยพระราชทานงานพ่อโสธร เจ้าถิ่นครองเจ้าสนาม 55 ฝีพาย
- คืนลอยกระทงทหารร่วมกับจนท.เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าจับไม้ซุกในรถยนต์กระบะ 3 คัน
3.โครงการมะเร็ง ไปที่ไหนก็ได้ จะส่งผู้ป่วยตรงถึง รพ.เฉพาะด้านที่ไม่แออัด โดยสำหรับโรคมะเร็ง จะเริ่มวันที่ 1 ม.ค.2564 ผู้ป่วยใกล้ที่ไหนสามารถรักษาหรือเข้าไปทำเคมีบำบัด ฉายรังสีรักษา ได้ใน รพ.ที่มีศักยภาพในการรักษามะเร็ง โดยจะมีศูนย์ประสานงานให้
4.รักษาที่ใหม่ได้ทันที เมื่อย้ายหน่วยบริการ จากที่ผ่านมา เมื่อมีการย้าย รพ. จะต้องรออีก 15 วัน แต่หลังจากวันที่ 1 ม.ค.2564 เป็นต้นไป ผู้ใช้สิทธิทั่วประเทศจะไม่ต้องรอ 15 วันอีกด้านนายแพทย์จเด็จ ธรรมธัชอารี รองเลขาธิการ สปสช. ชี้แจงว่า การนำร่องรักษาทุกที่เฉพาะหน่วยบริการปฐมภูมิ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ก่อนนั้น เนื่องจากเหตุจำเป็นต้องยกเลิกคลินิกที่ผิดสัญญาไป 190 แห่ง ประจวบกับการหาคลินิกหรือหน่วยบริการใหม่ จึงถือโอกาสในการพลิกโฉมการบริการบัตรทอง ให้มีความสะดวก ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.2563 โดยผู้ที่อยู่ใน กทม.สามารถรับบริการได้ที่ไหนก็ได้ที่ใกล้บ้าน ซึ่งปัจจุบันมีศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. เป็นแม่ข่าย และหน่วยบริการ ร่วมกับเครือข่ายหน่วยบริการต่าง ๆ แบ่งเป็น หน่วยบริการปฐมภูมิ มีประมาณ 50 แห่ง แต่ละหน่วยจะดูแลประชากรละ 10,000 คน และคลินิกร่วมบริการ ซึ่งเป็นคลินิกเวชกรรมและคลินิกเฉพาะทางเปิดบริการตอนเย็น มีอีกประมาณ 63 แห่ง พร้อมเน้นย้ำ ผู้ที่จะใช้บริการพกบัตรประชาชนสมาร์ทการ์ดไปรับบริการ และขอเวลาเตรียมระบบ กำลังพัฒนาร่วมกับแอปพลิเคชัน ‘เป๋าตังค์’ เพื่อทำนัดรักษา จะต้องไม่รอนาน ทั้งนี้ สอบถามได้ทางสายด่วน สปสช.1330 หรือแอปพลิเคชัน ‘ก้าวใหม่ สปสช.’
ขณะที่นายแพทย์ชวินทร์ ศิรินาค รองปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า พื้นที่ กทม. ยึดหลักการแบ่งโซนบริการสาธารณสุขและดูแลสุขภาพ ตามเขตการปกครอง 50 เขต แบ่งออกเป็น 6 โซน ปัจจุบัน มีหน่วยบริการที่สามารถรับบริการสาธารณสุขได้รวม 136 แห่ง แบ่งเป็น ศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่ง, โรงพยาบาลรัฐ 31 แห่ง, โรงพยาบาลเอกชน 10 แห่ง และคลินิกชุมชนอบอุ่น 26 แห่ง โดยจะให้บริการเป็นเครือข่ายบริการปฐมภูมิ มีศูนย์บริการสาธารณสุขเป็นแม่ข่าย และให้บริการร่วมกับหน่วยบริการร่วมต่าง ๆ เช่น คลินิกเวชกรรม คลินิกพยาบาลและผดุงครรภ์ คลินิกทันตกรรม ผู้มีสิทธิบัตรทองสามารถเข้าใช้บริการได้ทุกแห่งได้เลย โดยไม่ต้องใช้ใบส่งตัว ภายในเขตของตนเอง
ส่วนนายแพทย์สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงถึงการยกเลิกใบส่งตัว เฉพาะผู้ป่วยในที่ต้องนอน รพ. จะนำร่องในหน่วยบริการเขตสุขภาพที่ 9 สามารถนอนใน รพ.ทุกแห่งในเขตสุขภาพที่ 9 จากเดิมต้องกลับมาขอรับใบส่งตัว ทำให้เสียเวลา เสียค่าใช้จ่าย จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.2563 เป็นต้นไป ทั้งนี้ จะมีการส่งต่อประวัติของผู้ป่วยให้ด้วย เพื่ออำนวยความสะดวก
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึง ‘โครงการมะเร็ง ไปที่ไหนก็ได้’ ว่า กรมมีสถานพยาบาลรักษาโรคมะเร็งในระดับภูมิภาค 7 แห่ง และได้ร่วมกับโรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป ที่มีศักยภาพในการรักษามะเร็ง เตรียมพร้อมเพื่อรองรับการบริการผู้ป่วยมะเร็ง ในวันที่ 1 ม.ค.2564 โดยกำลังวางแผนจัดทำระบบลงทะเบียนมะเร็งทั่วประเทศ จะทำให้ทราบว่า รพ.ไหน มีเครื่องฉายรังสีรักษา หรือมีเตียงพร้อมในการให้บริการ ก็จะมีข้อมูลเพื่อให้ผู้ป่วยไปรับบริการใกล้บ้านได้ ไม่ต้องรอคิวนานในการฉายรังสีรักษาเหมือนในอดีตอีก และไม่ต้องกลับไปขอใบส่งตัว
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: