ภูเก็ต – รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เร่งวางแผนยกระดับอาชีวะฝั่งอันดามันสู่ความเป็นเลิศ รองรับการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจในพื้นที่ ระบุ การควบรวมโรงเรียนต้องเกิดขึ้นให้เร็วที่สุด ขอให้มั่นใจ ‘นักเรียน-ครู-ผู้บริหาร-ผู้ปกครอง’ จะมีชุมชนและสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นแน่นอน
วันที่ 2 พฤศจิกายน 2563 นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล ในการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 3/2563 กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน (ภูเก็ต กระบี่ ตรัง พังงา ระนอง สตูล) โดยมี ผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ ผู้บริหารสถานศึกษา คณะครู และนักเรียนนักศึกษา รับมอบนโยบาย ณ วิทยาลัยอาชีวศึกษาภูเก็ต
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการร ระบุว่า รัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการ ให้ความสำคัญกับการยกระดับการอาชีวศึกษา โดยเฉพาะในโลกยุคปัจจุบันที่ทุกประเทศได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ประเทศไทย ต้องเร่งพัฒนาประเทศให้มีศักยภาพในการแข่งขันกับนานาประเทศ ด้วยการยกระดับและสร้างมาตรฐานการอาชีวศึกษาให้มีความเป็นสากล พร้อมทั้งเชื่อมโยงการศึกษาขั้นพื้นฐานกับการอาชีวศึกษา ขณะที่จังหวัดภูเก็ตมีความพร้อม และพึ่งพาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกว่า 97 % จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเร่งพัฒนา และเตรียมความพร้อมให้เด็กอาชีวะ ด้วยหลักสูตรการเรียนการสอนที่ทันสมัย ตลอดจนปรับหลักสูตรให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน โดยจะต้องมีแผนการยกระดับที่ชัดเจน อาทิ การวางแผนด้านงบประมาณ, การสำรวจอัตราครูและบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ เพื่อสร้างความแตกต่างและดึงความโดดเด่นออกมาพัฒนาให้มีความเป็นเลิศ
โดยขอให้ผู้บริหารการศึกษาในจังหวัดภูเก็ต เพิ่มโอกาสทางการเรียนรู้ให้มากขึ้น เพื่อพัฒนาให้จังหวัดภูเก็ตเป็นต้นแบบในการยกระดับการศึกษาทั้งจังหวัด และขอให้กล้าปรับเปลี่ยนทั้งในเรื่องของแนวคิด และการพัฒนาหลักสูตรให้เชื่อมโยงกับโลกปัจจุบัน เพราะในอนาคตอาจจะต้องยุบบางสาขา และคัดเลือกสาขาวิชาที่มีความพร้อม มาสร้างความเป็นเลิศของวิทยาลัย รวมถึงการส่งเสริมทักษะภาษาอังกฤษของผู้เรียนอาชีวศึกษา ให้มีศักยภาพในการสื่อสารภาษาอังกฤษได้ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถด้านภาษาของผู้เรียน ส่วนการจัดการศึกษาในรูปแบบทวิภาคีนั้น ขอความร่วมมือจากภาคเอกชน ในการเข้ามามีส่วนร่วมและสร้างความเข้มแข็งและเข้มข้น ให้กับวิทยาลัยอาชีวศึกษาอย่างเป็นรูปธรรมและมีความยั่งยืน
นายณัฏฐพล ยังกล่าวถึงแผนการควบรวมโรงเรียนด้วยว่า ถือเป็นเรื่องจริงจังที่ต้องดำเนินการ ซึ่งบุคคลที่รู้เรื่องพื้นที่มากที่สุด คือ ผู้อำนวยการเขตพื้นที่ รวมถึงเรื่องของความเหมาะสมว่าจะทำการควบรวมโรงเรียนอย่างไร เราจะต้องสร้างแรงจูงใจให้บุคคลที่เกี่ยวข้องเห็นด้วยว่า การควบรวมโรงเรียนแล้วภาพจะเป็นอย่างไร ขณะนี้กำลังดูพื้นที่ตัวอย่างอยู่ว่า จะไปลงในพื้นที่ใด เพื่อให้บุคคลที่เกี่ยวข้อง ได้เห็นภาพการควบรวมโรงเรียนมีความชัดเจนขึ้น
“ผมอยู่กระทรวงศึกษามา 1 ปีแล้ว ผมมั่นใจแล้วว่า เรามีความจำเป็นต้องจริงจังในการผลักดันเรื่องควบรวมโรงเรียนให้เกิดขึ้นเร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้” นายณัฏฐพล กล่าว
สำหรับโรงเรียนที่มีขนาดใหญ่ ต้องการให้มีขนาดลดลง เพราะจะมุ่งเน้นให้เด็กนักเรียนที่จบการศึกษาระดับมัธยมต้น มุ่งสู่การศึกษาสายอาชีพ หรือสายอาชีวศึกษา ซึ่งแนวทางนี้ก็จะมีเหตุผลที่ทำให้ขนาดโรงเรียนลดลงไปโดยปริยาย, การบริหารจัดการโรงเรียนที่มีนักเรียนน้อย จะทำได้ดีกว่าที่มีมาก โดยจำนวนนักเรียนประมาณ 1,500-2,000 คน ถือเป็นตัวเลขที่เหมาะสมในการบริหารจัดการ นอกจากนี้ ยังทำให้เด็กมีทางเลือกมากขึ้น ดังนั้น หากโรงเรียนมีคุณภาพจริง ๆ เด็กก็จะไม่ต้องไปเรียนกันในเมือง หรือมาเรียนในกรุงเทพฯ ซึ่งจะเป็นการลดความเหลื่อมล้ำลงไปได้ปริยาย
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: