กฟผ. ลุยโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำแบบไฮบริดเขื่อนสิรินธร เตรียมจ่ายไฟเข้าระบบเชิงพาณิชย์ กลางปี 2564 พร้อมเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดอุบลราชธานี
นายฉัตรชัย มาวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังน้ำและพลังงานหมุนเวียน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2561-2580 (PDP2018) กฟผ. ได้รับมอบหมายให้ดำเนินงานโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำ หรือ Hydro-floating Solar Hybrid Project ตามเขื่อนต่าง ๆ ของ กฟผ. กำลังผลิตรวม 2,725 เมกะวัตต์ โดยนำร่องโครงการแรก ณ เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี ขนาดกำลังผลิต 45 เมกะวัตต์ โดยขณะนี้ โครงการฯ อยู่ในขั้นตอน การติดตั้งระบบยึดโยงทุ่นลอยน้ำกับแท่นคอนกรีตบริเวณพื้นท้องน้ำ และดำเนินการประกอบแผงโซลาร์เซลล์บนทุ่นลอยน้ำ เพื่อเตรียมนำไปติดตั้งกับระบบยึดโยง คาดว่าจะติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์แสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำของชุดแรกแล้วเสร็จ ประมาณปลายปี 2563 จากทั้งหมด 7 ชุด และกำลังดำเนินการก่อสร้างฐานรากของอาคารสวิตช์เกียร์ (Switchgear) ซึ่งโครงการฯ มีความก้าวหน้างานในภาพรวมอยู่ที่ร้อยละ 66 มีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (Commercial Operation Date: COD) ประมาณกลางปี 2564
ข่าวน่าสนใจ:
นอกจากนี้ โครงการฯ ยังมีการก่อสร้างเส้นทางเดินธรรมชาติ (Natural Walkway) ความยาวกว่า 415 เมตร เพื่อเป็นเส้นทางสำหรับเดินชมแผงโซลาร์เซลล์ลอยน้ำและเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดอุบลราชธานี
ผอ.ฝ่ายพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังน้ำและพลังงานหมุนเวียน กล่าวต่อว่า โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำ ร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิรินธร (Hydro-Floating Solar Hybrid) ถือเป็นโครงการโซลาร์เซลล์ทุ่นลอยน้ำแบบไฮบริดขนาดใหญ่แห่งแรกของประเทศไทย ตั้งอยู่บนพื้นที่ผิวน้ำของเขื่อนสิรินธร อ.สิรินธร จ.อุบลราชธานี โดยผลิตไฟฟ้าผสมผสานระหว่าง “พลังงานแสงอาทิตย์” และ “พลังน้ำ” จากเขื่อนสิรินธร ซึ่งโซลาร์เซลล์จะผลิตไฟฟ้าในช่วงกลางวัน และนำพลังน้ำผลิตไฟฟ้าเสริมในช่วงเวลากลางคืนหรือในช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้ามาก ทำให้สามารถผลิตไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งพัฒนาระบบควบคุมและบริหารจัดการพลังงาน (Energy Management System: EMS) เพื่อนำมาควบคุมการส่งจ่ายพลังงานไฟฟ้าทั้งสองชนิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยลดความไม่แน่นอนของพลังงานหมุนเวียนที่แปรเปลี่ยนตามสภาพอากาศ
โครงการฯ ยังให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม โดยเลือกใช้วัสดุของแผงโซลาร์เซลล์ชนิดดับเบิลกลาส (Double Glass) ซึ่งเหมาะกับการติดตั้งบนผิวน้ำ เป็นแผ่นกระจกทั้งด้านบนและด้านล่าง สามารถทนต่อความชื้นสูงได้ดี ไม่มีสิ่งปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำ จึงปลอดภัยต่อการใช้งาน มีประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าสูง นอกจากนี้ ทุ่นลอยน้ำยังใช้วัสดุชนิด HDPE (High Density Polyethylene) ซึ่งเป็นวัสดุชนิดเดียวกับ ท่อส่งน้ำประปา สามารถทนต่อการกัดกร่อนของแสงอัลตร้าไวโอเลต (UV) จึงเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสัตว์น้ำ ที่สำคัญ โครงการยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (CO2) ซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อนได้ประมาณ 47,000 ตัน/ปี โดยมีขอบเขตพื้นที่โครงการประมาณ 760 ไร่ ติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์ และอุปกรณ์ต่างๆ บนพื้นที่ผิวน้ำประมาณ 450 ไร่ คิดเป็นสัดส่วนพื้นที่ผิวน้ำไม่ถึงร้อยละ 1 ของพื้นที่อ่างเก็บน้ำทั้งหมด
“กฟผ. เตรียมเปิดโครงการฯ เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดอุบลราชธานี โดยก่อสร้าง เส้นทางเดินชมธรรมชาติ (Natural Walkway) ความยาวกว่า 415 เมตร และอาคารต้อนรับนักท่องเที่ยว ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชนท้องถิ่นและเศรษฐกิจของจังหวัดในภาพรวม รวมทั้งจะเป็นแหล่งเรียนรู้ และศึกษาดูงานด้านพลังงานหมุนเวียนแบบไฮบริด ให้แก่นักเรียน นักศึกษา หรือประชาชนทั่วไป ทั้งจากในและต่างประเทศอีกด้วย” นายฉัตรชัย มาวงศ์ กล่าว
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: